การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๗. สู่ความสัมพันธ์ที่มีความหมาย



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc  ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา   แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

          ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง 

          บันทึกตอนที่ ๑๗ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Bringing Conversation Into the Essence of Teaching : Making Meaningful Connections  เขียนโดย Leslie Davenport, Clinical Faculty and Integrative Psychotherapist, Institute for Health & Healing  เล่าเรื่องการเรียนรู้ที่เกิดจากความสัมพันธ์จากใจถึงใจ  ที่เลยจากความรู้แข็งๆ สู่ “ความรู้สึก” ที่ละเอียดอ่อน

          สถาบัน Institute for Health and Healing เป็นสถาบันการแพทย์ทางเลือก  ที่ นศ. เรียน ๒ ทางบรรจบกัน คือด้านวิชาการ (academic)  กับภาคสัมผัสจริง (experiential)  นศ. เรียนเป็น care giver ที่มีมิติสัมพันธ์กับผู้รับบริการอย่างมีความหมายทางใจหรือความรู้สึก  เลยไปจากมิติสัมพันธ์ธรรมดา ที่ได้รับจากผู้ให้บริการสุขภาพโดยทั่วไป 

          การเรียนรู้ที่สถาบันเป็นแบบสหวิชาการแท้  คือ นศ. พยาบาล, จิตวิทยา, นวด, เครื่องดนตรี ฮาร์พ, และศาสนาจารย์ เรียนด้วยกันเป็นทีมสหวิชาชีพ  ในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคหลากหลายอย่าง   เพื่อให้บริการแบบองค์รวม (whole person)  และเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นองค์รวมด้วย   นศ. เหล่านี้เป็น นศ. ระดับปริญญาโท

          จะเห็นว่าองค์ประกอบของทีมบ่งชี้ว่า ทีมนี้ให้บริการดนตรี/ศิลปะ บำบัด  และศาสนบำบัด หรือจิตวิญญาณบำบัด ด้วย 

          นศ. จะฝึกแลกเปลี่ยนความรู้สึกที่ล้ำลึกจากประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วยต่อตัวผู้ป่วย (และญาติ)  และระหว่าง นศ. ด้วยกันเอง  เขาใช้คำว่า therapeutic presence ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึงการสัมผัสและหยั่งรู้สภาพปัจจุบันในขณะที่สัมผัสผู้ป่วย  โดยมีการรับรู้สภาพจริงรอบด้าน 

          รูปแบบการเรียนรู้ เป็นแบบลงมือปฏิบัติ (action) ร่วมกับการสะท้อนความรู้สึก (reflection)  นำการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่ความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้   ในระหว่างที่ นศ. สะท้อนความรู้สึก  คำถามที่ นศ. ได้รับคือ


·  ความต้องการของผู้ป่วย ที่เกิดจากความเจ็บปวดด้าน ร่างกาย / อารมณ์ / และจิตวิญญาณ

·  ความเข้มแข็งของผู้ป่วย และการสนับสนุนที่ได้รับ

·  ชั่วขณะที่มีความหมายที่สุดในการได้ดูแลผู้ป่วย

·  สิ่งที่สื่อสารกันโดยไม่ใช้ถ้อยคำ

·  สิ่งที่ผู้ป่วย และผู้ปฏิบัติรักษาหลีกเลี่ยง  เพราะอะไร

·  ผู้ปฏิบัติรักษาได้เรียนรู้อะไร จากชั่วขณะนั้น


          ประสบการณ์นี้จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน นศ. และกับคณาจารย์ โดยนำเสนอเป็น case presentation  ผู้เข้าร่วมทุกคนจะฟังอย่างตั้งใจ และช่วยเพิ่มเติมข้อสะท้อนความรู้สึก (reflection) ของตน   และอาจตั้งคำถาม ว่าทำไมผู้เล่าจึงตอบสนองผู้ป่วยเช่นนั้น  สำหรับนำมาเป็นข้อเตรียมตัวเตรียมใจของตน  และอาจมีบางคนช่วยให้แนวทางอื่น ที่คนไม่คาดคิด   กระบวนการทั้งหมดนี้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ therapeutic presence  ไม่ใช่เพื่อทักษะการให้บริการทั่วๆ ไป 

         ผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามกรอบปฏิบัติทางคลินิก (clinical Guidelines)  แต่ที่เน้นความสำคัญคือความจำเพาะของการสัมผัสผู้ป่วยแต่ละครั้ง  ที่แต่ละครั้งไม่เหมือนกัน แม้ผู้ป่วยจะเป็นโรคเดียวกัน 

        แม้ว่าหลักสูตรนี้จะเป็นหลักสูตรทางการแพทย์ ที่มีหลักวิชาแม่นยำแน่นอน  แต่ในหลักสูตรนี้ไม่มีการสอนว่าการเยียวยาคืออะไร  มีแต่คำถามให้ นศ. สะท้อนความรู้สึกออกมาจากประสบการณ์ตรงของตนแต่ละประสบการณ์ 

          การเรียนรู้และเยียวยาแบบนี้ดำเนินต่อญาติผู้ป่วยด้วย  และดำเนินเคียงคู่ไปกับการศึกษาและบริการสุขภาพกระแสหลัก ที่เป็น quantitative approach  ในขณะที่การเยียวยาแบบนี้เป็น qualitative approach  ช่วยเติมเต็มให้แก่ระบบบริการสุขภาพ

           นศ. ที่มาฝึกที่ Institute for Health and Healing เป็น นศ. ปกติที่คณะวิชาของตนในมหาวิทยาลัย  จะนำความรู้จากประสบการณ์ที่ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อน นศ. และอาจารย์ และใช้ในการสอบของตน

           ผมเข้าใจว่า ผู้ป่วยที่มารับบริการแบบนี้มักเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง หรือเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย ดังที่ผมเคยไปดูงานและบันทึกไว้ ที่นี่  



วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 544878เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2013 13:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท