แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์


แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับปราชญ์ชาวบ้าน คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์

ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์  ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๖

โดย นายทองใบ  ปัดทำ[i]

               

                ในปี ๒๕๕๖ ปีนี้นับเป็นโชคดี ของโรงเรียนซำสูงพิทยาคม เพราะว่าด้วยนโยบาย “ซำสูงเมืองเกษตร” ของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  ทำให้หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทุ่มงบประมาณมายังอำเภอซำสูง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้ความสำคัญ จึงจัดทำโครงการฝึกอบรมและศึกษาดูงานอาหารปลอดภัยในโรงเรียนมายังเด็กนักเรียนในอำเภอซำสูง จำนวน ๒ รุ่น รวม ๓๐๐ คน  ซึ่งโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เมื่อปีที่ผ่านมาซึ่งโรงเรียนกำลังดำเนินการอยู่พอดี ผู้อำนวยการบุญเกิด ครเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนซำสูงพิทยาคม ได้ให้นโยบายถึงการไปอบรมครั้งนี้ว่า เมื่อเด็กๆ ไปฝึกกลับมาแล้ว เด็กต้องได้ปฏิบัติจริง มีผลงาน ทำให้ผู้เขียนมีโอกาสได้ไปศึกษา นำเด็กๆ ไปแลกเปลี่ยนความรู้กับปราชญ์อีสานผู้โด่งดัง หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นคุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์  ที่อำเภอกมลาไสย เมืองกาฬสินธุ์ คุณโชฎึก สุขสมของ เจ้าของสวนดอนธรรม เป็นต้น

                 ในวันที่สองของการนำเด็กๆ ไปฝึกอบรม ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์กับทีมวิทยากรของศูนย์ฯ ทำให้ทราบว่าท่ามกลางกระแสการพัฒนาประเทศด้วยนโยบายต่างๆ การกระตุ้นการเพิ่มผลผลิตด้วยสารเคมีทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ทำให้เกษตรกรทั้งประเทศเร่งผลิตเพื่อนำผลตอบแทนสู่ครอบครัว ยังมีกลุ่มคนเล็กๆ ซุกซ่อนอยู่ในหลืบของกระแสทุนนิยม ที่มีการประสานแนวพระราชดำริตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างจริงจังและเข้มข้น ด้วยการนำของคุณวิวัฒน์ โกศัลยวัฒน์ และทีมงาน

ภายใต้กระบวนการทำงานเผยแพร่ของศูนย์ฯ ได้จัดให้ผู้รับการอบรมเรียนรู้เป็นฐานเรียนรู้ตามความประสงค์ของผู้จัดและผู้รับการอบรม ด้วยแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ที่เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญต่อผืนดิน ด้วยฐานการเรียนรู้ “คนรักษ์แม่ธรณี” ที่เน้นให้เราเห็นความสำคัญของแม่ธรณี การอนุรักษ์ผิวดิน รักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน ซึ่งคุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์  ได้เน้นมากว่า การทำเกษตรสมัยใหม่ที่ใช้สารเคมีเป็นระบบการ “ปอกเปลือกเปลือยดิน”  ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตในดินตายหมด  อันเป็นแนวทางหลักของกสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งแนวคิดนี้ทำให้ผู้เขียนอดที่จะคิดถึงปราชญ์ด้านเกษตรอีกคนหนึ่งไม่ได้ นั่นคือคุณเดชา  ศิริภัทร แห่งมูลนิธิข้าวขวัญ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งผู้เขียนได้เคยไปศึกษา แลกเปลี่ยนแนวคิดกับท่านเมื่อต้นปี ๒๕๕๖ และได้อ่านบทความที่ท่านเขียน  เรื่อง “เมื่อแม่โพสพตายชาวนาก็กลายเป็นลูกกำพร้า” ความว่า เกษตรกรไทยในอดีตมีความเคารพนับถือธรรมชาติเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะดินและน้ำ ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในโลกนี้ รวมทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารให้อุดมสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากคำเรียกดินและน้ำว่า “แม่ธรณี” และ “แม่คงคา” รวมทั้งวิธีการปฏิบัติต่อดินและน้ำอย่างเคารพยกย่องในฐานะผู้มีพระคุณ นอกจากนี้ชาวนายังมี “แม่โพสพ” ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ทั้งสามกับชาวนามีมากกว่าความสัมพันธ์ในระบบการผลิต และบริโภคเท่านั้น เพราะยังรวมถึงวิถีการดำรงชีวิตทั้งหมดที่ได้รับการปรับให้สอดคล้องกันมานานนับร้อยนับพันปีอีกด้วย แต่ปัจจุบันชาวนาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพราะแม่โพสพได้ตายจากไปแล้ว ตั้งแต่ชาวนาเห็นว่า้าวเป็นเพียงสินค้า เช่นเดียวกับ“แม่ธรณี” และ “แม่คงคา”ก็ตายจากไปด้วยสารพิษนานาชนิดที่ใส่ลงไปอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ต่อเนื่องกันนานๆ ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพลง เช่น ดินแข็งกระด้าง เป็นกรด เค็ม อินทรียวัตถุน้อยลง ต้องใช้เพิ่มึ้น พืชอ่อนแอทำให้โรคแมลงศัตรูระบาดมากึ้น

     นั่นเป็นแนวทางที่ทางศูนย์ฯ ได้เน้นแก่เด็กๆ ที่เข้าอบรม เกี่ยวกับการปรุงอาหารเลี้ยงดิน โดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพลงไปเพื่อเป็นอาหารของดิน แล้วดินจะปลดปล่อยอาหารแก่พืช ด้วยกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ซึ่งคุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์  เรียกหลักการนี้ว่า “เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช” หรือ Feed the Soil and Let the Soil Feed the Plant ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ดินกลับมามีชีวิตอีกครั้ง พืชที่ปลูกก็จะเจริญเติบโต แข็งแรง ต้นทุนการผลิตลดลง ผู้ผลิต ผู้บริโภคมีสุขภาพกายที่ดี เรียกนิยามในการปฏิบัตินี้ว่า “คืนชีวิตให้แผ่นดิน” จากนั้นจึงนำเด็กๆ ฝึกปฏิบัติการปลูกผักอินทรีย์ ด้วยการเตรียมแปลง ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ การคลุมดินด้วยฟาง รดน้ำหมักชีวภาพลงในแปลง ทิ้งไว้ ๑ สัปดาห์ เพื่อให้จุลินทรีย์ได้ทำงานในดินก่อน สังเกตดูว่าดินจะมีความร้อนเพราะการทำปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ จากนั้นจึงปลูกพืชที่ต้องการลงไป และรดด้วยน้ำหมักทุก ๆ สามวัน พืชจะเจริญเติบโตได้ดี ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพเมื่อพืชตั้งตัวได้ พืชที่ผลิตได้จะปลอดสารเคมีในทุกกระบวนการ 

                 อีกแหล่งเรียนรู้ที่เป็นหัวใจในการทำเกษตรอินทรีย์ คือ ฐานผลิตปุ๋ยชีวภาพ วิทยากรประจำศูนย์ได้ถ่ายทอดเกี่ยวกับการทำน้ำหมักชีวภาพจากพืชสีเขียว (น้ำแม่) ที่นำพืชมาผสมกับกากน้ำตาล จุลินทรีย์และน้ำสะอาด ปิดฝา และหมักในที่ร่ม ๙๐ วัน จะได้น้ำหมักที่มีกลิ่นหอม แล้วนำไปใช้พ่นหรือรดพืชผัก นอกจากนี้เด็กๆ ยังได้เรียนรู้การทำน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้สุก (น้ำพ่อ) เช่น มะละกอ กล้วย ฟักทอง เป็นต้น

                การทำปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ และการทำจุลินทรีย์ลูกระเบิด (ช่วยบำบัดน้ำเสีย) ที่ประกอบด้วย มูลสัตว์ แกลบดิบ แกลบดำ รำละเอียด น้ำสะอาด หัวเชื้อจุลินทรีย์ หมักทิ้งไว้ ๕-๗ วัน สามารถนำไปใช้ได้ ช่วยให้ดินร่วนซุย รากพืชเติบโตดี

                 ฐานเรียนรู้การเพาะเห็ด ฐานคนเอาถ่าน ที่ฝึกให้คนรักษ์ธรรมชาติได้เรียนรู้ว่าการที่จะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างปกติสุขนั้น มนุษย์ต้องไม่ทำลายธรรมชาติ

                คุณเฉลิมศักดิ์ ถนอมสิทธิ์  นับเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่หาญกล้าลุกขึ้นมาต่อกรกับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างทระนง ไม่เกรงกลัวมากว่า ๓๐ ปี ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าเรียนจบเกษตร แล้วไปทำงานบริษัทเอกชน เมื่อประเทศไทยประสบกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หวนกลับมาบ้านเกิด เข้าร่วมโครงการไทย-เบลเยี่ยม กับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ทำเกษตรผสมผสาน ขุดบ่อเลี้ยงปลาในนาข้าว ในพื้นที่ ๑๖ ไร่ เจอมรสุมน้ำท่วม ๓ ปีติดต่อกันล้มละลาย ไปเล่นการเมืองท้องถิ่นประสบผลสำเร็จช่วงหนึ่ง และเกิดภาวะหนี้ท่วมตัว ในปี ๒๕๔๖ ได้พบกับคุณวิวัฒน์ ศัลยกำธร เริ่มเรียนรู้การทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมตัวกับเพื่อนบ้านทำกิจกรรมเกษตรเพื่อความอยู่รอด สร้างศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาสินธุ์ ที่บ้านหัวแฮด ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ บ้านเกิด มีผู้คนจากทั่วสารทิศมาเรียนรู้ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีสู่อนุชนรุ่นหลัง ผู้เขียนสังเกตว่าท่านจะใส่ใจให้ความรู้กับผู้เข้าอบรมด้วยการใช้จิตวิทยาการเรียนรู้ผสมผสานกับความรู้ทางชีววิทยา ความรู้ทางเคมีอย่างแม่นยำ

                  

 

 



[i] ครู คศ.๓ โรงเรียนซำสูงพิทยาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 545590เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2013 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 สิงหาคม 2013 19:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท