ตีกลองย่ำค่ำ ย่ำทำไม?


ปัจจุบันหลายวัดได้เลิกตีกลองย่ำค่ำในช่วงเข้าพรรษา ในหลายท้องที่ การตีกลองย่ำค่ำจึงอาจหาฟังได้ยากหรือหาฟังไม่ได้อีกแล้ว


ในช่วงเข้าพรรษากาล เมื่อคณะสงฆ์วัดคุ้งตะเภาได้ทำวัตรเย็นจบแล้ว จะทำการตีกลองย่ำค่ำเพื่อแผ่กุศลและบอกเวลา โดยเป็นประเพณีที่สืบทอดมากว่าสองร้อยปี โดยเดิมนั้นประเพณีนี้มีอยู่ทั่วไปตามวัดในแถบชนบท แต่ด้วยการเข้ามาแทนที่ของนาฬิกา และการมองข้ามจารีตอันงดงามของวิถีไทย ทำให้ในปัจจุบันหลายวัดได้เลิกตีกลองย่ำค่ำ และอาจหาฟังได้ยากในปัจจุบันแล้ว

--------ย่ำค่ำ มาจากไหน มาอย่างไร--------

การตีกลองย่ำค่ำนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบอกเวลา เป็นวิถีปฏิบัติของวัด-วัง มาช้านาน โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายว่าการตีย่ำค่ำเป็นจารีตวังแต่โบราณเพื่อเป็นการบอกเวลาและทำการผลัดเปลี่ยนเวรยาม ที่ได้มาจากอินเดียตั้งแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า "ทุ่ม-โมง" โดยวัดซึ่งอยู่ในฐานะศูนย์กลางของชุมชน ก็ได้ถือวิถีปฏิบัติการตีกลองตีระฆังในช่วงเวลาต่าง ๆ มาช้านาน เพื่อบอกเวลาสำหรับปฏิบัติศาสนกิจของคณะสงฆ์ และเป็นการบอกเวลาในแต่ละช่วงของวันแก่ชุมชนโดยรอบเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ การตีกลองบอกเวลาในวังได้เลิกปฏิบัติไปนานแล้ว แต่ในวัดต่าง ๆ ยังคงปฏิบัติสืบทอดมาอยู่ ทว่าสิ่งที่น่าเสียดายคือ ในปัจจุบันหลายวัดได้ละเลยการ "ตีกลองย่ำค่ำ" หลังทำวัตรเย็นไปแล้ว เนื่องจากอาจจะด้วยความไม่ทราบจารีตปฏิบัติ การขาดการสืบต่อ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของครูบาอาจารย์แต่โบราณ ที่ให้มีการย่ำค่ำ เพื่อเป็นการ "แผ่กุศล" แก่บรรดาศรัทธาวัด ให้ได้ร่วมอนุโมทนากับการปฏิบัติกิจของพระสงฆ์ ทำให้ในปัจจุบันหลายวัดได้เลิกตีกลองย่ำค่ำในช่วงเข้าพรรษา ในหลายท้องที่ การตีกลองย่ำค่ำจึงอาจหาฟังได้ยากหรือหาฟังไม่ได้อีกแล้ว

--------วิธีย่ำค่ำอย่างคุ้งตะเภา--------

การตีกลองย่ำค่ำของพระสงฆ์วัดคุ้งตะเภา มีรูปแบบคล้ายคลึงกับการตีกลองย่ำค่ำของวัดในแถบภาคกลาง โดยสืบทอดธรรมเนียมการตีย่ำค่ำนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ก็มีรูปแบบเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบหัวเมืองเหนือ

คือทุกวันในช่วงเข้าพรรษากาล เมื่อถึงเวลาแสงตะวันพลบค่ำ ประมาณ ๑๘.๓๐-๑๙.๐๐ น. พระสงฆ์วัดคุ้งตะเภาจะทำการตีกลองตีระฆังย่ำค่ำ โดยมีจังหวะตีกลองและระฆังประสานเสียงกัน เริ่มที่พระสงฆ์รูปหนึ่งตีระฆังรัว ๑ ลา (ลา มาจากการรัวกลองหรือระฆังจนข้อมือล้า) เพื่อเป็นการเริ่มต้นย่ำค่ำ จบแล้ว พระสงฆ์อีกรูปหนึ่งเริ่มตีกลอง ๒ ลูก สลับลูกซ้ายและขวาลูกละ ๘ ครั้ง (ตะ-ลุ่ม-ตุ่ม-ตุ่ม ตุ่ม-ตุ่ม-ตุ่ม-ตุ่ม) โดยอีกรูปคอยตีระฆังพร้อม ๆ กับกลองในจังหวะตุ่มที่สองสลับกันไป จากนั้นก็จะเร่งจังหวะเร็วขึ้น ต่างรูปต่างรัวจนรัวไม่ไหว จึงเป็นอันว่าเสร็จ ๑ ลา และจะต้องตีเช่นนี้อีก ๒ ลา รวมเป็น ๓ ลา และจบท้ายโดยตีกลองและระฆังพร้อมกันอีกตามจำนวนค่ำ โดยกำหนดครั้งจากวันข้างขึ้นข้างแรมเท่าใด เป็นการประกาศแผ่กุศลของพระวัดคุ้งตะเภา

โดยผู้ที่อยู่ทางบ้าน หรือไกลออกไป เมื่อได้ยินเสียงกลองย่ำค่ำ ก็จะยกมือขึ้นประนมจบศีรษะอนุโมทนาบุญ เป็นวิถีปฏิบัติที่มีมาช้านาน และในจำนวน ๙ วัด ในตำบลคุ้งตะเภา คงเหลือเพียงวัดคุ้งตะเภาเพียงแห่งเดียวที่ยังคงถือปฏิบัติการตีกลองย่ำค่ำอยู่ และสืบทอดมานานกว่า ๒๔๓ ปี


อุโบสถวัดคุ้งตะเภา

หมายเลขบันทึก: 543768เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เสียงกลองคล้าย การตีกลองออกศึก ดังในคืนก่อน และเช้าตีสาม ของวันพระ ดังมาจากหมู่บ้านใกล้วัดที่ริมโขง ยังคงเป็นประเพณีที่ผมชื่นชม และสร้างศรัทราให้กับเรา ในวันสำคัญทุกวันพระ และทุกๆครั้งที่ผมได้ยิน .............:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท