Literacy: หลักการสอนอ่านและเขียน


Literacy: หลักการสอนอ่านและเขียน 


เฉลิมลาภ  ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




                   พื้นฐานที่สำคัญของการสอนให้ผู้เรียนรู้หนังสือ คือ สอนให้รู้จักตัวอักษร คำว่าสอนให้รู้จักในที่นี้ คือ สอนให้รู้จัก “เสียง” เพราะอักษรคือสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทนเสียงในภาษา อักษรแต่ละตัวย่อมแทนเสียงอย่างหนึ่ง  ในภาษาไทยมีอักษรอยู่สามกลุ่ม กลุ่มแรกคือสระ  เขียนแทนเสียงแท้  กลุ่มที่สองคือพยัญชนะ ใช้แทนเสียงแปร และกลุ่มสุดท้ายคือวรรณยุกต์ ซึ่งใช้แทนเสียงดนตรี  เมื่อครูสอนผู้เรียนอ่านหนังสือ จึงต้องเริ่มสอนอักษรเหล่านี้เป็นพื้นก่อน เพื่อที่เวลานำอักษรเหล่านี้มาประสมกันในลักษณะต่าง ๆ แล้ว ก็จะสามารถอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้อง 


                   ผู้เรียนที่อ่านออกเสียงคำต่าง ๆ ได้ ถือว่าเริ่มมีความสามารถในการอ่านระดับพื้นฐาน ด้วยเหตุนี้  การสอนอ่านในระดับเบื้องต้น ก็คือการสอนให้อ่านออกเสียงได้นั่นเอง  คือ เห็นว่าคำนี้มีอักษรอะไรประสมอยู่บ้าง และตามหลักแล้ว  อักษรเหล่านี้ เมื่อประสมกันแล้วควรจะออกเสียงอย่างไร เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  การจัดการศึกษาที่ส่งเสริมการรู้หนังสือ จะต้องคำนึงถึงการสอนอ่านที่นอกเหนือไปจากเรื่องเสียงด้วย เพราะข้อความที่ประกอบจากคำต่าง ๆ ย่อมมีความหมายเป็นส่วนสำคัญ  ดังนั้น การอ่านเพื่อให้เข้าใจความหมาย หรือการอ่านที่ทราบว่า สิ่งที่อ่านมีความหมายว่าอย่างไร จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญยิ่ง  การอ่านในระดับนี้จึงถือว่าสูงกว่าการอ่านได้ดังที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น 


                    


                      นักวิชาการด้านการอ่านมีแนวคิดว่า  การสอนอ่านแบ่งได้เป็นสองมิติหลัก ๆ คือ การสอนอ่าน  เพื่อออกเสียง และการสอนอ่านเพื่อความหมาย  สำหรับมิติแรก  เป็นมีพื้นฐานจากความสัมพันธ์ระหว่างอักษรและเสียงที่อักษรนั้นแทน (letter-sound)  หลักของการสอนอ่านตามแนวคิดนี้ก็คือ การให้ผู้เรียนจดจำเสียงและจดจำรูปอักษร ที่มีอยู่จำนวนหนึ่ง และทดลองประสมอักษรให้กลายเป็นพยางค์หรือคำ  แล้วฝึกหัดอ่าน  วิธีการนี้เป็นวิธีพื้นฐานสำหรับฝึกหัดผู้เรียนให้คุ้นเคยกับเสียงในภาษา  และถือว่าเป็นวิธีพื้นฐานที่นิยมนำมาใช้ในการสอนอ่านระดับประถมศึกษา 


                      สำหรับอีกมิติหนึ่ง คือ การสอนอ่านเพื่อความหมาย เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจและนิยมนำมากำหนดเป็นเป้าหมายของการสอนอ่าน  แนวคิดนี้มองว่า  การอ่านคือการตีความ (interpret) สารหรือความหมายบางประการในสิ่งที่อ่าน  เรื่องความหมายจึงถือว่ามีบทบาทมากในการทำให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่อ่าน  สำหรับเรื่องความหมายนี้  เป็นธรรมดาว่า ผู้เรียนแต่ละคนมิได้มีหรือทราบความหมายของคำติดตัวมาแล้ว  แต่เดิม แต่ใช้การเชื่อมโยงมโนทัศน์ หรือความคิดจากประสบการณ์เดิมของตนที่เกี่ยวข้อง มาประมวลรวมกันเพื่อกำหนดความหมายของสิ่งที่อ่าน  หลักการสอนอ่านตามแนวคิดนี้ก็คือ ในทุกขั้นตอนของการสอนอ่าน ผู้เรียนควรที่จะได้เชื่อมโยงประสบการณ์เดิมของตนกับสิ่งที่อ่านอยู่ตลอดเวลา โดยในการเชื่อมโยงนั้น อาจใช้เทคนิคการตั้งคำถาม การทำนาย การสรุป  การตีความ หรือการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ที่อ่านเรื่องเดียวกันก็ได้  ประสบการณ์ที่เพิ่มพูนขึ้น จะช่วยให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเรื่องที่อ่านได้มากขึ้นตามไปด้วย  การสอนอ่านตามแนวคิดนี้ มักปรากฏเห็นได้ชัดในการจัดการเรียนการสอนอ่านระดับมัธยมศึกษา ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากผู้เรียนมีวุฒิภาวะและประสบการณ์มากพอในระดับหนึ่ง ที่จะพิจารณาความหมายต่าง ๆ ที่ซ่อนแฝงไว้ในข้อความหรือหนังสือลักษณะต่าง ๆ ได้ 




                      ขอบเขตของการพัฒนาการรู้หนังสือ มิได้จำกัดไว้แต่เฉพาะการอ่านแต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการเขียนด้วย  เพราะการอ่านและการเขียนเป็นทักษะการคิดที่ส่งเสริมกันและกัน  การพัฒนาการเขียนสามารถกระทำได้โดยการเพิ่มพูนความรู้ที่จะต้องใช้ในการเขียน ซึ่งการเพิ่มพูนก็สามารถกระทำได้จากการอ่าน เพื่อให้ตนเองมีข้อมูลมากเพียงพอ ในขณะที่การเขียนเอง ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการอ่านได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ  ผู้เรียนสามารถสรุป เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ทำนาย วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์ความคิดที่ได้จากการอ่านด้วยการเขียนออกมาเป็นข้อความ  หรือสัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่สื่อความได้  ด้วยเหตุนี้  หลักการของการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการรู้หนังสือประการแรกคือ  การพัฒนาการอ่านและ  การเขียนควรที่จะดำเนินควบคู่กันไป


                       การสอนเขียนมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับการสร้างความคิด แล้วแปลงความคิดนั้นให้เป็นสัญลักษณ์หรือภาษาเขียน  การสอนเขียนจึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการพัฒนาสองประการ คือ การส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความคิดประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ การแปลงความคิดให้เป็นคำ ประโยคหรือข้อความที่ถูกต้อง และสามารถสื่อความคิดได้ตรง (validity) ที่สุด  ครูผู้สอนโดยส่วนใหญ่ มักไม่คำนึงถึงกิจกรรมขั้นแรก ทำให้มิได้ตรวจสอบว่า เมื่อฝึกหัดให้ผู้เรียนเขียนงานในหัวข้อหรือรูปแบบต่าง ๆ นั้น ผู้เรียนมีความรู้หรือความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเขียนเพียงพอหรือไม่  เมื่อจุดเริ่มต้นคือการสร้างความคิดประสบปัญหา   ก็จะส่งผลให้ไม่สามารถเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นข้อความต่าง ๆ ได้  กิจกรรมการทบทวนและส่งเสริมให้สร้างความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่จะเขียนด้วยวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะการอ่านและสนทนากับผู้อื่น  จึงมักเป็นกิจกรรมขั้นแรกของการสอนเขียน  สำหรับในเรื่องการแปลงความคิดนั้น เกี่ยวข้องกับการเลือกใช้คำ  และความคล่องแคล่วของกล้ามเนื้อมือ ซึ่งจะใช้เขียนหรือพิมพ์  เป็นต้น  การฝึกเขียนประโยค เขียนย่อหน้า  อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถใช้ถ่ายทอดความคิดได้รวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการพัฒนาการเขียน 




                         การรู้หนังสือ (literacy) มิได้เป็นการพัฒนาที่มุ่งส่งเสริมการอ่านเท่านั้น แต่ยังต้องนำมาสัมพันธ์กับการเขียนด้วย  เพราะทั้งสองทักษะคือทักษะการคิด ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน พื้นฐานสำคัญของการสอนทั้ง  การอ่านและการเขียนคือ การเชื่อมโยงประสบการณ์เดิม การสร้างความคิดจากการอ่านและเขียน  และการฝึกหัดกระทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วชำนาญ เหล่านี้ ถือว่าเป็นหลักการที่ครูภาษาไทยรวมถึงทุกวิชา สามารถนำไปเป็นพื้นฐานในการพัฒนาผู้เรียนได้ ซึ่งนอกจากจะช่วยพัฒนาการเรียนรู้ในสาขาวิชานั้น ๆ แล้ว ยังถือว่าเป็นการพัฒนาทักษะการคิด อันเป็นทักษะแกนของทุกวิชาอีกด้วย

 

_________________________________________


หมายเลขบันทึก: 542404เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2013 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2013 21:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท