"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

การบำเพ็ญบุญในวันพระ ๑๕ ค่ำ ของชาวพุทธภาคเหนือ (บ้านแพะ)๓


ขั้นตอนประเพณีการทำบุญวันพระแบบภาคเหนือบ้านผม

๖. พระสวดจบแล้ว ชาวบ้านที่กำลังดีแข็งแรงลุกนั่งได้สะดวกดี ช่วยกันยกบาตรแล้วอุ้มไปวางด้านหน้าพระสงฆ์เรียงจากหน้า(ประธาน)มาทางด้านท้าย พร้อมด้วยยกถาดภัตตาหาร กับข้าว หม้อข้าวที่ตักออกจากบาตรและขนมเปียก ขนมแห้งต่าง ๆ มาวางด้านหน้าพระคุณเจ้า เสร็จแล้วปู่อาจารย์ พากล่าวนำเป็นคำถวายทานแบบโบราณ โดย

ตั้งนะโม ๓ จบแบบสำเนียงภาคเหนือ(เพราะมาก) เสร็จแล้วกล่าวคำถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าว่า

อิมัง จะตุพะเพียร โภชะนะวะรัง อุทะกั๋งวะรัง สาลีนัง สัม(ห)มา สัมพุทธะปู่จา ปูเจมะ (๓ ครั้ง)

(เป็นคำถวายทานของ ปู่อาจารย์ นา ซวงไซ ปู่อาจารย์เกษม ทามา)

จากนั้นก็กล่าวคำถวายภัตตาหารพระสงฆ์ต่อด้วยคำว่า

"อิมานิ มยํ ภนฺเต ภตฺตานิ สปริวรานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ ภตฺตานิ สปริวรานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย...

สุทินฺนํ วตเม ทานํ จตุปจฺจยทานํ อาวกฺขยาวหํ นิพฺพานํ โหตุ

ทุติยมฺปิ สุทินฺนํ วตเม ทานํ จตุปจฺจยทานํ อาวกฺขยาวหํ นิพฺพานํ โหตุ

ตติยมฺปิ สุทินฺนํ วตเม ทานํ จตุปจฺจยทานํ อาวกฺขยาวหํ นิพฺพานํ ปจฺจโย โหตุ..

(พระรับสาธุ) (ไม่นิยมแปลคำถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แต่กล่าวคำถวายปัจจัยต่อเลย...ขาดคำว่า "ปาริสุทฺธํ" ไปตัวหนึ่ง)

จากนั้นชาวบ้านก็พากันประเคนภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พระรับแล้วก็จะพากันฉันข้าว ถ้ามีเทศน์ก็จะเทศน์ช่วงนี้ ต่อด้วยผู้นำชาวบ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต. มีเรื่องอะไรจะชี้แจงหรือกล่าวถึงงานที่ได้รับมอบหมายมา จะแจ้งให้ชาวบ้านทราบก็ใช้เวลาช่วงนี้เปลี่ยนกันพูดคุย เสร็จแล้ว...

๗. ปู่จารย์ทำหน้าที่ต่อด้วยการทำพิธีกล่าว คำสุมมาแก้วตัง ๓ แบบที่ตนได้เรียนมาจากครูบาอาจารย์ที่สืบทอดกันมา โดยให้ตัวแทนท่านหนึ่งไปยกขันดอกไม้ธูปเทียน(ขันแก้ว)ที่ยังไม่ได้จุดไฟ ก็ให้ทำการจุดธูป ๓ ดอก บางแห่งจุด ๕ ดอก แล้วก็เหน็บไว้ที่ขันดอกไม้นั้นพร้อมกับยกตั้งไว้บนโต๊ะหน้าพระพุทธรูป ช่วงนี้ ปู่จารย์ก็กล่าวคำสูมาดังกล่าวไปโดยลำดับ...

ตั้งนะโม ๓ จบแบบสำเนียงภาคเหนือ แล้วต่อด้วยคำว่า...

สาธุ สุตินนัง วะตะเมตานัง ปะระมัง สุขัง อะหังวันทา นิสิระสา ผู้ข้าน้อยขอกาบไหว้ถวายปู่จา สูมาติรัตนะยังแก้วสามสิ่ง อันล้ำเลิศยิ่งว่าเป๋นมงคล แก้วแก๋มฝนแสนห่า ก็ยังบ่อมีก่าเต่าใด นานาหลอนวาแก้วปะภาจมจื่น หลับลุกตื่นมากิ่น ก็ยังบ่อเต่ารสศิลรสธรรม แห่งพระเจ้ามะนีแก้วเก้า ก็เรียกว่าสีแดง เอามาแป๋งแหวนปวงคำ อาจอ้าง ก็ยังบ่อหู้แตกม๊างแหงใน และแก้วจันตะคาต ก็ยังบ่อมีก่ามากเต่าใด และแก้วเนระกันตีสีใสบ่อเศร้า มณีแก้วเก้าก็เรียกว่าสีแดง เอามาแป๋งเครื่องฮย๊องก็หากดูงาม เอามาปูจาต๋ามโขงเขตห้องเมืองคน กันเราดับจิตต๋นต๋ายไป ก็บ่ออาจเอาไปตวยได้ ต๋ามว่าเรามีข้าวของเงินคำบาทใต้ ไว้หลายหมื่นหลายปัน ฝูงหมู่ปี่น๊องตังหลาย ก็มารวมกั๋นกิ๋นกั๋นจ่าย เราก็บ่อได้เอาแป๋งเกิ๋นเก่ย(แป๋งขัวก่าย)ขึ้นเมืองสวรรค์

แก้วตังสามนี่หนาดีเหลือยิ่งโยช ดีเหลือกว่าแก้วมณีโจด แห่งพระยาจักกะวัตติราชราจา เราอาจเอาสังมาเปรียบเตรียบบ่อได้ เหตุนั๊นเราจึ่งกึ๊ดไว้ยามเมื่อใจ๋เรายัง เราจิ่งปากั๋นกะตำบุญหื้อตานอันกว้าง ก็จิ่งอาจอ้างได้ว่า เป๋นของเรา ได้เป๋นแสงไฟเงาต๋ามส่องติดติ้วต่องต๋ามต๋น กันว่ากุศลเรามี มันก็บ่อล้างว่าจักหลงตี่เกิดและนา มหามูละศรัทธาตั้งหลายตั๊ดตี่นี่เป๋นเก๊า มีตังขุนนายจายเจ้าผู้เถ้าผู้หนุ่ม จุผู้จุคนจุใหญ่หน้อยญิงจาย จิ่งจักจวนกั๋นมาอันแต่บ้านวันตกวันออกขอกใต้และหนเหนือ สะหลงขงขวยหามาได้ยัง มะทุบุปผาราจาดวงดอกเข้าตอกดอกไม้และลำเตียน พร้อมกับข้าวบิณฑิบาตและโภจะนะอาหาร พร้อมจตุปัจจั๋ย มีตั้งหมากเมี่ยง ปูนปู ยา คิรา ไตยะวัตถุตาน ตั้งหลายมาถวายติรัตนะผ่านแผ้วพระเจ้าแก้วตังสามประก๋าร ขอหื้อผู้ข้าตังหลายปันได้ไปรอดจอดเถิงเมืองแก้วมหาเนระปาน จุผู้จุคนจุใหญ่หน้อยญิงจายนั้น จุ่งจักมีเตี่ยงแต๊ดีหลี

ยาวะ อะระหันต๋า อะระหันตี๋ สาวะกะยานัง ปะระมังสุขัง ดีหลีเต๊อออ...

(เป็นคำกล่าวของปู่อาจารย์ เกษม ทามา และปู่อาจารย์ ลือ เขย่า ที่ท่านได้เสียชีวิตไปไม่นานนี้ เมื่อผู้เขียนรวบรวมคำกล่าวของปู่จารย์ท่านอื่นได้แล้วจักนำมาเสริมเพิ่มไว้ในที่นี้ในภายหลัง)

กล่าวจบแล้ว ผู้ที่นั่งอยู่หน้าขันดอกไม้ธูปเทียนก็จะยกแตะที่ฐานพระพุทธรูป วางลงแล้วกราบ ๓ ครั้ง แล้วก็ยกไปแตะที่ฐานของธรรมาสน์ที่ใช้แสดงธรรมซึ่งเปรียบเหมือนกับตัวแทนของพระธรรม นั่งลงกราบ ๓ ครั้ง จากนั้นก็ยกไปถวายประเคนพระสงฆ์ ประธานสงฆ์รับแล้ว กราบ ๓ ครั้ง จากนั้น...

๘. ประธานสงฆ์ มีอะไรจะกล่าวหรือสัมโมทนียกถาก็กล่าวก่อนสักครู่หนึ่ง เสร็จแล้ว ก็จะบอกให้ชาวบ้านเตรียมกรวดน้ำ(แถวบ้านเรียกว่า หยาดน้ำ)รับพรเป็นภาษาบาลีสืบไป...

พระท่านมักจะพูดกันว่า ยถา...หื้อผี สพฺพี...หื้อคน

คำให้พรภาษาบาลีฉบับเต็มและแปล ท่านทั้งหลายคงจะทราบกันดีแล้ว(เคยมีผู้เขียนไว้ใน G2K แล้ว) และหลังจากที่กรวดน้ำรับพรเสร็จแล้ว ปู่จารย์ก็จะนำแผ่เมตตา

"ก่อนจะได้ลาพระขอเจิญป่อแม่ปี่น้องตังหลาย กล่าวกำแผ่เมตต๋ากั๋นสักหน้อยก่อนเน่อ จากนั้นเกาะจะได้กราบลาพระกั๋นต่อไป หื้อว่าพร้อมกั๋นเน้ออ..."

(สพฺเพ สตฺตา...ปริหรนฺตุ...

อิทํ โน ญาตีนํ โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย...

ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล บุญกุศลแผ่ไปให้ไพศาล

ถึงบิดามารดาครูอาจารย์ ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน

ทั้งคนเคยร่วมรักสมัครใคร่ ทั้งคนรักคนชังแต่หนไหน

ขอจงได้บุญกุศลผลของฉัน ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ

ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้เทอญ)

จากนั้นปู่จารย์ก็จะนำกราบลาพระอีกครั้ง (อรหํ สมฺมา สมฺพุทฺโธ ภควา...)

ก็ถือเป็นเสร็จพิธีในการบำเพ็ญบุญวันพระที่สำคัญแต่เพียงเท่านี้ หลังจากที่พระสงฆ์ลงจากศาลาการเปรียญไปแล้ว ชาวบ้านจะรับประทานอาหารร่วมกันต่อหรือประสงค์จะกลับบ้านก็ปฏิบัติได้ตามชอบใจ ส่วนใหญ่ก็จะนำ น้ำหยาด ไปเทรดต้นโพธิ์ด้านหน้าศาลาแล้วก็เดินทางกลับบ้านกัน

สรุปขั้นตอนสั้น ๆ

๑. การตานขันข้าว

๒. กราบพระ อาราธนาศีล รับศีล

๓. อาราธนาพาหุง พระสวดถวายพรพระ

๔. ถวายภัตตาหาร พระพุทธ พระสงฆ์

๕. พระฉันภัตตาหาร ผู้นำรายงานสถานการณ์บ้านเมือง

๖. ปู่จารย์นำกล่าวคำสุมมาแก้วตัง ๓

๗. พระสัมโมทนียกถา ให้พร ชาวบ้านกรวดน้ำ รับพร

๘. ปู่จารย์นำแผ่เมตตา กราบลาพระ

เป็นเสร็จพิธีที่สำคัญทั้งหมดในวันพระนั้น

อ้างอิง

http://www.lib.ru.ac.th/journal/mar/mar_montra02.html ม.รามคำแหง)

http://www.dhammajak.net/chaiya/15.html

http://www.gotoknow.org/posts/403704

ปู่อาจ๋ารย์ ลือ เขย่า

ปู่อาจ๋ารย์ นา ซวงไซ

ปู่อาจ๋ารย์ ถนัด ดังดี

ขอบคุณทุกท่านที่สนใจ

ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 547862เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2013 13:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กันยายน 2013 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ได้เข้ามา อ่าน แบบ เร็วๆ ในตอนที่ 3 ด้วย--- พิธีการ  โดยรวม  ก็คล้าย ๆ  กับภาคกลาง นะคะ

ชอบสำเนียงภาคเหนือช่วงหลังตั้งนะโม บรรยายได้ละเอียดคล้องจองเป็นตอน ๆ น่าฟังดีค่ะ

ชอบ  “ยถา...หื้อผี  สพฺพี...หื้อคน” เวลาไปใส่บาตร กุหลาบมักเห็นคนกรวดน้ำทันทีที่ใส่บาตรเสร็จ จึงสังเกตว่าบางคนยังไม่เข้าใจ จบยถาแล้วก็ยังกรวดไม่เสร็จก็มี ขณะที่พระสวดสัพพีก็ยังกรวดน้ำอยู่ บางคนกรวดจนจบสัพพี

จึงชอบใจจังที่พระท่านให้ความรู้เขาว่า บทนี้กำลังให้พรคุณ ไม่ใช่ให้ผี ยถาจบตอนไหน น้ำก็จบตอนนั้น เขาจะได้กะการหยาดน้ำได้อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ อีกทั้งได้ตั้งจิตได้ถูกต้อง

อนึ่ง การกรวดน้ำ กุหลาบสังเกตเห็นคนที่ไม่ได้กรวดน้ำด้วยตนเองมักเอื้อมมือไปแตะหรือเกาะหลังกันเป็นกระจุก หรือคะยั้นคะยอให้เราหาที่เกาะด้วย กุหลาบคิดว่าไม่น่าจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น เพียงแต่ตั้งใจและตั้งสมาธิในการฟังขณะที่พระสวดและอธิษฐานน่าจะดีกว่า

ขอบคุณพี่หนานมากค่ะ ที่เล่าขั้นตอนการทำบุญตามแบบของภาคเหนือไว้อย่างละเอียด และน่าติดตามมากค่ะ   

อ.จอยครับ ประเพณีขั้นตอนหลักคงไม่ต่างกันเท่าไหร่หรอกครับ ความต่างน่าจะอยู่ที่ ภาษา และขั้นตอนการปฏิบัติที่ละเอียดอ่อน ที่ไม่ได้กล่าวถึงมากกว่าครับ 

เห็นด้วยกับ คุณกุหลาบ เรื่องการกรวดน้ำเป็นอย่างยิ่งครับ  ขั้นตอนบางแห่งมีความละเอียดอ่อนมากกว่านี้ครับ นี่เป็นเพียง "เมน" เฉย ๆ ครับ ผมอาจจะเขียนได้ไม่ครบหรือไม่ดีเท่าที่ควร

-สวัสดีครับ

-ตวยมาอ่านการทำบุญในวันพระของบ้านแพะครับ

-เปิงเป๋นปี้หนานขนาดน่อครับ

-ขอบคุณความฮู้จากบันทึก1-3 นี้ครับ

 

ขอบคุณ น้องเพชรน้ำหนึ่ง หนุ่มน้อยสมองใสใส่ใจการบันทึกมากนะครับที่ชม  ผมอยากเขียนบันทึกเอาไว้ให้อนุชนคนรุ่นหลังได้อ่าน ได้มีที่สืบค้นบ้าง ตอนนี้ประวัติของหมู่บ้านคุณครูได้นำเอาไปพ่วงกับเว็บไซต์ของโรงเรียนแล้ว และเห็นเด็กที่ทำรายงานและทำสารนิพนธ์ได้นำไปประกอบการเรียนในระดับต่างๆ กันหลายท่านแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท