สร้างครูให้เป็นครูฝึก : ตอนที่ ๒ ทักษะครูฝึก


 

ตามที่ปรากฏอยู่ในพิมพ์เขียว ๗ หน้างานของการพัฒนาครู  KM ในงาน คือหน้างานหนึ่งที่เป็นกลไกในการพัฒนาครู  และยังเป็นยุทธศาสตร์ที่ คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์ เลือกใช้เป็นยุทธศาสตร์แรกของการพัฒนาครูช่วงชั้นที่ ๒ ด้วย

 

KM แบบเพลินเพลิน

 

เกิดจากการผสมผสานของแนวทางการจัดการความรู้ของ สคส. และแนวทางการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา รวมไปถึงการนำเอาภาวะพร้อมเรียนรู้ และหลักคิดในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบเพลินพัฒนา เข้ามาปรับใช้ในกระบวนการด้วย

การจัดการความรู้ทุกครั้งจึงคำนึงถึงทั้งความรู้  การไหลเวียนของความรู้  และการมีจิตใจที่เปิดกว้าง พร้อมต่อการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเพลินไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง  

 

 

คุณอำนวยมือใหม่

 

คุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ทำงานที่เพลินพัฒนามาเกือบ ๖ ปี ก็ได้รู้จัก KM มาเรื่อยๆ จากการที่ฉัน ชักนำเข้าสู่วงการ เพราะเห็นความเก่งกาจในการเขียน Concept Map ทำให้ฉันมักชักชวนครูเล็กไปร่วมทำงานในตำแหน่งคุณลิขิต ที่คอยเขียนจับประเด็นออกมาในรูปแบบของผังมโนทัศน์อยู่เสมอ  ระหว่างนั้นครูเล็กก็ได้ฝึกการเขียนเรื่องเล่าความสำเร็จทั้งของตนเองและเพื่อนครูอยู่บ้างเป็นครั้งคราว

 

KM ในงานและการปฏิบัติธรรม”  เป็นบันทึกประสบการณ์ในการเข้ามาเรียนรู้เรื่องของการจัดการความรู้ให้มากขึ้นอีก เพื่อที่จะก้าวเข้ามาเป็นคุณอำนวยได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

 

....................................................................................

 

 

วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๖ เป็นวันที่ฉันรู้สึกว่า “เพิ่งจะรู้จัก KM จริงๆ ก็ครั้งนี้แหละ” ทำไมฉันจึงคิดเช่นนั้น

 

เรื่องมีอยู่ว่า ภาคเรียนวิริยะ ๒๕๕๖ นี้ ฉันเริ่มปรับกระบวนการและเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการประชุมระดับชั้นทั่วไป  มาเป็นการประชุมระดับชั้นแบบ KM ที่คุณครูทุกคนจะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเล่าความสำเร็จกัน ดังนั้น ฉันจึงต้องเริ่มหัดทำหน้าที่ในฐานะคุณอำนวย ที่ฉันรู้ว่าฉันยังอ่อนหัดในเรื่องนี้มาก ฉันจึงได้ไปพูดคุยและขอให้คุณครูใหม่ได้มาเข้าร่วมวง KM ระดับชั้นด้วย

 

ระหว่างนั้น ฉันก็พยายามเข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ KM และการทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย แต่ยอมรับว่าเมื่อหามาได้ แล้วลองอ่านดูมันก็ยังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงเท่าไร เพียงรู้จักหลักการคร่าวๆ บ้าง  ฉันจึงมักจะกลับไปพูดคุยสนทนากับคุณครูใหม่อยู่เนืองๆ  แต่ละครั้งที่ได้พูดคุยกับคุณครูใหม่ ฉันก็จะได้รับประเด็นดีๆ กลับมาทำงานเสมอ  ทำให้เริ่มมีกำลังใจในการออกแบบกระบวนการในการทำ KM ระดับชั้นต่างๆ กับคุณครูในช่วงชั้น  อีกทั้งยังมีการบ้านในการเขียนเรื่องเล่าที่ถอดความรู้มาจากวง KM ครั้งก่อนๆ มาเรียนรู้ร่วมกันด้วย

 

เรื่องแรกที่ฉันลองเขียนเมื่อเริ่มทำ KM ระดับชั้น ก็คือ “ปรับกระบวนการเปลี่ยนประบวนทัศน์” เมื่อเขียนเสร็จก็ลองส่งไปให้คุณครูใหม่อ่านดู ปรากฏว่าคุณครูใหม่แนะนำให้ฉันไปอ่านงานที่คุณครูใหม่เขียนถอดความรู้ไว้ในเรื่อง “เติบโตไปด้วยกัน: การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๑)” แล้วลองไปปรับแก้งานตัวเองอีกครั้ง เมื่อฉันกลับไปอ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง  โดยเปรียบเทียบบันทึกเรื่องที่คุณครูใหม่เขียนและเรื่องที่ฉันเขียน แล้วก็ได้พบข้อพร่องในงานเขียนของตัวเองอยู่หลายเรื่องมาก  

 

ครั้งนั้นฉันเรียนรู้และพบว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องมีในเรื่องเล่า คือ

๑.   การเขียนเล่าเรื่องต้องมีที่มาที่ไป (What When Where Who) โดยจินตนาการว่า แม้ใครก็ตามมาอ่านก็สามารถเข้าใจและเห็นภาพเรื่องที่เล่าได้อย่างเป็นฉากๆ อย่างละเอียด

๒.   เขียนให้เห็นบรรยากาศและลำดับเหตุการณ์ที่ชัดเจน

๓.    งานเขียนมีประเด็นหัวใจสำคัญของการถอดความรู้ครั้งนั้นๆ ที่เกิดขึ้นในวง KM (Why และ How)

 

หลังจากที่ฉันได้พบข้อพร่องและเข้าใจถึงสิ่งสำคัญในการเขียนเรื่องเล่าแล้ว ในคืนนั้น ฉันปรับแก้งานตนเองทันที เมื่อแก้เสร็จก็อ่านทวนไปมาอีก ๒-๓ ครั้ง แล้วจึงรีบส่ง E-mail กลับไปให้คุณครูใหม่ ไม่ช้าไม่นานคุณครูใหม่ก็ส่ง E-mail กลับมาด้วยถ้อยความว่า “อ่านแล้วจ้ะ...เขียนได้ดีมาก” ฉันดีใจมากที่การปรับแก้อีกครั้งถือว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถนำไปให้คุณครูท่านอื่นๆ ได้อ่านในวง KM

 

ฉันกลับมาคิดทบทวนและใคร่ครวญดู ก็รู้สึกว่า คุณครูใหม่มีวิธีการสอนที่ชาญฉลาดมาก คุณครูใหม่ไม่ได้บอกตรงๆ ไม่ได้แก้ไขให้ทันที แต่ให้คำแนะนำ โดยให้ดูงานตัวอย่างดีๆ ทำให้ฉันมีโอกาสได้เรียนรู้ด้วยตนเอง และปรับแก้ได้ด้วยตนเอง เหมือนฉันได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ส่งงานคุณครู คุณครูตรวจกลับมาและบอกว่าใช้ได้แล้ว ทำให้มีกำลังใจอย่างมากที่จะทำให้มากขึ้น ดังนั้น ฉันจึงตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะเขียนงานถอดความรู้ที่ได้จากวง KM ระดับชั้นให้ได้ในทุกๆ สัปดาห์ และนำงานเขียนที่ได้ถอดความรู้แล้วกลับไปใช้ในวง KM ในทุกๆ ครั้ง

 

แม้ว่าจะเตรียมตัวในการทำหน้าที่คุณอำนวยมาแล้วอย่างดี  จากการประเมินตัวเองการทำหน้าที่ของฉันในวันนั้นก็ยังมีคุณภาพอยู่ในระดับคาบเส้นเท่านั้น

 

After Action Review (AAR)

 

หลังจากที่ภารกิจการทำ KM ระดับชั้น ๕ เสร็จสิ้นลง  ฉันมีโอกาสได้สะท้อนผลกับคุณครูใหม่ทันที คุณครูใหม่เริ่มจากการถามฉันว่า “วันนี้ให้คะแนนตัวเองเท่าไร จากคะแนนเต็ม ๑๐” ฉันคิดทบทวนสักพัก แล้วตอบกลับไปว่า ๕ คะแนน เพราะมีการเตรียมพร้อมในงานเขียนถอดความรู้ แต่ระหว่างที่อยู่ในกระบวนการการพูดตั้งประเด็นของฉันยังวกวนไปมา ไม่ชัดเจนเท่าที่ควร

 

คุณครูใหม่ถามต่อว่า “ทำไมถึงคิดว่าไม่มากกว่านี้หรือต่ำกว่านี้?”  ที่ไม่ต่ำกว่านี้ก็เพราะอย่างน้อยฉันมีการเตรียมการทั้งงานเขียนที่กล่าวมาแล้ว และคิดลำดับกระบวนการ รวมทั้งประเด็นคำถามเอาไว้ อีกทั้งยังมีเรื่องที่ต้องพัฒนาตัวเองอีกมาก แต่ที่ไม่ได้มากกว่านี้ เพราะเมื่อการแลกเปลี่ยนดำเนินไปถึงจุดต้องตัดสินใจหรือมุ่งไปสู่หัวใจสำคัญ ฉันยังกลัวและไม่รู้วิธีการที่จะดำเนินการต่อไป ทำให้ต้องยึดในประเด็นที่ตัวเองตั้งเอาไว้ และไม่ได้ฟังเรื่องราวที่คุณครูท่านอื่นๆ แลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง

 

มาถึงคราวที่คุณครูใหม่จะสะท้อนผลฉันแล้ว ประเด็นที่สะท้อนมีดังนี้

  • การใช้เสียงลักษณะออกคำสั่ง ฉันพูดว่า “ใครอยากแลกเปลี่ยนยกมือ” ต้องปรับคำพูดใหม่
  • ต้องบอกเวลา และ ประเด็นสำคัญที่ให้คุณครูได้เล่าเรื่องได้กระชับขึ้น
  • ให้ผู้ฟังถอด Key Success Factor ก่อนเจ้าของเรื่อง
  • ควรฝึกฝนการพูดจากใจ และฝึกใช้คำพูดที่เป็นการ“เชื้อเชิญ” ให้สมาชิกเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยความพร้อมใจ
  • เคารพทั้งความรู้และความไม่รู้ของสมาชิก
  • ฝึกจังหวะ กับ ความพอดี ในการทำกระบวนการ

 

ตอนที่คุณครูใหม่สะท้อน ฉันพบความเป็นตัวตนของฉัน คำว่า “เล็กเซ็นเตอร์” ที่ครูใหม่สรุปเพื่ออธิบายตัวฉันปรากฏขึ้น ณ ขณะนั้น สภาวะตอนนั้นมันนิ่งข้างนอก แต่ข้างในเกิดการปะทะกันระหว่างสองสิ่ง แล้วน้ำตาก็ไหลออกมาอย่างช้าๆ  สองสิ่งที่ว่านั้นคือ รู้สึกดีที่เห็นความเป็นตัวกูของกู ถ้าไม่เห็นในวันนี้ เราจะต้องมีทิฏฐิ มานะ ถือตัว ถือตนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นแน่แท้  อีกสิ่งหนึ่ง คือ รู้สึกเศร้าใจและเสียใจกับความติดดีของตัวเอง ฉันจึงได้เรียนรู้ว่าจิตของเราต้องการการขัดเกลาไปเรื่อยๆ

 

ครั้งนี้จึงเหมือนเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จัก KM จริงๆ ได้เรียนรู้ว่าในการทำ KM เชิงลึก  กระบวนกรต้องมีจิตที่ละเอียดอ่อนมากๆ  เปรียบเสมือนดั่งเช่นการปฏิบัติธรรม  ต้องเปิดรับฟังทั้งความรู้และความไม่รู้ของผู้อื่น ต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันตลอดเวลา ประสบการณ์ในครั้งนี้ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นครั้งที่ประสบการณ์ทางโลกกับการปฏิบัติทางธรรมมาพบกัน  ฉันเห็นตัวเองชัดมาก  ในขณะเดียวกันก็เกิดการพัฒนาตัวเองที่ไปไกลเกินกว่าเรื่องทางโลกที่เราเคยเข้าใจและตั้งเป้าหมายเอาไว้แข็งๆ

 

ฉันเคยตั้งเป้าหมายกับตัวเองเอาไว้ว่า จะเคารพในความแตกต่าง เป็นกัลยาณมิตรที่ดี  แต่ถ้ายังมีทิฏฐิมานะ จะเคารพได้อย่างไร จากการทำ KM ครั้งนี้ ก็เห็นอยู่ว่า ถ้าไม่เคารพจริง จะทำร้ายทั้งตัวเองและผู้อื่น ความเป็น “เล็กเซ็นเตอร์” ของตัวเองมันใหญ่ขึ้นทุกวัน ถ้าเปรียบเหมือนวงกลม ก็เห็นวงกลมในตัวเราไปทับพื้นที่ของคนรอบข้าง ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองต้องพัฒนาก็ต้องเติมให้มาก ช่วงที่เติมตัวเองมากๆ ก็เผลอมองเห็นคนอื่นเล็กนิดเดียว  อีกทั้งการทำ AAR ในครั้งนี้ก็มีคุณค่าอย่างมากที่ช่วยให้ได้เห็นความติดดี  จึงเกิดความเห็นที่ถูกต้องว่าทั้งดีและไม่ดีก็ไม่ควรยึดไว้ เพราะมันจะเป็นทุกข์ได้

 

สุดท้าย ก็ต้องขอบพระคุณคุณครูใหม่อย่างมาก ที่นำทางฉันให้ได้มาพบกับความเป็นจริงของชีวิตในข้อนี้ คุณครูใหม่มีความเมตตาในการสะท้อนอย่างตรงไปตรงมา แต่อ่อนโยนและจริงใจกับฉันมาก  ฉันรับรู้ได้ถึงความปรารถนาดีอย่างจริงใจที่คุณครูใหม่สื่อสารมายังฉัน ทั้งสิ่งที่พูดและไม่ได้พูดออกมา ทำให้ฉันเกิดกำลังใจดีๆ ที่จะฝึกฝนและพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เหมือนเป็นการค่อยๆ เริ่มต้น ออมเงินทีละเล็ก ทีละน้อย เพื่อความเข้าใจและเปิดใจยอมรับกับโลกข้างใน โลกข้างนอก และโลกของคนอื่นๆ ต่อไป

 

ครูเล็ก - ณัฐทิพย์  วิทยาภรณ์  บันทึก

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 547326เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2013 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2013 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบันทึกสะท้อนภาพ self reflection ที่สุดยอดครับ   ทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย จะเกิดการเรียนรู้มาก

วิจารณ์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท