วันที่มดครองโลก (ย้อนบทบรรณาธิการฉบับ 330 ป่าหรือเขื่อน สิงหาคม 2555) -ก่อนถึงวันสืบนาคะเสถียร


ปกสารคดี330

เคยคิดไหมว่าถ้ามนุษย์หมดโลกแล้ว สัตว์ตัวไหนจะครองโลกต่อ

  ผมเลือก “มด”

  เคยมีนิยายวิทยาศาสตร์แปลเรื่องหนึ่ง ชื่อไทยว่า วันที่หมาครองโลก  แต่ความจริงชื่อเรื่องในภาษาอังกฤษคือ CITY หรือ “เมือง” (เขียนโดย Clifford D. Simak  ผู้แปล สุเมธ เชาว์ชุติ  สำนักพิมพ์ทอแสงจัดพิมพ์)

เรื่องราวกล่าวถึงการล่มสลายของเมืองและอารยธรรมของมนุษย์ จนในที่สุด โลกถูกครอบครองด้วยหมา ผู้เคยเป็นสัตว์เลี้ยงผู้ภักดีของคน ขณะที่สิ่งมีชีวิตอีกอย่างกำลังคืบคลานครอบครองโลกแข่งกับหมา มันคือ มด

ในนิยายเรื่องนี้ บอกแต่ต้นว่าเป็นบันทึกเรื่องราวจากตำนานที่หมาเล่าขานกันมานมนาน “คน” และ “เมือง” คืออะไรบางอย่างที่หมาไม่แน่ใจว่าจะเคยมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่จินตนาการเพื่อความบันเทิงในเทพนิยาย

พวกหมานักเศรษฐศาสตร์และหมานักสังคมศาสตร์ วิจารณ์ว่า เมืองเป็นสิ่งไม่อาจเป็นไปได้ ไม่เฉพาะในแง่เศรษฐกิจ แต่ในแง่สังคมและจิตวิทยาเช่นกัน  ไม่มีทางที่สิ่งมีชีวิตอันมีโครงสร้างประสาทระดับสูงจะก่อสร้างวัฒนธรรมในขอบเขตจำกัดแบบเมือง  และถึงหากได้เกิดขึ้นจริง ผลลัพธ์คืออาการโรคประสาทหมู่ ซึ่งในที่สุดจะทำลายวัฒนธรรมที่ก่อตั้งเมืองขึ้นมาเสียเอง

อ่านถึงตรงนี้แล้วอึ้งอย่างบอกไม่ถูก

เพราะมันอาจจริงอย่างว่า 

  แล้วทำไมมดในนิยายเรื่องนี้ถึงครองโลกได้ละ  

  มนุษยผ่าเหล่าอัจฉริยะในนิยายให้เหตุผลว่า ตามธรรมชาติ มดเป็นสัตว์สังคมที่เกิดขึ้นบนโลกก่อนคนนับร้อยล้านปี  แต่ทำไมถึงไม่อาจพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าได้เช่นเดียวกับมนุษย์ผู้มาทีหลัง

อุปสรรคที่ทำให้มันหยุดชะงักนี้คือการต้องดิ้นรนหาอาหารอยู่ตลอดเวลา ทำให้มดสาละวนกับการตอบสนองความหิว มากกว่ามีเวลาสร้างสรรค์งานอื่นๆ  และยังมีการจำศีลของมด ที่ทำให้ความทรงจำของมดลบเลือน ไม่เคยเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีต ไม่มีโอกาสใช้ประโยชน์จากความรู้ที่สะสมได้ในฤดูกาลที่ผ่านมา พวกมดจึงต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ - กับสิ่งเก่าๆ ซ้ำซากไปทุกปี

เมื่อมนุษย์ผ่าเหล่าทำการทดลองบางอย่างกับมด ทำให้มดก้าวข้ามขีดจำกัดดังว่าได้สำเร็จ  ในท้ายที่สุด มดจึงกลายเป็นสัตว์ที่ครองโลก

ในโลกแห่งความจริงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ยุคใหม่กำลังเรียนรู้จากมดอย่างขะมักขเม้น

หลายคนอาจเข้าใจว่ามดเป็นสัตว์สังคมแบบที่มีนางพญามดคอยชี้นิ้วสั่งมดในรังให้ทำงานต่างๆ แต่นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด  เพราะดูเหมือนจะไม่มีใครสั่งใครในสังคมมด  พวกมันใช้ “การสื่อสาร” ผ่านสารเคมีที่สัมผัสกันด้วยหนวด

ถ้าแยกมดแต่ละตัวออกมา มดจะไม่สามารถแสดงสติปัญญาใดๆ เลย  แต่เมื่ออยู่รวมกันเป็นฝูง เหล่ามดจะทำงานสอดคล้องประสานกัน ตั้งแต่การสร้างรังอันซับซ้อน การเพาะเลี้ยงราเหมือนที่คนปลูกพืช  การลาดตระเวนแยกย้ายกันหาอาหาร และจัดการขนส่งกลับรังจากที่ห่างไกลด้วยเส้นทางที่สั้นที่สุดได้อย่างน่าทึ่ง

  นักวิทยาศาสตร์จึงเห็นว่ามดแต่ละตัวก็เหมือนกับเซลล์ โดยมดทั้งฝูง ความจริงแล้วคือชีวิตรูปหนึ่ง เป็น “ซูเปอร์ชีวิต” ที่เกิดจากการทำงาน “สื่อสาร” ของชีวิตย่อยๆ มากมาย และสติปัญญาจะเกิดขึ้นในระดับนี้เท่านั้น

และ “โลก” นักวิทยาศาสตร์หลายคนเห็นว่าคือ “ซูเปอร์ชีวิต” ที่ดำรงอยู่ด้วยระบบที่ประกอบขึ้นจากสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิตอันหลากหลาย

ตามแนวคิดนี้ โลกไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยมีแต่มนุษย์

หากมองมนุษย์เทียบกับมดในนิยาย  ทุกวันนี้อารยธรรมของมนุษย์ที่ว่า ก้าวหน้า แต่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของการสาละวนทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่สิ้นสุด  บางทีในอนาคตไม่ไกลจากนี้ เราอาจมาถึงขีดจำกัดของอารยธรรมที่มี “เมือง” เป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับที่มดไม่อาจพัฒนาสังคมให้ก้าวต่อไป

และขณะที่มดต้องเรียนรู้ใหม่ซ้ำซากทุกปี  ปัญหาเรื่องดิน น้ำ เขื่อน ป่า การทำลายสัตว์ป่า ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ก่อขึ้น ยังวนเวียนซ้ำซาก เหมือนเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากอดีตที่ผ่านมาเช่นกัน

  มนุษย์ในนิยายเรื่องนี้ ทิ้งอารยธรรมที่สร้างมาเมื่อสามารถ “สื่อสาร” ถึงกันในระดับสูงสุด คือทั้งในระดับเหตุผล อารมณ์ ความคิด ความรู้สึก  ทั้งกับมนุษย์ และกับสิ่งมีชีวิตอื่นอย่างหมา 

เมื่อถึงจุดนั้น การไม่ทำลายสรรพชีวิตอื่น จึงเป็นสำนึกของการอยู่ร่วมกันที่ฝังรากลึก และโลกก็เหมือนตำนานอีสปที่คน สัตว์ทุกตัว พูดคุยทำความเข้าใจกันได้  

แต่ในโลกความจริง เราตระหนักถึงคุณค่าและเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งมีชีวิตอื่นบนโลกนี้มากแค่ไหน

นี่อาจทำให้วลีหนึ่งของ สืบ นาคะเสถียร เป็นอมตะมาถึงวันนี้

  “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า”

บรรณาธิการบริหาร

  สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ



หมายเลขบันทึก: 545137เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2013 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

...ร่วม รำลึกถึง ....

ท่าน สืบนาคะเสถียร  ค่ะ

..มันเป็นเช่นนั้น...รูปสมมุติ..นามสมมุติ...(เกิดแก่เจ็บตายเป็น..ธรรมดาธรรมชาติ..เป็นอยู่เช่นนั้น.).."แอบคิดว่า..ไม่มี(ตัวตน)ใดๆจะครองโลก..(ได้)..อิอิ...ยายธี..."

ผมชอบคำพูดของสืบ ที่บอกว่าพูดในนามของสัตว์ป่าครับ

 

งง ความคิดเห็นหาย ชอบคำพูดของสืบ

ที่พูดว่า ขอพูดในนามของสัตว์ป่าครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท