Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ทบทวนแนวคิดในการจัดการงานวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐไร้สัญชาติใน พ.ศ.๒๕๔๗ - ๒๕๔๘


งานในปีที่ ๑ ของอาจารย์แหวว (พ.ศ.๒๕๔๗ – พ.ศ.๒๕๔๘)  

: เริ่มต้นวางแนวคิดและสร้างประชาคมวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151799624663834

-----------------------------------

(๑)  บทนำทางความคิด

-----------------------------------

ปีแรกของการวิจัยเป็นปีของการคิดและวางแผนงานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหา ซึ่งผู้วิจัยถือเป็นขั้นตอนแรกของกิจกรรมวิจัยเพื่อการพัฒนา  ด้วยความตั้งใจที่จะไม่ทำเพียงงานวิจัยเชิงเอกสาร หากแต่จะทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่สังคม  ผู้วิจัยจึงเห็นว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการทำงานวิจัยโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ มีอยู่ ๓ ประการด้วยกัน กล่าวคือ (๑) การสร้างประชาคมวิจัย (๒) การสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง และ (๓) การลงพื้นที่เพื่อทำงานกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา

-----------------------------------

(๒)  การสร้างประชาคมวิจัย

-----------------------------------

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการแรก  ก็คือ  “การสร้างประชาคมวิจัย”  เพื่อเป็นกลไกการวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ที่สังคมยอมรับได้ซึ่งความเป็นไปได้ ก็คือ สมาชิกของประชาคมนี้จะต้องประกอบไปด้วยคนจากทุกภาคส่วนของสังคม  ซึ่งผลลัพธ์ของการทักทอเครือข่ายคนทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจึงเริ่มต้นด้วยโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ นี้เอง

-----------------------------------

(๓)  การสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง

-----------------------------------

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการสอง  ก็คือ การสำรวจกฎหมาย แนวนโยบาย และวิธีปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้อง ด้วยงานวิจัยนี้เป็นงานด้านนิติศาสตร์ หัวใจสำคัญของงานจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตอบคำถาม ๓ คำถามหลัก กล่าวคือ (๑)  กฎหมายและนโยบายในเรื่องคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่ผูกพันประเทศไทยคืออะไร ? ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงกฎเกณฑ์ (Normative Legal Science or Legal Science Proper) นั้นเอง (๒) คนในลักษณะใดจึงจะประสบความไร้รัฐความไร้สัญชาติ ? ตลอดจนผลของการตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติคืออะไร ? ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงข้อเท็จจริง (Legal Science of Fact) นั้นเอง และ (๓) กฎหมายและนโยบายที่ใช้ต่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาตินั้นมีความยุติธรรมและเป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามในเชิงนิติศาสตร์เชิงคุณค่า (Legal Science of Value) นั้นเอง เราตระหนักได้ว่า แม้คนในประชาคมวิจัยฯ จะมีใจและความรู้ แต่หากเราไม่ทราบว่า อะไรคือสาเหตุของปัญหา ? เราก็ไม่อาจนำกฎหมายและนโยบายไปแก้ไขส่วนใดของปัญหา หรือหากเราไม่ทราบว่า กฎหมายและนโยบายเป็นตัวสร้างปัญหา เราก็อาจจะเอากฎหมายและนโยบายที่มีปัญหาไปสร้างทุกขภาวะแก่สังคมมากขึ้นไปอีก การเชี่ยวชาญและรอบรู้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องจึงเป็นสิ่งที่นักวิจัยจะต้องทำให้ได้

-----------------------------------

(๔)  การลงพื้นที่ทำงานกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา

-----------------------------------

ปัจจัยสำคัญในโครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯในประการที่สาม  ก็คือ การลงพื้นที่เพื่อทำงานกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา ดังนั้น ผู้วิจัยจะต้องค้นหาให้พบชุมชนในประเทศไทยที่มีคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐ เราคงตระหนักได้ว่า แม้จะมีประชาคมวิจัยที่เข้มแข็ง และแม้จะเชี่ยวชาญในกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง แต่หากเราหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติไม่พบ งานวิจัยเพื่อพัฒนาก็จะไม่มีประโยชน์อันใด การลงจากหอคอยงาช้างเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในสังคม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราคงสร้างสรรค์กฎหมายและนโยบายที่ดีไม่ได้ หากเราไม่อาจทดสอบประสิทธิผลของกฎหมายและนโยบายได้ การค้นพบชุมชนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ก็คือ การค้นพบ “ห้องทดลองทางสังคม” และเมื่อการทดลองทางสังคมได้เกิดขึ้น สูตรสำเร็จในการจัดการปัญหาย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน[1] 

-----------------------------------

(๕)  บทสรุปการทำงานในปีแรกของการทำงานวิจัย

-----------------------------------

จะเห็นว่า งานพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ จึงเป็นชุดความรู้ ๓ ส่วน  และผู้วิจัยย่อมจะต้องดำเนินงานสร้างและพัฒนาเครือข่ายการทำงาน ซึ่งเป็นงานที่ ๑ ให้คู่ขนานไปกับงานที่ ๒ กล่าวคือ งานสำรวจกฎหมายและแนวนโยบาย และงานที่ ๓ กล่าวคือ งานสำรวจชุมชนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเพื่อค้นหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเจ้าของปัญหา

เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาสถานการณ์ด้านการพัฒนาองค์ความรู้ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ นั้น สิ่งที่เด่นที่สุด น่าจะได้แก่ การสร้างประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอาสาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวิจัย โดยเฉพาะคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาเอง แม้ว่าผู้วิจัยจะค้นพบ “สูตรการทำงาน” เพื่อการจัดการปัญหาแล้วบ้างในช่วงปีนี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจน และไม่มั่นใจในประสิทธิผลของสูตรการทำงานนี้

ผู้วิจัยตระหนักว่า สูตรการทำงานการจัดการเพื่อการนี้จะต้องประกอบไปด้วยงาน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) งานสำรวจจุดเกาะเกี่ยวระหว่างมนุษย์กับรัฐ (๒) งานกำหนดสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ที่ประสบปัญหา และ (๓) งานพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ดังกล่าว 

เมื่องานที่ตั้งใจจะทำ ก็ยังไม่สำเร็จดังหวัง จึงต้องมีความจำเป็นที่จะต้องขยายกำหนดเวลาที่ทำงานวิจัย ออกไปทำในปีถัดไป ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เห็นชอบ



[1] ในขั้นตอนการทำงานในช่วงนี้เองที่ใช้เวลาอย่างมาก แม้ในเวลาที่ผู้วิจัยตัดสินใจปิดรายงานการวิจัยฉบับนี้ ผู้วิจัยก็ตระหนักว่า การทดลองทางสังคมเพื่อใช้องค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาคนไร้รัฐไคนไร้สัญชาติก็ยังต้องดำเนินต่อไป เพื่อปรับปรุงกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับปัญหาความไร้รัฐรัฐไร้สัญชาติที่เกิดแก่มนุษย์ในสังคมไทย


หมายเลขบันทึก: 544039เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 23:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...ในทางนิติศาสตร์เป็นเรื่องของตัวบทกฏหมายที่มีความชัดเจน...แต่เมื่อมีความเกี่ยวโยงกับหลักมนุษยธรรมที่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเข้าใจยากนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท