วิ่ง วิ่ง วิ่ง (บทบรรณาธิการฉบับ342 สิงหาคม2556 ปก มาราธอน 42.195 กิโลเมตร)


 

 

พลิก คว่ำ คลาน ยืน เดิน วิ่ง เป็นลำดับขั้นการพัฒนาของเด็กแรกเกิดจากที่เอาแต่นอนแบเบาะอยู่หลายเดือน จนราว ๒ ขวบ เด็กส่วนใหญ่ก็วิ่งเล่นได้อย่างเสรี
         ทุกขั้นตอนเกิดขึ้นพร้อมกับเสียงเชียร์และรอยยิ้มของพ่อแม่
         ยิ่งเห็นลูกยืนได้ วิ่งได้ พ่อแม่ยิ่งมีความสุข และลูกก็มีกำลังใจในย่างก้าวด้วยแรงเชียร์ของพ่อแม่
         แต่สำหรับคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คงไม่น่าดูนักถ้าจะยังวิ่งเล่นเป็นเด็กๆ สนามวิ่งสำหรับผู้ใหญ่จึงอยู่บนเส้นทางของเกมกีฬา

          ...............
         ๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ เด็กน้อยผิวดำคนหนึ่งถือกำเนิดบนที่ราบสูงเอธิโอเปีย แอฟริกา เติบโตขึ้นมากับการวิ่งเท้าเปล่าช่วยพ่อไล่ต้อนฝูงแกะ ความยากจนทำให้ อาเบเบ บิกิลา เลือกเข้ารับราชการทหาร พร้อมกับฉายแววนักกีฬาในงานแข่งกีฬาของกองทัพ เมื่อนักวิ่งทีมชาติตัวหลักของกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ ๑๗ กรุงโรม ประเทศอิตาลี (ค.ศ. ๑๙๖๐) ประสบอุบัติเหตุ จากไม่ติดโผตอนแรก บิกิลาถูกเรียกให้ร่วมทีมชาติขึ้นเครื่องบินไปกรุงโรมอย่างฉุกละหุก
         ก่อนเข้าลงแข่งขันวิ่งมาราธอนระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร บิกิลาไม่อาจหารองเท้าขนาดพอเหมาะ เพราะเขาอยู่นอกรายชื่อการจัดเตรียมรองเท้านักกีฬาให้แต่แรก เขาจึงตัดสินใจลงแข่งวิ่งด้วยเท้าเปล่า
         ณ จุดสตาร์ต เขาเป็นนักวิ่งผิวดำที่ไม่มีใครรู้จัก ยืนอยู่ท่ามกลางนักวิ่งผิวขาวทั้งจากรัสเซียและยุโรปที่เป็นผู้พิชิตเหรียญมามากมายในช่วงนั้น
         ระยะ ๑๐ กิโลเมตรแรก เขาเกาะกับกลุ่มนักวิ่งส่วนใหญ่ พ้นระยะ ๑๕ กิโลเมตรเขาเข้ากลุ่มนักวิ่งนำ ถึง ๒๐ กิโลเมตร เหลือเพียงเขาที่วิ่งเกาะติดเบียดไหล่ชนไหล่กับนักวิ่งชาวโมรอกโก ทั้งคู่ทิ้งห่างนักวิ่งอื่นไปเรื่อยๆ แล้วใน ๑ กิโลเมตรสุดท้าย บิกิลาก็เร่งฝีเท้าแซงและทิ้งคู่แข่งเขาไปตลอดจนเข้าเส้นชัยด้วยเวลา ๒ ชั่วโมง ๑๕ นาที ๑๖.๒๕ วินาที ทำลายสถิติวิ่งมาราธอนโอลิมปิกก่อนหน้านั้นถึง ๘ นาที
         หากใครได้ชมภาพยนตร์บันทึกการแข่ง จะได้ยินเสียงเท้าเปล่าของบิกิลากระทบพื้นดัง...แปะ แปะ แปะ...
         ช่วงก่อนเข้าเส้นชัย ฝูงชนนับหมื่นปรบมือดังกระหึ่มและตะโกนเชียร์นักวิ่ง (ม้า) มืดนอกสายตา
บิกิลาเป็นนักวิ่งชาวแอฟริกันผิวดำคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก และเป็นนักวิ่งมาราธอนคนแรกที่ได้เหรียญทองโอลิมปิกสองครั้งติดต่อกันจากโอลิมปิกในอีก ๔ ปีต่อมาที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งที่เขาต้องเข้าผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบก่อนหน้าการแข่งขันเพียง ๓๖ วัน บิกิลาสวมรองเท้าวิ่ง และทำลายสถิติเดิมของเขา ๓ นาทีเศษ
         บิกิลากลายเป็นวีรบุรุษของประเทศเอธิโอเปีย และเป็นตำนานนักวิ่งระดับโลก โดยเฉพาะภาพความมุ่งมั่นของเขาในการวิ่งเท้าเปล่าจนเอาชนะบรรดานักวิ่งตัวเต็งสวมรองเท้ากีฬาอย่างดี

  

           ...............
         ชัยชนะของบิกิลาเป็นแรงบันดาลใจให้นักวิ่งผิวดำจากทั่วกาฬทวีปมานับแต่นั้น ถึงวันนี้แชมป์แข่งขันวิ่งระยะทางไกลแทบทุกสนามทั่วโลก ไม่ว่ามาราธอนและระยะทางรองลงไป ผูกขาดโดยนักวิ่งผิวดำแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะเคนยาและเอธิโอเปีย พร้อมกับสถิติวิ่งมาราธอนที่ถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า
         ในยุคที่โลกรู้จักคำว่า ยีนและพันธุกรรม จึงเกิดคำถามว่าเพราะพวกเขามียีนแชมป์นักวิ่งมาราธอน หรือยีนอึดที่คนชาติอื่นไม่มี หรือกระไร เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นหาคำตอบมาหลายปีแล้ว แต่จนถึงล่าสุดก็ไม่มีใครประกาศการค้นพบ นอกจากสมมติฐานว่าถ้ามียีนดังกล่าวจริงคงไม่ใช่ยีนเฉพาะตัวใดตัวหนึ่ง แต่เป็นผลจากยีนหลายตัว และไม่ได้มีเฉพาะในชาวเคนยาหรือเอธิโอเปียเท่านั้น
         นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าความสำเร็จของนักวิ่งมาราธอนแดนกาฬทวีปมาจากทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม นั่นคือการฝึกฝนวิ่งระยะไกลอย่างหนัก มากกว่า ๑๐ ชั่วโมงต่อวัน ตลอดทั้งปี
         แรงผลักดันหนึ่งนั้นมาจากนักวิ่งผิวดำส่วนใหญ่ต้องวิ่งเพื่อความอยู่รอด เพราะนี่คือไม่กี่หนทางที่จะมีเงินทองและชื่อเสียงในประเทศอันแร้นแค้นและยากจน
         ราว ๒ ล้านปีก่อนบนดินแดนเดียวกันนี้ บรรพบุรุษของบิกิลาและมนุษยชาติเริ่มออกวิ่งเป็นครั้งแรก และอาจด้วยแรงขับดันเดียวกัน นั่นคือเพื่อความอยู่รอด
         หลายคนอาจคุ้นเคยกับความรู้ว่า มนุษย์แยกวิวัฒนาการจากบรรพบุรุษคล้ายลิงเมื่อเราเริ่มยืนและเดินด้วยสองขา แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเสนอความคิดใหม่ว่า การวิ่งต่างหาก และวิ่งไกลระดับมาราธอนเสียด้วย
         ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักสร้างเครื่องมือล่าสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ การวิ่งไล่ต้อนสัตว์อาจเป็นวิธีได้อาหารมายังชีพ บรรพบุรุษนักวิ่งของเราจะวิ่งไล่ต้อนสัตว์เป็นระยะทางไกลหลายชั่วโมงจนกระทั่งสัตว์หมดแรงและล้มลง จากนั้นจึงค่อยสังหารเหยื่อด้วยอาวุธง่ายๆ อย่างก้อนหิน (แต่มีบางคนเสนอว่าอาจวิ่งเพื่อหาซากสัตว์)
         มนุษย์สามารถวิ่งไกลและทนกว่าสัตว์อื่น เพราะเราระบายความร้อนด้วยเหงื่อทางผิวหนังได้ตลอดเวลา ขณะที่สัตว์ส่วนใหญ่อาศัยการหอบ และสัตว์จะวิ่งพร้อมกับหอบไม่ได้ มันต้องหยุดพักเพื่อหอบ
         สมองขนาดใหญ่ ผมบนหัว คอ ไหล่ กล้ามเนื้อหลัง กระดูกสันหลัง ผิวหนังไร้ขน แขน ขา ฝ่าเท้าและนิ้วโป้ง ลักษณะแทบทุกอย่างของมนุษย์ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ และโดยเฉพาะพวกเอป อาจเป็นผลจากวิวัฒนาการที่เอื้อต่อการวิ่งระยะทางไกลกลางแจ้งแทบทั้งสิ้น
         ถ้าหากบรรพบุรุษของเราเดินโดยไม่วิ่งไกล ทุกวันนี้เราอาจมีรูปร่างคล้ายลิงใหญ่

       

            ..............
         ไม่กี่ปีกับการวิ่งแข่งทั่วโลก บิกิลาประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาเป็นอัมพาตครึ่งซีกล่าง หลังรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ เขากลับบ้านในสภาพผู้พิการนั่งรถเข็น แต่ฝูงชนชาวเอธิโอเปียก็มารอต้อนรับโห่ร้องให้กำลังใจเขายังเนืองแน่น บิกิลากลับมาฟื้นฟูร่างกายและอีก ๒ ปีต่อมาเขานั่งรถเข็นเข้าร่วมแข่งกีฬายิงธนูสำหรับคนพิการได้ที่ ๗ ตามด้วยการแข่งรถเลื่อนสุนัขสำหรับคนพิการชนะที่ ๑ กระทั่งถัดมาอีก ๒ ปีเขาจึงเสียชีวิตในวัยเพียง ๔๑ ปีด้วยอาการเลือดคั่งในสมองอันเป็นผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนั้น
         ในต่างประเทศ กีฬาวิ่งมาราธอนเป็นกีฬาที่ผู้เข้าชมมีส่วนร่วมเชียร์นักแข่งมากที่สุดประเภทหนึ่ง พวกเขาจะยืนรออยู่ข้างเส้นทางวิ่ง ตะโกนให้กำลังใจนักวิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้จักให้สู้ต่อไป ไม่ว่าเขาจะเป็นคนชาติไหน นักวิ่งมาราธอนหลายคนเปิดเผยว่านี่คือพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้พวกเขาเข้าถึงเส้นชัย
        วิวัฒนาการเพื่อเอาชีวิตรอดอาจทำให้มนุษย์เป็นอย่างที่เป็น แต่เสียงเชียร์และ “หัวใจ” ที่ไม่ยอมแพ้ อาจพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ไปเสมอ

บรรณาธิการบริหาร
สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ

หมายเลขบันทึก: 546303เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เมื่อกี้เข้ามาเขียน ได้อ่านเรื่องนี้ ชอบมากครับ

ผมวิ่งมินิมาราธอนอยู่ครับ ๑๐ กิโลครึ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท