Feedback หลังการเรียนหลักสูตร Systems Thinking


              

 กระบวนคิดอย่างเชื่อมโยง  เป็นพื้นฐานสำคัญของคนทำงาน  ผมเองเชื่อในโมเดล  “หัวใจนักปราชญ์”  ว่าในนั้น คือพื้นฐานของการเรียนรู้ที่สำคัญ  หากใครก็ตามได้ฝึกฝน ทักษะทั้ง 4 ด้าน  สุ  จิ ปุ ลิ  อย่างประจำสม่ำเสมอ  ความคิดอ่านก็จะค่อยๆ แคล่วคล่องว่องไว่  และแหลมคม ยิ่งขึ้น   ซึ่ง  System Thinking ในครั้งนี้  มันช่วยเสริมเรื่อง  จิ จิตตะ มากพอสมควร  

  เหตุปัจจัย  นั้น ย่อมต่างจาก เหตุและผล  ที่คนทั่วไปรู้จัก  การเชื่อมโยงของสรรพสิ่งนั้นมีมากมายเหลือเกิน  และมีพลังทั้งบวก และลบซ่อนอยู่ในนั้นมากมาย  เพียงแต่เรายังไม่เก่งพอที่จะมองเห็นมัน  เมื่อเราไม่เห็น ไม่เข้าใจ  เราก็ย่อมเอะอะ มะเทิ่ง ว่าไม่สมเหตุ สมผล  ผมเห็นว่า  Systems Thinking นั้น  เป็นแนวทางแห่งการทำความเข้าใจ  เหตุปัจจัย  ที่เกี่ยวข้องกัน 

  ผมเองก็ไม่ต่างจากคนส่วนใหญ่  ที่ร่ำเรียนมา ถูกปลูกฝังวิธีคิดเพียงแบบ เหตุและผล  ยึดโยงทุกสิ่งด้วยตรรกะ  การเป็นมาเช่นนี้อย่างนานวัน  หล่อหลอมเราคุ้นชินกับสิ่งที่ตนเองได้ฝึกพรือมา  ทำให้ใจ หรือจิตของเราไม่ละเอียด  มองความเชื่อมโยงไม่ค่อยออก  ซึ่งนี้คือ ความท้าทาย ที่ต้องสู้กับมันและมันอยู่ในตัวเราเอง   ตอนนี้เลยพยายามฝึกตัวเองใหม่  ให้มองความเชื่อมโยงในมิติที่ละเอียดขึ้น  แต่ก็ต้องให้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไรจึงจะดีขึ้น

  ครั้งนี้ อ.ชัยวัฒน์ ได้สอนเราหลายอย่าง  สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตา  ให้ฝึกเชื่อมโยงไปให้ถึงรากที่มา ที่ไปของมัน  ไม่ตกร่องเดิม เชื่อมโยงแบบดื้อๆ  ซึ่งจะเห็นว่าในตอนที่เราเรียนกันนั้น  เรามักทำไม่ค่อยได้  ในช่วงต้นๆ ของการฝึก  ผมคิดเอาเองว่าเพราะเราติดวิธีคิดเดิมอยู่ เลยเป็นอย่างนั้น  แต่พอลองรอบใหม่ก็ค่อยๆ ดีขึ้น  ซึ่งการลงมือปฏิบัติฝึกปรือหลังจากอบรมไปแล้ว  ก็น่าจะเป็นจุดสำคัญของพัฒนาเรื่องนี้  อาจารย์สอนให้เห็นว่า Systems Thinking นั้น  คือการที่เราเล่นกับพลัง  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังที่มองไม่เห็น  และเข้าใจยาก  แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นมันอยู่รอบๆ ตัวเรา  ที่บ้านก็มี ที่ทำงานก็มี   ในชุมชนก็มี  ผมคิดว่าต้องเอาสิ่งใกล้ตัวนี่แหละมาเป็นแบบฝึกหัด  ฝึกฝนตนเอง  น่าจะง่ายที่สุดแล้ว  เพราะขนาดท่านพุทธทาสยังเคยเขียนเอาไว้ว่า  สถานที่เรียนที่ใกล้ตัวและดีที่ที่สุด  คือร่างกายของเรา ย าวแค่ 1 วา ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่  ดังนั้น  ทุกอย่างที่เข้ามากระทบใจเราแล้ว  เกิดความรู้สึก  ย่อมมีพลังทั้งสิ้น  เพียงแต่จะเป็นพลังบวก หรือลบเท่านั้นเอง  ลมพัดเบาๆ  ทำให้เรารู้สึกสบาย  เมื่อรู้สึกสบาย ใจก็จะรับความสบายนั้นเช่นกัน  มากน้อยก็แล้วแต่ละคน

  ผมเห็นว่าเพื่อนร่วมหลักสูตรทุกท่านโชคดีมาก  ที่มีหน่วยงาน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สนับสนุนให้ได้เรียนรู้เรื่องเช่นนี้  และสนับสนุนต่อเนื่อง  ถือว่าลงทุนสูง   ปกติแล้วองค์กรทั่วไปจะไม่สนับสนุนเรื่องทำนองนี้  เพราะคิดแบบเหตุผลเดิม  มองไม่ออกว่าจะเกิดผลต่อผู้เรียนอย่างไร  องค์กรมักจะเชื่อมโยงเหตุผลเพียงตอบสนอง  KPI  ที่ตั้งกันไว้  หรือ ตอบสนองชัดเจนหรือไม่  ต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น  จึงจะยอมควักกระเป๋าตังค์จ่าย  นี่ก็เป็นตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ของ Systems Thinking ในระดับองค์กร   ที่มักพบเจอ  เรื่องความรู้ทำนองนี้องค์กรเอกชนมักเรียกมันว่า  “Soft-side”  ซึ่งแต่เดิมมักมีแต่การอัดความรู้ด้าน “Hard side” เป็นหลัก  ดังนั้น  หาก สปก. ยอมลงทุนสูงเช่นนี้  ผมเชื่อว่าก็ย่อมหวังผลสูงเช่นกัน  ซึ่งหมายความว่าต้องจัดการอย่างประณีตในเชิงวิธีคิด  และผมก็เห็นสิ่งนั้น ผมเชื่อว่า เพื่อนร่วมหลักสูตรทุกท่านล้วนเป็นคนที่ถูกเลือกสรรมาแล้ว ทุกคนมีพื้นที่ทำงานของตนเอง เปรียบเสมือน Social Lab ของเขาเอง  และเขาเหล่านั้น  ต้องกลับไปเอาวิชาที่ร่ำเรียนมา  ไปปรับ  ประยุกต์ให้เหมาะกับพื้นที่ของเขาเองอย่างค่อยเป็น  ค่อยไป   หลักสูตรดีๆ เช่นนี้ จะล้มเหลวตั้งแต่ต้น  หากปล่อยให้ใครก็ได้เข้ามาเรียน อันนี้คือความไม่ประณีต  เพราะในที่สุดมักจะได้คนที่ไม่พร้อมเข้ามาเป็นส่วนมากของผู้เรียนเสมอ  ต่อให้วิชาดีแค่ไหน ก็ยากที่เข้าไปในใจผู้เรียนได้   ซึ่งวิธีการขาดความประณีตเช่นนี้ดูเหมือนจะรู้กันดีอยู่แล้ว  แต่ก็ยังปรากฎให้เห็นกิดขึ้นในสังคมการทำงานอยู่เช่นเดิม  จริงไหมครับ?

ธวัช  หมัดเต๊ะ

19 กรกฎาคม 2556

บันทึกทบทวนการเรียนรู้ Systems Thinking  ประสิทธ์ประสาทวิชาโดย  อ.ชัยวัฒน์  ถิระพันธุ์


หมายเลขบันทึก: 542821เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2013 09:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กรกฎาคม 2013 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะคุณThawat....การให้ข้อมูลย้อนกลับ Feedback ถือว่าเป็นเครื่องมือที่ จะช่วยให้คนปรับพฤติกรรมในการเรียนรู้และการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ได้รับการFeedback รู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมีผลดี หรือผิดพลาดมากน้อยเพียงใด? ที่สำคัญเมื่อได้รับการFeedback จะทำให้มีการปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้และการทำงานในครั้งต่อไปให้ดีขึ้นได้ ...ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท