O NET 56


ไทยโพสต์: วิกฤติการศึกษาสองมาตรฐาน 'ยิ่งลักษณ์' ต้องรีบถมช่องว่าง


ข่าวทั่วไป หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อังคารที่ 26 มีนาคม 2556 00:00:14 น.
นับเป็นสถานการณ์ขั้นวิกฤติเกี่ยวกับมาตรฐานการศีกษาของชาติ ภายหลังการประกาศผลสอบ แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ประจำปีการศึกษา 2555 ของนักเรียนชั้น ม.6 ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้วิเคราะห์ผลคะแนนสอบโอเน็ต ม.6 มีผลเป็นดังนี้ คือ วิชาภาษาไทย มีผู้เข้าสอบ 391,662 คน คะแนนเฉลี่ย 47.19 คะแนนสูงสุด 96.00 คะแนนต่ำสุด 0.00, สังคมศึกษา ศาสนา และ วัฒนธรรม เข้าสอบ 392,914 คน เฉลี่ย 36.27 คะแนน สูงสุด 88.13 คะแนน ต่ำสุด 1.25 คะแนน, ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 392,468 คน เฉลี่ย 22.13 คะแนน สูงสุด 98.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน, คณิตศาสตร์ เข้าสอบ 392,818 คน เฉลี่ย 22.73 คะแนน สูงสุด 100.00 ต่ำสุด 0.00 คะแนน



วิทยาศาสตร์ เข้าสอบ 391,524 คน เฉลี่ย 33.10 คะแนน สูงสุด 93.22 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน, สุขศึกษาและพลศึกษา เข้าสอบ 391,145 คน เฉลี่ย 53.70 คะแนน สูงสุด 90.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน, ศิลปะ เข้าสอบ 391,111 คน เฉลี่ย 32.73 คะแนน สูงสุด 73.00 คะแนน ต่ำสุด 0.00 คะแนน และการงานอาชีพและเทคโนโลยี เข้าสอบ 391,096 คน เฉลี่ย 45.76 คะแนน สูงสุด 88.00 ต่ำสุด 4.00 คะแนน

น่าเศร้าที่ 4 วิชาหลัก ทั้งวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คะแนนต่ำสุดเป็น 0.00 คะแนน คะแนนโอเน็ตครั้งนี้ถือเป็นหลักฐานบ่งชี้สถานการณ์ความย่ำแย่ของการศึกษาไทย ที่ทุกฝ่ายต้องหันมาใส่ใจอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้บริหารประเทศ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี เพราะคุณภาพการศึกษาของประเทศ เป็นตัวบ่งชี้อนาคตของชาติ

ปรากฏการณ์คะแนนเฉลี่ยภาพรวมการสอบที่ย่ำแย่ดังกล่าว ที่ฟากเด็กนักเรียนส่วนใหญ่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ข้อสอบที่ สทศ.ออกมานั้นยากเกินไป และไม่ได้ออกข้อสอบเหมือนที่เรียนมา คู่กรณีของปัญหานี้จึงตกอยู่ที่ สพฐ. และ สทศ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากกระบวนการเรียนการสอนที่อยู่ภายใต้ควบ คุมของ สพฐ. ล้าหลัง เน้นท่องจำ ไม่มีการฝึกคิด วิเคราะห์ ในขณะที่ สทศ. ออกข้อสอบก้าวหน้า ใช้หลักคิด วิเคราะห์เป็นสำคัญ มีความเป็นสากล ผลจึงทำให้ระดับคะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ในระดับย่ำแย่

มาตรฐานการศึกษาของเด็กไทย ระหว่างเด็กใน กทม. กับ เด็กในชนบท ที่มีผลสอบคะแนนต่างกันราวฟ้ากับเหว มีข้อมูลระบุว่า คะแนนสอบโดยเฉลี่ยของเด็กใน กทม.ได้คะแนนสูงกว่าเด็กในสหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำ เพียงแต่คะแนนของเด็กที่อยู่ในชนบทฉุดภาพรวม ทำให้คะแนนของเด็กไทยอ่อนเข้าขั้นวิกฤติดังที่ปรากฏ

นี้คือ วิกฤติการศึกษาสองมาตรฐานของเด็กไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท เพราะโอกาสทางการศึกษาย่อมเทียบไม่ได้กับเด็กในเมือง จึงเป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ต้องเข้ามาถมช่องว่างทาง การศึกษา เพื่อสร้างคุณภาพเด็กไทยอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ โดยเฉพาะนโยบายทางการศึกษาสวยหรูของรัฐบาล อย่างแจกแท็บเล็ต ก็ยังลูกผีลูกคน มีแต่คอรัปชั่น มุ่งหาช่องกอบโกยจากโครงการ

ขณะที่อนาคตอันใกล้ในปี 2558 ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่อาเซียน รัฐบาลกลับไม่ให้ความสำคัญ เตรียมความพร้อมการศึกษาเพื่อสร้างอนาคตของชาติ หนึ่งใน 22 นโยบายทางด้านการศึกษา คือ การพูดภาษาอังกฤษได้ พร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระบุว่า 80% ของนักเรียนทั้งประเทศ สื่อสารภาษาอังกฤษได้

แต่ผลชี้วัดจากการสอบโอเน็ตครั้งนี้ วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเฉลี่ยทั่วประเทศอ่อนที่สุด และหากยังไม่รีบเร่งพัฒนาระบบการศึกษาของคนในชาติทุกส่วน ไทยจะเผชิญกับปัญหาแรงงานขาดคุณภาพ ถูกคู่ต่อสู้จากประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้ามาแย่งชิงอาชีพ การพัฒนาการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างอนาคตประเทศอย่างยั่งยืน จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลเมินเฉยมิได้.

ADVERTISEMENT

คำสำคัญ (Tags): #o net
หมายเลขบันทึก: 546091เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2013 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท