ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

คำพูดเจาะจิต


คำพูดเจาะจิต

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

www.drsuthichai.com

         เปล่งวจี สัจจะ นวลละม่อน             กล่าวเลลี้ยกล่อม ไพเราะ กาลเหมาะสม

          เจือประโยชน์ เมตตา ค่านิยม           รื่นอารมณ์ ผู้ฟัง ดังเสียงทอง

                จากบทกลอนข้างต้น อยู่ในมงคลชีวิตที่ 10 กล่าววาจาอันเป็นสุภาษิต ซึ่งหากใครที่เคยมีประสบการณ์ในทางการพูดอยู่บ้าง ก็จะทราบดีว่า การกล่าววาจาเป็นสุภาษิต มักจะทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือในเรื่องราวที่ผู้พูดได้พูด เพราะคำสุภาษิตต่างๆ เป็นคำพูดที่มีความคม มีความไพเราะอยู่ในตัว

                สำหรับ คำสุภาษิต ในมงคลชีวิตนั้น หมายถึง คำพูดที่เป็นความจริง คำพูดที่มีประโยชน์ คำพูดที่สุภาพ คำพูดที่ใช้ถูกกาลเทศะและคำพูดที่มีความเมตตา

                1.คำพูดที่เป็นความจริง เป็นคำพูดที่ไม่โกหก หลอกลวง ไม่ได้มีการปั้นแต่งขึ้น อีกทั้งควรมี หลักฐานสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ ซึ่งการพูดความจริงมีความสำคัญมาก เพราะคนที่พูดโกหกบ่อยๆ หากผู้ฟังจับได้ว่า พูดโกหก ก็จะทำให้ผู้ฟังขาดความเชื่อถือในการพูดครั้งต่อไปของผู้พูด การพูดที่ไม่เป็นความจริง ทางพุทธศาสนา เรียกว่า มุสาวาท ถือว่าเป็น อกุศลกรรมอย่างหนึ่ง

                2.คำพูดที่มีประโยชน์ มีคำกล่าวที่ว่า “ คำพูดที่ดีๆ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆ” เช่น การพูดให้กำลังใจผู้อื่น การพูดปลุกพลังให้ผู้อื่น ล้วนแต่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ทั้งสิ้น แต่ตรงกันข้าม คำพูดหลายคำพูดมักที่จะไปทำลายความสามัคคีปรองดองกัน คำพูดหลายคำพูดมักจะทำให้เกิดการแตกแยกกัน คำพูดเหล่านี้มักเป็นคำพูดที่ไม่ก่อประโยชน์และไม่สร้างสรรค์

                3.คำพูดที่สุภาพ การพูดที่มีความสุภาพ มักทำให้ผู้ฟังอยากที่จะติดตามฟัง เป็นคำพูดที่ช่วยสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการอยู่ร่วมกันในสังคม อีกทั้งการพูดสุภาพจะทำให้เห็นถึงความเป็นผู้ดีของผู้พูดดังคำกล่าวที่ว่า “ ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร                           มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ

                    โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ             หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน”

                4.คำพูดที่ใช้ถูกกาลเทศะ เป็นคำพูดที่นำเอาไปใช้ถูกจังหวะเวลา ถูกจังหวะของสถานที่และเหมาะสมกับโอกาส ก็จะทำให้การพูดของผู้พูดเข้าไปอยู่ในหัวใจของผู้ฟังได้ดียิ่งขึ้น ตรงกันข้ามการพูดที่ไม่ถูกจังหวะเวลา ถูกสถานที่และเหมาะสมกับโอกาส แม้จะพูดดีสักปานใดก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น คนทะเลาะกัน เกิดมีอารมณ์โต้เถียงกันอย่างรุนแรง เราจะไปพูดด้วยเหตุผลหรือจะไปพูดดีอย่างไร คนก็มักจะไม่ฟังเราพูด อีกทั้งยังทำลายมิตรภาพอีกด้วย  แต่ถ้าเขาเลิกทะเลาะกัน ไม่ได้ใช้อารมณ์ เราลองนำเรื่อง เดียวกัน เหตุผลเดียวกันไปพูด เขาก็อาจจะเกิดความเชื่อถือ ศรัทธาเราได้

                หรือ อีกตัวอย่างหนึ่ง หากว่าเราเป็นนักขาย ลูกค้ากำลังยุ่งๆ อยู่ แล้วเราจะนำสินค้าไปเสนอขายอย่างไร เขาก็จะไม่ตั้งใจฟังเรา เนื่องจากเราไปนำเสนอขายสินค้าผิดจังหวะเวลา นั่นเอง

                5.คำพูดที่มีความเมตตา เป็นคำพูดที่พูดออกไปแล้วผู้ฟังได้รับความสุข เกิดความปิติมานะ เกิดความปรารถดี              เป็นคำพูดที่มีความจริงใจ สำหรับผู้ที่มีความเมตตาในการพูดมักจะไม่ใช้อารมณ์โกรธหรือบันดาลโทสะในการพูด เพราะการพูดบันดาลโทสะ มักจะทำให้ผู้ฟังเกิดอาการเศร้า อาการเสียใจ และบันทอนกำลังใจของผู้ฟัง

                ฉะนั้น คนที่จะสามารถพูดอย่างเจาะจิตคนได้ จะต้องเป็นคนที่คิดให้มาก แต่พูดให้น้อย หรือคิดก่อนพูดทุกครั้ง ต้องกลั่นกรองคำพูดต่างๆออกมาก่อนที่จะพูดออกไป สำหรับเรื่องของอารมณ์ในการพูดก็มีส่วนสำคัญ หลายคนมีอารมณ์โกรธ มีอารมณ์โมโห ในขณะพูดก็จะทำให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้  เช่นใครพูดไม่ถูกหู ก็จะไม่พอใจ เกิดอารมณ์อยากด่า เกิดอารมณ์อยากชวนทะเลาะ ดังนั้น หากใครที่รู้ว่ามีอารมณ์ต่างๆที่ไม่สบายใจ ทำให้ขุ่นใจ จงรอให้อารมณ์เหล่านั้นดับไปก่อน แล้วการพูดของท่านจะครองใจผู้ฟังได้มากกว่าการพูดในขณะที่มีอารมณ์ต่างๆที่ไม่ดีในการพูด

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #การพูด#นักพุ
หมายเลขบันทึก: 547392เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2013 13:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2013 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท