"วงจรชีวิตของนวัตกรรม" (Innovation Lifecycles)


องค์กรส่วนใหญ่  มักใช้ความสำเร็จในอดีตที่ตนเองเคยทำได้ มากำหนดเป็นวิธีการและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตขององค์กร  แต่บ่อยครั้งก็มักทำให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกับความต้องการใหม่ๆของตลาด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมไปถึงโอกาสใหม่ๆที่องค์กรพึ่งให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้นวัตกรรมแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Innovations) และทำให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน  

เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นความสำคัญของ วงจรชีวิตของนวัตกรรม (Innovation Lifecycle) มากขึ้น (ภาพประกอบที่ 1)  ขอยกตัวอย่างวงจรชีวิตของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นกับเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งเกิดเป็นนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดครั้งแรกตอนที่มีผู้คิดค้นเครื่องพิมพ์ดีดออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรกได้สำเร็จ  แต่ต่อมาบริษัท IBM (เป็นผู้ที่อยู่นอกวงการเครื่องพิมพ์ดีด) ก็สามารถทำให้เกิดนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดมาแทนที่เครื่องพิมพ์ดีดแบบเดิมด้วยการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าที่มีความสามารถเหนือกว่าออกมาจำหน่ายในช่วงระยะเวลาต่อมา   แต่แล้วด้วยวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี Computer กับ Printer และ Software ใหม่ๆ  (เริ่มตั้งแต่ Word Processor เปลี่ยนไปเป็น Microsoft word 2008 ในปัจจุบัน) ก็ทำให้ธุรกิจเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าของบริษัท  IBM ต้องตกยุคและหายไปจากวงการในที่สุด  


                                           

ภาพประกอบที่ 1 - ตัวอย่าง วงจรชีวิตของนวัตกรรมที่เกิดขึ้นกับ เครื่องพิมพ์ดีด จนกลายไปเป็น Printer


ข้อควรระวัง

เพื่อเป็นการป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจทำให้ สินค้าหรือบริการ ที่ท่านดำเนินการอยู่ต้องตกยุคไป เหมือนกับเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้าของ IBM  (หรือเหมือนกับม้วนเทปวีดีโอ ที่ถูกแทนที่ด้วยแผ่น VCD และ DVD)    ทุกองค์กรก็ควรต้องให้ความสำคัญและสนใจกับเรื่องของภัยคุกคาม(Threats) ที่มากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและโอกาสใหม่ๆ(Opportunities) ที่เกิดขึ้นกับทุกๆธุรกิจตลอดเวลา  

จากภาพประกอบที่ 2 จะเห็นว่า  S-Curve คือวงจรชีวิตของนวัตกรรมในตลาดเดิม (เช่นเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า)  ส่วน New S-Curve คือวงจรชีวิตของนวัตกรรมในตลาดใหม่หรือธุรกิจใหม่ (เช่นเครื่อง Printer และ Computer Software แบบใหม่ๆ) ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าถ้าหากองค์กรใดที่พัฒนาสินค้าหรือบริการเดิมๆของตนเองในแบบค่อยเป็นค่อยไปเพียงอย่างเดียว (หรือที่เรียกว่าเป็น Incremental Innovation)  ในระยะยาวธุรกิจคงไม่สามารถยืนอยู่ได้ เนื่องจากขาดสินค้าหรือบริการในรูปแบบใหม่ๆ  ดังนั้นทุกๆองค์กรก็ควรต้องมีความพยายามในค้นหานวัตกรรมที่เป็นแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Innovation) เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ๆหรือธุรกิจใหม่  ซึ่งอาจต้องใช้วิธีการคิดแบบนอกกรอบ(Out of the Box)เข้ามาช่วย  การคิดนอกกรอบในที่นี้หมายถึง กล้าคิด กล้าทำ กล้าลงทุนในสิ่งใหม่ๆที่ตนเองไม่เคยทำมาก่อน เพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่แตกต่างไปจากเดิม และเป็นสิ่งที่ลูกค้ากำลังมองหาอยู่ (เช่น รถยนต์ที่ไม่ต้องใช้น้ำมัน หรือ โทรศัพท์มือถือที่สามารถใช้พลังงานแสงอาทิตย์ได้ เป็นต้น )

          

                  ภาพประกอบที่2 - วงจรชีวิตของนวัตกรรมในตลาดเดิมและตลาดใหม่


กลยุทธ์ในการลงทุนด้านนวัตกรรม

ทุกๆองค์กรควรต้องมีกลยุทธ์ในการเลือกลงทุนด้านนวัตกรรมให้เหมาะสมกับ สถานการณ์และความจำเป็นของธุรกิจอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีความยั่งยืน ซึ่งในที่นี้อาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ แบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental innovation)  และแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Innovation)  แบบค่อยเป็นค่อยไปหมายถึง การพัฒนาปรับปรุงคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการต่างๆที่มีอยู่ให้แตกต่างไปจากเดิมเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนไฟหน้าและไฟท้ายสำหรับรถยนต์แต่ละรุ่นของแต่ละยี่ห้อ หรือ เช่นการพัฒนาโทรศัพท์มือถือให้สามารถถ่ายรูปได้ ดูหนังฟังเพลงได้ เล่น MP3 ฟังวิทยุและดูทีวีได้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเพิ่มยอดขายและรักษาส่วนแบ่งการตลาด เป็นหลัก  ส่วนกลยุทธ์ในการลงทุนด้านนวัตกรรมแบบก้าวกระโดดนั้นจะมุ่งเน้นให้เกิดการคิดค้นรูปแบบของสินค้าหรือบริการใหม่ๆที่สามารถสร้างคุณค่า(Value)ให้กับลูกค้า(ในระดับโลก) หรือ สามารถนำมาใช้ทดแทนสินค้าเดิมได้ดีกว่า เช่น การคิดค้น Laser Jet Printer มาใช้แทน เครื่องพิมพ์ดีด  หรือ การคิดค้นเสื้อยืด Nano ออกมาจำหน่ายเป็นครั้งแรก เป็นต้น  โดยแต่ละองค์กรสามารถเลือกใช้กลยุทธ์ในการลงทุนด้านนวัตกรรมที่แตกต่างกันไป(ต่างกรรมต่างวาระ) แต่โดยทั่วไปแล้วองค์กรที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งและองค์กรที่กำลังเติบโต ก็มักใช้กลยุทธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental innovation) เพื่อหาทางเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งการตลาดในสินค้าหรือบริการเดิมที่มีอยู่เป็นหลัก ส่วนองค์กรที่เติบโตเต็มที่แล้ว ก็มักต้องใช้กลยุทธ์ทั้งสองแบบคือ แบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental innovation) และแบบก้าวกระโดด (Breakthrough Innovation) ควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาตัวเลขของกำไรและความพึงพอใจของลูกค้า (ไม่ใช่ต้องการเพิ่ม Market Share)  พร้อมไปกับการมองหาธุรกิจใหม่ๆในอนาคต เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง  :  คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์    



คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 543986เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

 

..... ขอบคุณ บทความดีดีนี้ค่ะ  .... "วงจรชีวิตของนวัตกรรม" (Innovation Lifecycles)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท