เด็กที่เรียนกวดวิชามาก การเรียนรู้ทักษะประยุกต์ใช้ความรู้ต่ำ



          ในการประชุมวิชาการระหว่างประเทศ เรื่อง “การศึกษาเพื่ออนาคตของประเทศไทย” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  เมื่อเช้าวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๕๖  ช่วงที่ว่าด้วยเรื่อง ผลการประเมิน PISA ในประเทศไทย ดร. ปรีชาญ เดชศรี แห่ง สสวท. บอกว่า ผลการวิเคราะห์ผลการทดสอบ PISA ของนักเรียนไทย ได้ผลออกมาชัดเจน แต่ท่านไม่กล้าพูดให้สาธารณชนรับรู้อย่างกว้างขวาง ว่าในกลุ่มเด็กที่กวดวิชามาก ผลการสอบ PISA ได้คะแนนต่ำ


          ผมแปลกใจ ว่าทำไมท่านไม่ออกมาบอกสังคมให้รับรู้กันอย่างกว้างขวาง  เพราะนี่คือความจริงจากผลการวิจัย  และความรู้นี้จะช่วยยืนยันต่อพ่อแม่ และนักเรียนที่ไม่ต้องการไปกวดวิชา  ว่าการกวดวิชาไม่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ที่แท้จริง


          ผมตีความว่า เพราะการกวดวิชาเป็น teach for test  ไม่ใช่การเรียนรู้ที่แท้จริง  แต่ PISA วัดการเรียนรู้ที่แท้จริง  คือข้อสอบ PISA เป็นข้อสอบที่โจทย์เน้นการเอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน   คนที่ทำโจทย์ได้คือคนที่เรียนรู้ลึกในระดับนำความรู้ไปแก้ปัญหาได้


          ผลการวิเคราะห์รายละเอียดของผลการสอบ PISA ของเด็กไทย  ตามที่ ดร. ปรีชาญ บอก  เป็นหลักฐานหนึ่งที่บอกเราว่า การเรียนกวดวิชาไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี ตามแนวทางของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑



วิจารณ์ พานิช

๒๓ มิ.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 543989เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะคุณหมอ  ถ้าผลการวิจัยเป็นแบบนี้จริงก็ควรบอกสังคมให้รับรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะค่ะ 

ผมเดาว่าท่านกลัวว่าถ้าเปิดเผยออกไปจะทำให้ท่านกลายเป็นศัตรูของธุรกิจกวดวิชาซึ่งมีอยู่เยอะมากในประเทศไทยและจะทำให้ชีวิตของท่านลำบากครับ แต่ผมอยากเป็นกำลังใจให้ ดร.ปรีชาญ เดชศรี เผยแพร่ข้อมูลนี้แก่สาธารณชนนะครับ ที่จริงแล้วถ้าจัดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการได้จะดีมากทีเดียวครับ ผมเชื่อว่าความกล้าหาญในการเปิดเผยนี้เปรียบเหมือนท่านเป็นวีรบุรุษด้านการศึกษาของไทยทีเดียวครับ

สสวท. ทำวิจัยร่วมกับนานาชาติ เช่น IEA  (วิทย์ คณิต)  และ  PISA (คณิต วิทย์ ภาษา ไม่แน่ใจว่าเป็น ของ OECD หรือไม่)

มานานต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 ปี  ซึ่งเป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลทุกแง่มุม ใช้ตัวอย่างทั่วประเทศ ใช้  research design เดียวกันกับนานาชาติที่เข้าร่วมวิจัย แปลกแต่จริงไม่เห็นผลการวิเคราะห์ที่เชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผลระหว่างตัวแปรเหล่านั้นอย่างลึกซึ้งที่เผยแพร่ออกมาโดย สสวท. เลย อาจเผยแพร่ในที่ประชุมตามโอกาส แต่สาธารณชนไม่มีโอกาสอ่านมากนัก ผิดกับทางยุโรปและอเมริกา งานวิจัยเสร็จแล้ว เผยแพร่แล้ว ก็ยังมีนักวิจัยที่สนใจขอใช้ข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์ในประเด็นต่าง ๆ หลังจากนั้นอีกหลายปีตีพิมพ์ใน journals ถ้า สสวท เปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูลแก่นักวิจัยทั่วไป จะเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อีกมาก ลงทุนไปเยอะน่าจะใช้ข้อมูลให้คุ้มค่า

ขณะนี้ สสวท กำลังทำข้อสอบที่เหมือนกับพิซ่า (PISA-liked test) เพื่อสอบเด็กทั่วประเทศ เหมือนเป็นการซ้อมไว้เพื่อพิชิตข้อสอบ PISA รอบใหม่ หวังว่าคงเป็นผู้นำในการปฏิรูปการสอน การสอบเพื่อการเรียนรู้จริงและทำข้อสอบได้ เบื้องต้นเลยตำราเรียน เพิ่มคำถามแบบ PISA แล้วหรือยัง

 

  • เมื่อวานผมอ่านบทความที่อาจารย์หมอแนะมาทางบันทึก มีอยู่ข้ออ้างหนึ่งคือ "พูดมากก็โดนความผิดทางวินัย" 
  • น่าเสียดายที่ความจริงไม่ถูกเปิดเผยครับ 

แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ก็พอมีนะคะ แต่ค่อนข้างน้อยและช้านานกว่าจะเห็นผลว่า การเรียนกวดวิชาไม่ได้ช่วยเรื่องการเรียนรู้แต่ช่วยให้ทำข้อสอบได้ ถ้าบ้านเรายังใช้วิธีการสอบแบบเดิมๆเพื่อคัดเลือกคนเข้าเรียน วัดความรู้ประเมินการเรียน ก็คงยากที่จะให้ผู้ปกครองเชื่อว่าการกวดวิชาไม่ใช่สิ่งที่ควรสนับสนุน เท่าที่เห็นในปัจจุบันก็คือ เห็นคนอื่นเรียน กลัวว่าจะเรียนไม่ทันเพื่อน นั่นคือคิดแข่งกันเอง วิ่งตามกรอบ มากกว่าคิดถึงวิธีการและผลการเรียนรู้ ไม่ได้เรียนเพื่อพัฒนาตนเอง แต่เรียนเพื่อให้ทันคนอื่น ทัศนคติของผู้ใหญ่ก็ทำให้เด็กๆต้องเดินไปตามกรอบความคิดเดิมๆด้วย พ่อแม่ต้องเข้มแข็งเข้าใจและชี้แนะพูดคุยกับลูกให้ได้ค่ะ ประสบการณ์ตรงของตัวเองคือ ลูกไม่ต้องเรียนพิเศษ เราไม่ได้สอนอะไรพิเศษ แต่ลูกเรียนรู้ด้วยตัวเองว่าอะไรควรเรียน อะไรควรรู้เพื่อสอบ ลูกสองคนโตเคยไปแอบเข้าเรียนพิเศษกับเพื่อนดู แล้วก็มาวิเคราะห์ให้ฟังว่า การเรียนพิเศษคือการสอนเข้มข้นเพื่อสอบ ต้องท่องจำสูตร วิธีคิดต่างๆ เมื่อพบโจทย์ที่ไม่เคยเรียนมาก่อนก็มัวแต่ทบทวนหาสูตรว่าเข้ากับอันไหน แทนที่จะคิดถึงปัญหาจริงๆ ลูกบอกว่าโจทย์ต่างๆนั้น เราคิดเองได้ แต่อาจจะนานกว่าการที่เรารู้สูตร หรือจำลักษณะโจทย์ไปเลย สรุปว่า ระบบการเรียน การสอบของเรานี่แหละค่ะ ปัญหาใหญ่ที่ทำให้การกวดวิชากลายเป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท