สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

รู้จักตัวเอง… สู่การเป็นเยาวชนที่ดี


                                     รู้จักตัวเองสู่การเป็นเยาวชนที่ดี

 

ผู้เขียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว  โครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.)  มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในกิจกรรมการอบรมมีการพูดถึง “สถานการณ์ปัญหาเด็กและเยาวชน”  โดยการให้ความรู้จาก อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส.  โดยเฉพาะในด้านการจัดการความรู้ของคนในชุมชน ให้สามารถร่วมมือแก้ปัญหาด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ

ประเด็นที่น่าสนใจและอยากนำมาเ่ล่าสู่กันฟังบนพื้นที่ Blog แห่งนี้คือ "การจัดการความรู้" ที่นำไปสู่การรู้จักตนเอง ที่จะำนำไปสู่การเป็นเยาวชนที่ดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ยาก ผู้ปกครองอาจลองไปใช้ักับลูก ๆ หลาน ๆ หรือเด็ก ๆ ที่บ้านได้ 

…………………………………….

                   


ปัญหาเด็กและเยาวชน อีกหนึ่งปัญหาที่มีความซับซ้อน และเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดและทั่วถึง ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะ “การเปลี่ยนแปลง” อย่างรวดเร็วของสังคมไทย และโลกซึ่งอาจจะเห็นชัดขึ้นจากการที่ประเทศไทยเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ.2558 ที่จะถึงนี้ ซึ่งแน่นอนว่าหากคนไทยไม่สามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเท่าทัน ก็จะทำให้มี สถานการณ์ปัญหาใหม่ๆ รวมถึงปัญหาเด็กและเยาวชนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ

ตัวอย่างหนึ่งของปัญหาของเด็ก อาทิปัญหาด้านการศึกษา ที่ในขณะนี้ เริ่มชัดแล้วว่า ธุรกิจด้านการศึกษาของประเทศสิงคโปร์กำลังจะมาตั้งโรงเรียนอนุบาลที่ประเทศไทย เป็นเหตุให้โรงเรียนอนุบาลทั้งหลายในไทย อาจต้องมีการปรับตัวตั้งรับกับการแข่งขัน เพื่อให้เด็กอนุบาลของไทยนั้นมีศักยภาพเช่นเดียวกับอนุบาลของสิงคโปร์ หรืออยู่ในภาวะที่ไม่เสียเปรียบได้ ซึ่ง ณ เวลานี้สังคมไทยก็ไม่ได้ก็ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาเหล่านี้สักเท่าไร แต่ทว่า หากเมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยก็อาจจะต้องหันกลับมาคิดแล้วว่าควรจะปล่อยให้เป็นแค่ “ปัญหาเด็กๆ” อีกต่อไปหรือไม่

หากจะมองปัญหาเด็กและเยาวชนให้ใกล้ตัวเข้ามา คงต้องย้อนกลับไปถามคนที่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน นั่นก็คือ ผู้เป็น “พ่อ” เป็น “แม่” รวมถึงคนที่เลี้ยงดูพวกเขาเหล่านั้นว่า “จริงไหม … ที่ในปัจจุบัน พ่อ แม่  มักตามลูกไม่ทัน” คือไม่รู้ความต้องการจริงๆ ของเด็ก จึงไม่สามารถปรับตัวเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเด็กอย่างเหมาะสมได้ ซึ่งเป็นที่คุ้นชินกันอยู่แล้วสำหรับในสังคมไทย หากลูกหลานมีพฤติกรรมที่ทำให้ไม่พอใจ พ่อ แม่ รวมถึงปู่ ย่า ตา ยาย และคนเลี้ยงดูคนอื่นๆ ส่วนมากอาจใช้การว่ากล่าว ดุด่า ซึ่งก็มักไม่ได้ผล เด็กส่วนมากก็ไม่ได้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปในทางที่ต้องการ ซึ่งจากกรณีเหล่านี้ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองในปัจจุบันอาจต้องย้อนกลับมาคิดว่า … วิธีคิดและทักษะการจัดการชีวิตแบบเดิม อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

  ซึ่งไม่นานมานี้ จากกระบวนการการลงพื้นที่ไปนิเทศและติดตามการทำงานของนักถักทอชุมชนในภาคอีสาน ณ พื้นที่ตำบล หนองอียอ จังหวัดสุรินทร์ โดยทีมงาน สรส. นำโดย อาจารย์ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ทำให้นักถักทอ รวมถึงผู้ปกครองเด็ก แกนนำเยาวชน และกรรมการชุมชน ได้เรียนรู้บทเรียนการจัดการความรู้ในชุมชนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ การรู้จักนำความรู้ที่ได้อบรมไปใช้เพื่อการแก้ปัญหาเด็ก และเยาวชน ผ่านกิจกรรมการเข้าไปคลุกคลีเล่นเกมส์กับเด็กและเยาวชนในชุมชน พร้อมกับการตั้งคำถามง่ายๆ กับเด็กเหล่านั้นว่า “อนาคตอยากเป็นอะไร” ต่อด้วยการให้เด็กเหล่านั้นวาดรูปและอธิบายถึงอาชีพในฝันเหล่านั้น

อาจารย์ทรงพล กล่าวว่า สำหรับผลที่ออกมานั้น พบว่าเด็กฝันอยากจะเป็นหลายอย่างทั้งตำรวจ ทหาร พยาบาล ครู ผู้พิพากษา  นักฟุตบอล หรือแม้กระทั่ง ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) รวมถึงรัฐมนตรีกลาโหม  ซึ่งค่อนข้างเหมือนกับสิ่งที่พบจากเด็กทั่วประเทศว่า “เด็กทุกคนมีความรักดีเหมือนกันหมด” เพราะไม่เห็นมีเด็กคนไหนเขียนหรือวาดรูปว่าอยากจะค้ายาเสพติด หรืออยากจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร บ่งบอกได้ว่า เด็กๆ ที่กำลังจะเติบโตนี้ คือต้นกล้าแห่งความดี ซึ่งหากต้นกล้าเหล่านี้ เป็นต้นกล้าที่ไม่ได้รับการรดน้ำ พรวนดิน หรือใส่ปุ๋ยที่ดีพอ ก็อาจมีแมลง หรือศัตรูพืชมาคอยแทะโลม โดยที่ผู้ใหญ่เราไม่ได้ป้องกัน”  

ดังนั้นวิธีการง่ายๆ จากกิจกรรมดังกล่าวนี้ ยังสามารถต่อยอด ให้ผู้ปกครองนำไปปรับใช้กับลูกหลานของตนเอง เพื่อสอนให้เขาเหล่านั้นได้รับประสบการณ์และความรู้ในด้านที่ดี พร้อมกับหลักคิดแบบมีเหตุ มีผลได้อีก อาทิ ภายหลังจากที่เด็กๆ วาดรูปอาชีพในฝันออกมาแล้ว ก็ให้เด็กๆ ได้วิเคราะห์ตัวเองต่อว่า “นิสัยของอาชีพที่ใฝ่ฝันจะต้องเป็นอย่างไร” แล้ว “ตนเองมีนิสัยอย่างไร” “ยกตัวอย่างนิสัยไม่ดีของตนเอง” พร้อมกับบอก “วิธีการจัดการนิสัยไม่ดีเหล่านั้น” ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และรู้จักตัวเองมากขึ้น เด็กๆ ก็จะอยากเปลี่ยนแปลงนิสัยไม่ดีด้วยตัวเองโดยไม่ต้องคอยให้ผู้ใหญ่หรือใครมาชี้ให้แก้ไข หรือทำตามความต้องการโดยที่เด็กไม่เต็มใจ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันอาจนำเกมส์เล็กๆ เช่นนี้ มาเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างหลักการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่เองจะได้เริ่มเรียนและศึกษาจากวิธีคิดของเด็ก ทำให้รู้จักนิสัยของลูกหลานตัวเองดีมากขึ้น  แล้วดูว่าเมื่อเด็กคิด มีอย่างไร มีความเป็นเหตุ เป็นผลอย่างไรไหม ซึ่งหากเด็กไม่สามารถหาเหตุผลมาตอบการกระทำได้ ก็แปลว่าเขาไม่ได้ใช้หลักคิด หรือหลักการนำความรู้มาใช้ ซึ่งจะเป็นผลไม่ดีต่อพวกเขาในอนาคต

หากปัญหาของเด็กส่วนใหญ่เกิดเพราะผู้ใหญ่ละเลย ปล่อยให้เด็กไปเรียนรู้ทิศทางการดำเนินชีวิตจากเพื่อน หรือ จากสื่อต่างๆ โดยที่พวกเขาเองก็อาจไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีและเหมาะสมกับวัยหรือไม่ ดังนั้น พ่อแม่ที่เห็นความสำคัญของลูกหลาน  ควรต้องรู้จักเอาใจใส่ และรู้จักช่วงชิงเวลาของเด็ก ให้กลับมาอยู่ในพื้นที่ๆ ของเด็ก เป็นพื้นที่ของวิชาชีวิตที่เด็กจะได้เรียนรู้จากพ่อ แม่ และคนใกล้ชิด ซึ่งเพียงการไปเรียนหนังสือให้จำ ก็อาจไม่มีประโยชน์เท่ากับการสอนให้เด็กได้รู้จักคิด รู้จักหาความรู้ รู้จักความอยากรู้ ในสิ่งที่เหมาะสม  ซึ่งจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ที่เด็กจะซึมซับไปใช้พัฒนาตนเองได้ เพราะปัญหาของเด็กในปัจจุบันหลากหลายและลึกซึ้งมาก หากจะรอแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อาจจะสายเกินไป เปรียบเหมือนการที่เด็กต้องต่อสู้กับศัตรู ซึ่งหากไม่มีการตั้งนายทัพ นายกอง ก็ไม่สามารถไปสู้กับคนอื่นได้  หากเด็กเด็กได้เรียนทั้งวิชาชีวิต วิชาชุมชน วิชาชีพ และวิชาการอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไป

++++++++++++++++++++++++++++++++++


คำสำคัญ (Tags): #scbf
หมายเลขบันทึก: 544816เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 สิงหาคม 2013 18:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีจังเลยครับ มีการถักทอที่ทรงความรุ้ในด้านการจัดการความรู้มากทีเดียว

ขอชื่นชมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท