ข่มขืน ขืนใจ ... ปัญหาสังคมไทยในงานวรรณกรรม 2


วิจารณ์โดย ปัฐมานันท์ แสงพลอยเจริญ

“ลับแลลายเมฆ”
ชิวิตและความคิดของคนบางคนคล้ายมีฉากบังตา คล้ายถูกขีดให้เวียนวนอยู่แต่เพียงในความสะอาดสะอ้านอบอุ่นของห้องที่พักพิง ต่อเมื่อเลื่อนสิ่งกั้นขวางนั้นออก ความจริงที่อยู่หลังลับแลก็ปรากฏ ชีวิตที่อยู่แต่ในร่องรอยจึงผันเปลี่ยน
จากความสูงส่งราวล่องลอยอยู่บนปุยเมฆ กลายเป็นเพียงซากที่เคยถูกเหยียบย่ำจนต่ำต้อยติดดิน หากจะเปรอะเปื้อนสกปรกกระทั่งเหมือนไร้ค่า…
ชีวิต...ก็ต้องดำเนินต่อไป ต้องดิ้นรนจนหลุดพ้นจากการเป็นผู้ถูกกระทำ หลุดพ้นเพื่อยืนหยัด และกลายเป็นผู้ชนะให้ได้ในที่สุด
ถ้อยคำข้างต้นได้สื่อความหมายของชื่อเรื่อง “ลับแลลายเมฆ” ว่า ชีวิตที่สูงส่งเพียบพร้อมใช่ว่าจะสวยหรูเสมอไป เพราะในความงดงามและอบอุ่นของชีวิตประหนึ่งถูกฟูมฟักให้อยู่แต่ในห้องที่กั้นด้วยลับแลเพื่อกันแดดลมตลอดเวลา ก็ยังมีมุมมืดแอบซ่อนอยู่เบื้องหลัง และเมื่อความจริงเปิดเผยก็พบว่าเราอาจสกปรกมากเกินกว่าใครจะคาดคิด คือ มลทินจากการถูกข่มขืน แต่ตราบใดที่เรายังไม่ตายก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยกำลังใจอันเข้มแข็งอย่างผู้ชนะ
นวนิยายเล่มนี้แต่งโดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสาร สกุลไทยรายสัปดาห์ ปีพ.ศ. 2544-2545 และได้รับการรวมเล่มครั้งแรกในเดือนสิงหาคม ปี 2545 มีเนื้อหาทั้งหมด 528 หน้า โดยผู้เขียนได้ศึกษาปัญหาการข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ และนำเสนอออกมาในรูปแบบนวนิยาย โดยดัดแปลงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้หญิงได้ระวังภัยใกล้ตัว และเสนอให้ฝ่ายชายได้มองผู้หญิงว่าเป็น “มนุษย์” ที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่ควรมองว่าเป็นวัตถุทางเพศ

เรื่องย่อ
นภนภางค์สาวสวยในสังคมชั้นสูง ผู้เป็นหลานสาวคนเดียวของศาสตราจารย์นายแพทย์จิตต์ผู้มีฐานะอันร่ำรวย หลังจากที่คุณปู่จิตต์ของเธอสิ้นลง เธอก็อยู่กับคุณแวววรรณ ย่าเลี้ยงที่รักเธอมากและประคบประหงมเธอมาเป็นอย่างดี
เธอมีชีวิตที่สูงส่งและไม่รู้จักกับความทุกข์ใด ๆ บนโลกนี้ ชีวิตของเธอสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น เมื่อเธอได้หมั้นหมายกับกฤต ชายหนุ่มที่มีความเพียบพร้อมด้านหน้าตา บุคลิกงามสง่า นิสัยอันทรงเสน่ห์ และเป็นบุตรชายคนหนึ่งของตระกูลอันร่ำรวยระดับประเทศ
แต่ทว่าชีวิตของเธอกลับไม่ได้สดใสดังที่วาดหวังไว้ เพราะเธอมีอาการประหลาดอย่างหนึ่งที่จะเกิดขึ้นทุกครั้ง เมื่อกฤตพยายามเข้าหาเธอ นั่นคือ อาการช็อคและเกร็งไปทั้งตัว อันเนื่องมาจากความตกใจสุดขีด ที่คล้ายกับสิ่งเลวร้ายที่เธอเคยพานพบ แต่เธอจำไม่ได้ว่ามันเคยเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหน นอกจากนี้บางครั้งเธอมีอาการหวาดผวา นอนไม่หลับ ฝันร้าย ซึ่งเธอหาสาเหตุไม่ได้ว่ามันเกิดจากอะไร
ก่อนการแต่งงาน หมอมันตาชายหนุ่มที่เธอนับถือเสมือนพี่ชาย ได้กลับมาร่วมแสดงความยินดีกับการแต่งงานของเธอ (ทั้ง ๆ ที่มันตาแอบรักนภนภางค์แต่ก็หักห้ามใจได้) เขาเป็นคนหนึ่งที่รับรู้อาการประหลาดของเธอ แต่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ว่าเกิดจากอะไร
จนกระทั่งแต่งงาน นภนภางค์ยังคงแสดงอาการประหลาดอยู่เช่นเดิม ทำให้กฤตโกรธและออกไปจากบ้าน ส่วนนภนภางค์ก็เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงขับรถไปที่บ้านพักของหมอมันตาในกลางดึกคืนหนึ่ง แต่หมอไม่อยู่ที่บ้าน เธอจึงตัดสินใจเดินลุยทะเลเพื่อฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่หมอมันตามาพบเข้าและห้ามเอาไว้ได้ทัน เธอจึงรอดชีวิตมาแต่หัวใจยังอ่อนล้าและสับสน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หมอมันตาตัดสินใจนำเธอไปรักษากับรุ่นพี่ที่เป็นจิตแพทย์ เพื่อหาสาเหตุอาการประหลาดของเธอ และพาเธอไปช่วยงานที่โรงพยาบาล นอกจากนี้คุณแวววรรณ ย่าเลี้ยงได้ลงมาอยู่กับเธอที่บ้านพักของหมอมันตาด้วย
จากความห่วงใยและอ่อนโยนของหมอมันตาและคุณแวววรรณ ความดูแลเอาใจใส่ของจิตแพทย์ที่รับรักษาเธอ และความทุกข์ของผู้คนทั้งหลายที่เธอได้พานพบและเข้าช่วยเหลือ ทำให้สภาพจิตใจของเธอเริ่มดีขึ้น เธอเริ่มมองเห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น ว่าแม้จะมีเรื่องเลวร้ายผ่านเข้ามาก็ต้องเข้มแข็ง และยืนหยัดเพื่อต่อสู้กับมันให้ได้
จนท้ายที่สุดจากความพยายามของทุกคนที่ต้องการจะคลายปมปัญหาใจของเธอให้หลุดออก เขาก็รักษานภนภางค์ได้ ด้วยการพาเธอไปหวนระลึกเหตุการณ์ที่บ้านเก่าของเธอเอง ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างนับสิบปี ที่นั่นนภนภางค์จำได้ว่าเธอเคยถูกตาเชียร คนดูแลบ้านให้กับพ่อและแม่ของเธอข่มขืนตั้งแต่เธอยังเป็นสาวแรกรุ่น และการข่มขืนก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เพราะตาเชียรบังคับไม่ให้นภนภางค์ไปบอกใคร เหตุการณ์นี้สร้างหวาดวิตกให้กับเธอ จนแม่เธอเริ่มสงสัยและเธอจับได้ว่าตาเชียรข่มขืนลูกสาวของตน จึงต้องการฆ่าตาเชียรเพื่อแก้แค้น แต่สถานการณ์ก็ยิ่งเลวร้ายหนักขึ้น เมื่อแม่ถูกตาเชียรข่มขืนและใช้มีดจ่ออกเพื่อฆ่าเธอ ในเวลาเดียวกันกับที่นภนภางค์ได้ติดตามมาช่วยแม่และเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพอดี จึงตัดสินใจยิงตาเชียรจนตายคาที่ เป็นเหตุให้ร่างตาเชียรร่วงลงมา พร้อม ๆ กับมีดที่ปักอกแม่จนมิดด้าม และแม่ก็ตายในที่สุด ส่วนแรงปะทะของปืนได้ผลักนภนภางค์ให้ตกบันไดจนหัวฟาดพื้นและสลบไป จนเธอจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้
เมื่อนภนภางค์ทราบความจริงทั้งหมดแล้ว เธอจึงเข้มแข็งมากขึ้น เพราะคิดว่าอดีตเป็นเพียงฝันร้ายที่จะไม่มีวันกลับมาอีก นอกจากนี้เธอตัดสินใจที่จะทำงานเพื่อฟื้นฟูจิตใจหญิงสาวที่เคยตกเป็นเหยื่อ และทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้กับสังคมรับทราบว่า ปัญหาการข่มขืนจะแก้ไขได้หากฝ่ายชายยอมรับในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย โดยที่ไม่มองว่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ
สำหรับชีวิตคู่เธอได้ตัดสินใจขอหย่ากับกฤต และหันกลับมารักหมอมันตา ผู้ที่เข้าใจเธอได้ดีที่สุด และอยู่เป็นเพื่อนทุกข์ยามที่เธอต้องการกำลังใจ โดยที่เธอและหมอมันตาจะอยู่เคียงคู่กันตลอดไปอย่างมั่นคง

กลวิธีการดำเนินเรื่อง
เรื่องลับแลลายเมฆนี้มีความน่าสนใจที่ผู้เขียนได้สร้างปมปัญหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครหลักของเรื่อง คือ อาการประหลาดของนภนภางค์ที่ทำลายชีวิตอันสมบูรณ์แบบของเธอ และผู้เขียนได้ค่อย ๆ เปิดเผยสาเหตุของอาการประหลาดนั้นทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตามไปจนจบเรื่อง และทำให้เห็นพัฒนาการของตัวละครเอกนี้ได้อย่างเด่นชัด ด้วยการให้ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของนภนภางค์ที่บอบบาง และมีความสุขกับชีวิต มาเป็นหญิงสาวที่จมอยู่กับความทุกข์จนคิดฆ่าตัวตาย พัฒนาจนมาเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งและพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นที่ตกเป็นเหยื่อจากการล่วงละเมิดทางเพศ
นอกจากนี้ผู้เขียนได้สร้างโครงเรื่องย่อย ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่องของการข่มขืน เช่น การข่มขืนสาวไฮโซ การข่มขืนสาวโรงงาน และการข่มขืนสาวออฟฟิศ ที่ได้ให้ภาพของความประมาทของหญิงสาวที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ สภาพจิตใจของเธอภายหลังที่ประสบเหตุร้าย และการได้รับความช่วยเหลือจนกระทั่งสภาพจิตใจดีขึ้น ทำให้เห็นพัฒนาการของตัวละครดังกล่าวตามลำดับ

สาเหตุที่ก่อให้เกิดการข่มขืน

เกิดจากสาเหตุหลายประการดังนี้
ความไว้ใจ
เหตุที่นภนภางค์ต้องตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนเพราะความไว้ใจของแม่ที่ปล่อยให้ลูกสาวอยู่บ้านตามลำพังกับคุณตาเชียร (ญาติห่าง ๆ ของเธอที่อาศัยอยู่ภายในรั้วบ้านเดียวกัน) อีกทั้งความใสซื่อตามประสาเด็กของนภนภางค์ ที่ไว้ใจคุณตาว่าเป็นคนใกล้ชิด คงไม่ทำอันตรายกับเธอแน่นอน จึงยอมไปฝึกหัดซอที่กระท่อมริมรั้วของคุณตา โดยหารู้ไม่ว่าเขากำลังล่อลวงเธอไปข่มขืน
ความเข้าใจผิดคิดว่าการข่มขืนเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับตน
ดังเช่นกรณีของจีรณา สาวสวยไฮโซของสังคม เธอคิดอยู่เสมอว่าเธอไม่มีวันที่จะโดนข่มขืนอย่างแน่นอน เพราะเธออยู่ในหมู่ของคนที่ได้รับการอบรมมาดี มีการศึกษาสูง ฐานะทางเศรษกิจดี ย่อมไม่มีความคิดที่จะกระทำความเลวทรามเช่นนั้นได้ แต่แท้จริงแล้วเธอคิดผิด เพราะคนที่มีฐานะสูง หน้าตาดี แต่จิตใจทรามก็มี และจากการไม่ระวังตัวเมื่ออยู่ในที่ลับตาคน ก็เป็นโอกาสที่ชักนำเรื่องเลวร้ายให้เกิดขึ้นกับเธอจนได้
ความประมาท
เกิดขึ้นกับ “ดาว” เด็กสาวโรงงานที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว ยอมไปดื่มสุรากับกลุ่มของผู้ชาย อีกทั้งเธอยังเชื่อว่า แค่ดื่มสุราเพียงนิดหน่อยเท่านี้ เธอคงจะประคองสติมิให้ผู้ชายมาทำร้ายเธอได้ และต้องการแสดงถึงความ “แน่” ให้กับผู้ชายกลุ่มนั้นได้ประจักษ์ว่า ผู้หญิงก็คอแข็งได้ จึงยอมรับคำท้าที่ชายกลุ่มนั้นเชื้อเชิญให้เธอดื่มสุราที่ผสมยานอนหลับ

 

ลักษณะของเหยื่อ
เหยื่อทุกคนที่ผู้เขียนได้นำเสนอมีความสวยอันโดดเด่น เป็นสมบัติของตัว ตั้งแต่นภ-นภางค์ที่สวยแบบสาวหวาน และความงามแบบกึ่งเด็กกึ่งวัยรุ่น ได้ล่อใจให้คุณตาอยากจะข่มขืนเธอ ดังภาพที่ผู้เขียนได้บรรยายถึงความสวยของเธอไว้ดังนี้
ดวงหน้าสะสวยบอบบาง ด้วยผิวพรรณอ่อนละออ รูปหน้า จมูก ปาก และดวงตาแจ่มแจ๋วนั้นยังไม่ทิ้งเค้าโครงของความเป็นเด็ก แม้ว่าแขนขาจะเริ่มเหยีดยาวเก้งก้าง โครงร่างจะเริ่มส่งรูปเงาราง ๆ ของสาวรุ่น
(หน้า 286)
หรือความงามของจีรณาแอร์โฮสเตสที่สวยแบบสาวเปรี้ยว และดาวสาวน้อยตาคมที่สวยเตะตาชายหนุ่มทั้งหลายในโรงงาน
นอกจากนี้ลักษณะนิสัยที่มั่นใจในตัวเองของเหยื่อ ยิ่งเสมือนสิ่งล่อใจให้ผู้ชายอยากเอาชนะเธอเหล่านี้

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการข่มขืน
โดยส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาที่ปลอดคน หรือเหยื่ออยู่เพียงคนเดียวจึงเป็นสภาพที่เอื้อให้ผู้กระทำผิดข่มขืนได้ง่ายขึ้น

สภาพจิตใจของผู้กระทำทั้งก่อนและหลังการข่มขืน
ผู้กระทำส่วนใหญ่จะเป็นคนที่หื่นกระหาย มองผู้หญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ และยึดค่านิยมที่ผิด ๆ ว่าการข่มขืนเป็นการแสดงบทบาทของผู้ชายเพื่อทำให้ผู้หญิงยอมจำนนว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผู้ชายต้องเหนือกว่าเสมอ ดังที่ผู้เขียนบรรยายความคิดของผู้กระทำผิดไว้ดังนี้

จีรณายังคงพยายามคุมสติ เอาน้ำเย็นเข้าลูบ ทว่าอีกฝ่ายจะฟังก็หาไม่ มีแต่ความแค้นแน่นไปทั้งอก และที่มีมากเหนือสิ่งอื่นใดในใจของเขาก็คือ ความหยิ่งทะนงในความเหนือกว่าของเพศชาย
ผู้หญิงคนนี้หยามและเหยียดเขามากเกินไป เขาต้องแสดงออกให้ประจักษ์ ให้ได้รู้สำนึกว่าผู้ชายนั้น ‘เหนือ’ กว่าที่ตรงไหน
(หน้า 147 )

ส่วนสภาพจิตใจของผู้กระทำภายหลังจากข่มขืนไปแล้วผู้เขียนมิได้บอกไว้อย่างชัดเจน และมีหลายรูปแบบ บางคนหลบหน้าเหยื่อ บางคนพยายามหาโอกาสมาข่มขืนเหยื่ออีก หรือบางคนถูกคนของเหยื่อทำร้ายจึงรู้สึกผิดกับสิ่งตนทำ

สภาพจิตใจของเหยื่อหลังจากถูกข่มขืน
ส่วนใหญ่เหยื่อจะตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการข่มขืนเกิดขึ้นอย่างกระทันหัน และจะมีอาการหวาดผวา ร้องไห้บ่อย ซึมเศร้า ส่วนนภนภางค์มีอาการหนักที่สุดเพราะเธอถูกข่มขืนมานานนับปี และเธอยังเห็นภาพแม่ถูกฆาตกรรม ทำให้เธอป่วยเป็นโรคทางจิตแบบเก็บกด และมีอาการประหลาด ดังคำพูดที่หมอผู้รักษานภนภางค์ได้กล่าวถึงอาการของเธอไว้ดังนี้

“เมื่อจิตใจมีบาดแผลฉกรรจ์ มันก็อาจขังตัวเองด้วยอาการไม่อยากจำ ไม่ใช่แค่สูญเสียความทรงจำ เมื่อคนเราประสบเหตุกระทบกระเทือนทางใจอย่างร้ายแรง แม้จะรอดชีวิตมาได้ แต่ก็มีไซคิกทรอม่า (Phychic trauma) กันทั้งนั้น...”
…เธอโยงจากจุดเริ่มต้นที่บาดแผลใจ (Phychic trauma) ต่อไปยังกลไกทางจิตแบบพยายามลืม (Suppression) ไปสู่กลไกทางจิตแบบเก็บกด (Repression) แล้วไปจบที่อาการกลัวอย่างรุนแรง ไร้สติแบบต่าง ๆ ของโฟเบีย นิโรซิส (Phobia Neurosis)
(หน้า 256-257)

นอกจากนี้นภนภางค์รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไม่น่าให้อภัย เกิดความอับอายและไม่เห็นคุณค่าของตน จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอดังที่ผู้เขียนได้บรรยายสภาพจิตใจของเธอไว้ดังนี้
เธอไม่อาจให้อภัยตนเองได้ เธอไม่สามารถกลับไปเป็นคนเดิมได้ ไม่สามารถทำหน้าที่ภรรยาที่สมบูรณ์ของใครได้ มีแต่ความหวาดกลัวจนสติสัมปชัญญะแทบขาดผึง เธอกลัวมันยิ่งกว่าความตาย!
…นภนภางค์คนนี้ไม่อาจให้อภัยตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่ตนเองเป็นผู้ถูกกระทำ!
(หน้า 214)
ทุกประโยค ทุกอารมณ์ ทุกความรู้สึกคือความขยะแขยง ชิงชัง นภนภางค์มองตนเองสกปรกเปรอะเปื้นเกินกว่าจะกู้กลับคืน หญิงสาวเชื่อว่าสภาพของเธอยามนี้คือซากที่ถูกเหยียบย่ำจนต่ำต้อยติดดิน
(หน้า 223)

การเยียวยาและรักษาสภาพจิตใจ
นวนิยายเรื่องนี้ได้กล่าวถึงวิธีแก้ไขและเยียวยาสภาพจิตใจของเหยื่อที่ตกต่ำให้ดีขึ้น ด้วยการรักษาจากจิตแพทย์ ความรักความเข้าใจจากคนรอบข้างที่ไม่รังเกียจเหยื่อว่ามีตราบาป และให้โอกาสเธอ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เธอสามารถยืนหยัดและสามารถลบเลือนรอยแผลใจให้จางลงได้ ดังคำพูดของนภนภางค์ที่เปรยถึงความสำคัญของความเข้าใจจากคนรอบข้าง

“ท่าทีของคนรอบข้างสำคัญนะคะ ไม่ใช่มีเพียงแค่ความรักอย่างเดียว ต้องหนักแน่น ต้องมีสติ ต้องพร้อมจะยืนหยัดอยู่เคียงข้าง”
...”ต้องยอมรับ ต้องเข้าใจในเคราะห์กรรม ต้องเห็นคุณค่าที่แท้ตจริงของเรา ฟ้าอยากให้ทุกคนคิดให้ได้อย่างนี้ โดยเฉพาะครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของเหยื่อ ไม่งั้นก็จะกลายเป็นว่าผู้หญิงถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า”
(หน้า 524)
มุมมองของสังคมที่มีต่อเหยื่อ
เรื่องนี้ได้สะท้อนมุมมองของสังคมที่มีต่อเหยื่ออย่างชัดเจน ว่าการข่มขืนนั้นเป็นเรื่องเลวร้ายดังเช่นกรณีของเหยื่อคนหนึ่งถูกข่มขืนในซอยหน้าบ้านของตน เมื่อพ่อแม่ทราบเรื่องก็โกรธมาก น้อง ๆ รังเกียจ ครอบครัวแหลกสลาย คนรอบ ๆ บ้านนำเธอไปนินทา เหตุนี้จึงทำให้เหยื่อตัดสินใจฆ่าตัวตาย
หรือการต่อสู้คดีของดาวที่ต้องการเอาผิดกับผู้กระทำ แต่เธอกลับได้รับความชอกช้ำกลับมา เพราะเธอถูกตำรวจถามย่างมากมายว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ไหน เธอรู้สึกอย่างไรขณะถูกข่มขืน จำหน้าตาคนร้ายได้หรือไม่ และการซักถามจากทนายฝ่ายจำเลยที่พยายามกดดันและต้อนให้เธอจนมุม หรือแม้กระทั่งคำกล่าวหาจากครอบครัวของผู้กระทำที่ว่า เธอฟ้องตำรวจและขึ้นศาลเพราะต้องการรีดเงินจากผู้กระทำใช่หรือไม่ จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สภาพจิตใจของดาวย่ำแย่ยิ่งขึ้นจนสุดท้ายเธอก็ถอนคดีเพราะไม่อาจทนกระแสจากสังคมได้

ทัศนะผู้เขียนเกี่ยวกับการข่มขืน
ผู้เขียนได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับการข่มขืนและสิ่งที่เกี่ยวข้องไว้มากมาย ผ่านการบรรยาย และบทสนทนาของตัวละครดังนี้
ค่านิยมของสังคม
โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปมากมายพร้อม ๆ กับวันเวลาที่เลื่อนรุดไม่หยุดยั้ง ความเจริญทางด้านเทคโนโลยีก้าวผ่านเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของผู้คน วัฒนธรรมประเพณีเริ่มเปลี่ยนแปร
ท่ามกลางการเปลี่ยนไปของสิ่งเหล่านี้ ทัศนคติของผู้ชายที่มีต่อผู้หญิงกลับยังคงเดิม ยังคงยืนอยู่ในตำแหน่งของความ “เหนือกว่า” เสมอ!
ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นเพราะ พ่อ แม่ ครูอาจารย์ไม่ได้อบรมเด็กผู้ชายให้เคารพและตระหนักถึงคุณค่าของเพศตรงข้าม ไม่ได้อบรมให้สำรวมในตนเอง ไม่ได้อบรมให้เคารพ ให้ยอมรับสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่นใช่ไหม?
มิหนำซ้ำยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนก็ทำให้ตัวผู้หญิงเองเกิดการสับสนกับค่านิยมวัฒนธรรมยุคใหม่...สับสนไปว่าการปล่อยเนื้อปล่อยตัวกับเพื่อนชาย ยินยอมให้ฝ่ายชายทำทุกอย่างตามความต้องการของเขา ยอมให้เขามองข้ามความสำคัญของความเชื่อและเงื่อนไขของเราคือการรักษาความสัมพันธ์หรือขั้นตอนของความรักความสัมพันธ์

(หน้า 399)
กฎหมาย
“ไอ้กระบวนการตะหวักตะบวยพวกนี้แหละที่บีบคั้นเหยื่อ เปิดโอกาสให้ไอ้พวกกดขี่ทางเพศนั่นได้ต่อรอง”
“แล้วระหว่างนั้นสังคมก็จะเริ่มตั้งคำถามไปในทำนองที่ให้อภัยผู้ชาย... ประมาณว่าผู้หญิงมันให้ท่าหรือเปล่า แรดมากไหม อะไรทำนองนั้น”
“ฉันเคยคิดว่าผู้หญิงผู้ชายเสมอภาคกันแล้วในยุคนี้...ที่แท้มันก็แค่ภาพลวงตาเท่านั้น ไม่ว่าผู้หญิงในชนชั้นไหน อายุเท่าไหร่ ก็มีสิทธิ์เดินชนกับเรื่องแบบนี้ได้เท่ากัน...ตราบใดที่ผู้ชายไม่พัฒนาตัวเอง...ฉันหมายความว่าปัญหาข่มขืนต้องแก้ที่ความคิดและจิตใจของผู้ชาย”
(หน้า 199)

หมายเลขบันทึก: 546188เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2013 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

...การข่มขืน...เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องทั้งทางด้านสภาพจิตใจ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม มีความละเอียดอ่อนมากนะคะ...เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก...มากบ้างน้อยบ้างนะคะ...แม้แต่ตัววรรณกรรมเอง...ก็เป็นส่วนหนึ่งของการข่มขืนด้วยเช่นกัน...

สปอยหมดเลย เลยไม่ต้องอ่านกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท