เรื่องเล่าเขารูปช้าง อ. เมือง จ. สงขลา


เรื่องเล่าเขารูปช้าง  อ. เมือง  จ. สงขลา


ย้อนอดีตไปยังถิ่นเดิมของคนเขารูปช้าง  อ. เมือง  จ. สงขลา  เดิมมีหมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ชื่อบ้านในบ้าน , บ้านสวนขี้กวาง , บ้านสวนเจ้ากล้อง ( เดิมบ้านเหล่านี้อยู่ในบริเวณ ม. ทักษิณ ) บ้านโคกปรักแรด ( เดิมอยู่บริเวณ ม. ราชภัฏสงขลา ) ห่างไกลออกไปได้แก่บ้านสะพานยาวและบ้านยวน 


  สำหรับบริเวณหน้าพ่อทวดช้างอยู่ในเขตหมู่ที่สอง  ในปัจจุบัน  เดิมเป็นป่ารกมาก  มีสัตว์นานาชนิด  เช่น  เสือโคร่ง  แรด  หมูป่า  กวาง  ฯลฯ  ต้นไม้ใหญ่มี  ต้นตะเคียน  ต้นแค  และไข่เน่า  ฯลฯ  ไม่มีใครกล้าเข้าไปในบริเวณนี้


ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4  นายบุญสังข์  ณ สงขลา  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาวิเชียรติคีรี มีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการปกครองเมืองสงขลาและได้เป็นประธานรวมศรัทธาชาวสงขลาสร้างองค์เจดีย์ประจำเมืองสงขลาขึ้นบนยอดเขารูปช้าง  เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง  ก่ออิฐถือปูน  ซึ่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 52  ตอนที่  75  ลงวันที่  8  มีนาคม  พ.ศ. 2478  พระเจดีย์ดังกล่าวเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวสงขลาและที่ใกล้เคียงพร้อมกับจัดงานทำบุญทุกปีเป็นประจำดังปรากฏมาจนถึงปัจจุบัน


  สำหรับเรื่องเล่าเกี่ยวกับองค์พระเจดีย์อันศักดิ์สิทธิ์นี้มีว่าชาวบ้านหลายคนมักจะเห็นดวงไฟ 2 ดวงลอยออกจากองค์เจดีย์แล้วมาตกลงที่ต้นเลียบซึ่งอยู่ตีนเขารูปช้างนั้น  ดวงไฟกลมโตสองดวงนี้เท่าศีรษะมนุษย์ผู้ใหญ่มักเกิดยามค่ำคืนในวันพระขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ  ( นายนำ แก้วคีรี อายุ 77 ปี พ.ศ. 2556 บ้านอยู่หลังตึกคณะมนุษย์ ฯ ม. ทักษิณ คือหนึ่งคนในผู้เห็นดวงไฟนี้เล่าให้ฟังช่วงที่อายุยังเด็กจนเป็นผู้ใหญ่สมัยยังไม่มีไฟฟ้าใช้อย่างปัจจุบัน) คาดว่าในอนาคตคงได้เห็นการพัฒนาเส้นทางขึ้นสู่ยอดเขารูปช้างนี้อย่างเป็นรูปธรรม  เพราะในปัจจุบันมีเพียงการสร้างบันใดขึ้นไปยังไม่ถึงยอดเขา  ผู้ที่ต้องการขึ้นไปกราบไหว้องค์พระเจดีย์ต้องปีนป่ายขึ้นไปตามเนินเขาที่สูงชันดังกล่าว 


 

สำหรับพ่อทวดช้างอันเป็นที่มาของชื่อภูเขาลูกนี้มีเรื่องเล่าว่า  พญาหลักเก้านำบริวารมาจากเมืองทางใต้ไม่ทราบว่ามาจากเมืองใด  ด้วยมีจุดหมายว่าจะนำทรัพย์สมบัติไปร่วมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์แห่งเมืองนครศรีธรรมราช  พอมาพักไพร่พล  ณ ที่ตรงนี้เกิดลมพายุใหญ่จึงไม่สามารถเดินทางต่อไปได้และช้างสองเชือกชื่อพลายแก้วและแม่พังงาก็มาตายลงตรงบริเวณนี้ พร้อมกับบังดอเลาะห์และบังสม ซึ่งนายครวญช้างก็ตายด้วย  พญาหลักเก้าจึงได้ฝังช้างและนายครวญช้างพร้อมกับทรัพย์สมบัติในบริเวณนั้น  พร้อมกับสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในถิ่นนั้นมาจนล่วงลับไป  ต่อมามีหินสองก้อนผุดขึ้นมามีรูปคล้ายช้างสองเชือกที่ตายในบริเวณนี้  ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพ่อทวดช้างคือพ่อพลายแก้วและแม่พังงา  จึงได้นามเรียกขานบริเวณนี้ว่า  บ้านเขารูปช้าง  ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ชาวบ้านทำพิธีบูชาทวดเขารูปช้างช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี  เพราะมีอภินิหารปรากฏแก่ผู้ศรัทธามากประการ  เล่าขานกันมาในชุมชนเขารูปช้างนี้มาจนถึงปัจจุบัน  เช่นเรื่องเล่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สองชาวบ้านชุมชนแถบนี้อยู่รอดปลอดภัยเพราะอาศัยบารมีองค์พระเจดีย์บนเขารูปช้างและพ่อทวดเขารูปช้างนั้น  ช่วงเดือนมิถุนายนและต้นเดือนกรกฎาคม  2556 นี้  ผู้เขียนได้นำนิสิตขึ้นไปศึกษาเรียนรู้ถึง 3 ครั้งคือกลุ่มนิสิต ป. โท  สาขาวิชาไทยคดีศึกษา  และนิสิต ป. ตรี  ที่ลงเรียนวิชาเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา  รวมแล้วประมาณเกือบ 200 คนได้  พวกเราขึ้นบันไดไปตามเส้นทางที่รกมากไปเรียนตามธรรมชาติออกภาคสนามเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยนั้นแล. 

...................................

ขอขอบพระคุณข้อมูลบางส่วนได้จาก  ตำนานพ่อทวดช้างและพระเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์  รวบรวมโดย...พันโทสนิท  สุขกระจ่าง.


หมายเลขบันทึก: 543132เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 19:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ตรงก้อนหินก้อนใหญ่ ตรงอาจารย์ยืนนะครับ

ตรงนี้ผมใช้เป็นที่รับน้อง  สมัยก่อนมีบ้านวิภาฯ อยู่ข้างล่างด้วย

ผมเดินวนไปวนมาบนเขาลูกนี้หลายรอบ เดินไปจนถึงเก้าเส้งเลยครับ

ขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

นึกถึงความหลัง ปี 2517 ทันที 

อดีตเคยศึกษาที่นี่ครับ

ขอบคุณมาก ๆ

สวัสดีครับ  อ. ดร. ขจิต  ฝอยทอง

เล่าไว้กันลืมนะครับ  อิ อิ

ยังคงมีนิสิตบางสาขาวิชาขึ้นไปรับน้องตรงนี้อยู่ครับผม

สวัสดีครับ  คุณประทีป

ดีครับได้รู้ว่าเป็นศิษย์เก่าที่นี่  คณะมนุษย์ ฯ เองพึ่งจัดงานระดมศิษย์เก่าไปไม่นานนี้เองละครับผม

 

ท่านอาจารย์เล่าเป็นตำนานได้น่าสนใจมากๆ ค่ะ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ นี้นะคะ

สวัสดีครับ  คุณอร

พอดีว่าอยู่ในพื้นที่และสอนทางด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น  จึงนำเนื้อหาในท้องถิ่นมาบันทึกไว้กันลืมครับ...อิ อิ

ป่ายังสมบูรณ์อยู่เลยนะคะ

สวัสดีครับครับ  คุณ kunrapee 

ยังร่มรื่นสบาย ๆ ครับในท้องถิ่นภาคใต้บ้านเรา

 

 

 

สวัสดีครับ อาจารย์ ผมเคยเป็นอตดีตนิสิต มศว.สงขลาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 2535 รุ่นพี่เคยพาผมและเพื่อนๆที่คณะฯ ไปทำกิจกรรมรับน้องครับ สนุกมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท