ตอนที่ 18 องค์ประกอบความสำเร็จของระบบยุทธศาสตร์


การแก้ปัญหาด้วยระบบยุทธศาสตร์จะสำเร็จได้เพราะมีบุคคล 3 ประเภทมาร่วมกันลงมือทำ คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้มีความรู้ และผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง บุคคลทั้ง 3 ประเภทจะต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงที่จะสร้างระบบยุทธศาสตร์

 

ตอนที่ 18
องค์ประกอบความสำเร็จของระบบยุทธศาสตร์


         ถึงแม้ระบบยุทธศาสตร์จะมีทุกหนทุกแห่งในจักรวาล แต่คนที่มองเห็นก็มีจำนวนน้อยและคนที่สร้างยุทธศาสตร์ยิ่งมีน้อยกว่า ทั้งที่การสร้างระบบยุทธศาสตร์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่คนก็ไม่อยากสร้าง บางคนอาจไม่รู้จึงใช้ชีวิตกับปัญหางาน ปัญหาตนไปวันหนึ่งๆ โดยไม่รู้ว่าการแก้ปัญหานั้นถูกหรือผิด ถ้าแก้ปัญหาถูกก็โชคดี ถ้าแก้ปัญหาผิดชีวิตก็วุ่นวายและอาจเกิดความสูญเสียอย่างไม่มีทางแก้ไขได้อีก
แต่อย่างไรก็ตามการสร้างระบบยุทธศาสตร์อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับทุกคน เพราะชีวิตสามารถดำเนินไปได้โดยไม่มีระบบยุทธศาสตร์ คนรุ่นก่อนไม่มีการสร้างระบบยุทธศาสตร์ก็สามารถดำรงอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุนี้การสร้างระบบยุทธศาสตร์จึงไม่เกิดขึ้น ถ้าจะมีก็ครึ่งๆกลางๆ หรือพอใช้ได้ แต่ถ้าจะสร้างกันอย่างจริงจังจะต้องอาศัยองค์ประกอบ 4 ประการคือ


     1.มีความรู้ในการสร้างระบบยุทธศาสตร์ ได้แก่การทำความเข้าใจและศึกษาให้เกิดความรู้เพื่อสร้างระบบยุทธศาสตร์ ซึ่งก็คือ การเรียนรู้เรื่องราวของทฤษฏีระบบ ระบบยุทธศาสตร์และวิธีการนำไปใช้


     2.มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หมายถึง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา แต่ละคนก็คิดวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ บางคนแทนที่จะแก้ปัญหากลับปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง และบางคนก็หนีปัญหาไปเลย ซึ่งไม่ว่าวิธีการใดๆก็เหมารวมว่าคือการแก้ปัญหาของแต่ละคน การแก้ปัญหาด้วยระบบยุทธศาสตร์ก็คือวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธี ที่มีผู้นำมาใช้แก้ปัญหาทั้งระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น ระดับองค์กรและระดับบุคคล การที่จะนำระบบยุทธศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาจะต้องเกิดจากการตั้งใจของผู้นำมาใช้ ด้วยมีความเห็นพ้องต้องกันว่า ระบบยุทธศาสตร์เป็นระบบที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา เมื่อตกลงกันอย่างนี้แล้วก็ลงมือร่วมกันสร้างระบบยุทธศาสตร์และนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย


     3.ผู้สร้างระบบยุทธศาสตร์คือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายถึงผู้สร้างระบบยุทธศาสตร์เพื่อใช้แก้ปัญหาใดคือผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานั้น เช่น ราคาทุเรียนตกต่ำ ผู้ที่สร้างระบบยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำ ก็คือ เกษตรกรผู้ผลิตทุเรียนและพ่อค้าทุเรียน จะให้ผู้บริโภคเป็นผู้แก้ปัญหานี้คงไม่สำเร็จ เพราะถ้าทุเรียนราคาสูงผู้บริโภคจะเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ หรือการแก้ปัญหาน้ำท่วม ผู้สร้างระบบยุทธศาสตร์คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ระบบยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจะมีมากมายหลายระบบ ตั้งแต่เรื่องของการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ การป้องกันน้ำ การคมนาคม การสร้างบ้านในพื้นที่น้ำท่วม การช่วยเหลือ ป้องกันขณะน้ำท่วม การเยียวยาหลังน้ำลด การป้องกันโรคที่มากับน้ำ การกำจัดขยะ การวางแผนจัดการน้ำในอนาคต ฯลฯ  ระบบต่างๆเหล่านี้ผู้ที่รู้ดีคือผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม


     4.ผู้สร้างระบบยุทธศาสตร์ต้องมีหน้าที่และมีอำนาจในการสร้างระบบยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหา ตรงจุดนี้หมายถึง รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายหรือบุคคลที่มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยระบบยุทธศาสตร์

         สรุป การแก้ปัญหาด้วยระบบยุทธศาสตร์จะสำเร็จได้เพราะมีบุคคล 3 ประเภทมาร่วมกันลงมือทำ
คือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือได้รับผลกระทบโดยตรง ผู้มีความรู้ และผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และบุคคลทั้ง 3 ประเภทจะต้องมีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงที่จะสร้างระบบยุทธศาสตร์

         ดังนั้นการจัดทีมบุคคลสร้างระบบยุทธศาสตร์จึงต้องคำนึงถึงบุคคลดังกล่าว แม้ได้มาไม่ทั้งหมดก็ควรได้ตัวแทนที่แท้จริงเข้ามาร่วมด้วย
         ท่านเคยเห็นยุทธศาสตร์ขององค์กรต่างๆบ้างไหม
ลองตอบหน่อยครับว่า การสร้างระบบยุทธศาสตร์พัฒนาจริยธรรม คุณธรรมของนักเรียน จะต้องอาศัยบุคคลกี่ประเภทและควรมีใครบ้าง ?


( ตอบ... นักเรียน/ผู้ปกครอง มีส่วนได้ส่วนเสีย ครู มีความรู้ เป็นหน้าที่ ผู้บริหารมีอำนาจและหน้าที่ )

 

หมายเลขบันทึก: 546096เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 18:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท