ศอ.บต.มาเยี่ยมสงขลานครินทร์


๙ กรกฎาคม ๒๕๕๖

วันนี้ก็เป็นวันดีอีกวันหนึ่งของการทำงานในสงขลานครินทร์ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า เรา (ผมหมายถึงคณะแพทย์) มีกำหนดการต้อนรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเขตชายแดนใต้ อันประกอบด้วย ศอ.บต. ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาและปัตตานี และท่านแม่ทัพ รวมๆแล้วก็เกือบ ๓๐ คน

ศอ.บต.มามอบเงินแก่มูลนิธิโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน ๘,๕๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นส่วนในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุจากสถานการณ์ชายแดนใต้

เหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเราที่เกี่ยวข้องกับ ๓ จังหวัดภาคใต้ รวมถึงบางอำเภอในจังหวัดสงขลานั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ ผู้บาดเจ็บส่วนมากจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ และจะมีส่วนหนึ่งที่อาการหนักมากๆ จะถูกส่งมารับการรักษาต่อที่สงขลานครินทร์ ศิริรวมถึงบัดเดี๋ยวนี้ก็ ๖๔๘ ราย หรือโดยเฉลี่ยก็ปีละ ๗๒ ราย (อันเป็นการประเมินค่าเฉลี่ยแบบหยาบๆ) 

ดูไปก็ไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนคนที่บาดเจ็บล้มตายทั้งหมด และคนเจ็บส่วนมากก็ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลปัตตานี ศูนย์ยะลา นราธิวาส และสุไหงโก-ลก แต่ทั้งกว่า ๖๐๐ รายที่ถูกส่งมาที่ม.อ.นั้น ล้วนเป็นคนที่บาดเจ็บสาหัส ต้องระดมสรรพกำลังจากทีมหมอ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆอีกมากมายมาช่วยกันดูแลผู้บาดเจ็บเหล่านั้น บางท่านก็ไม่สามารถมีชีวิตผ่านการบาดเจ็บไปได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ได้รับการดูแลจนกลับไปใช้ชีวิตต่อไปได้ ซึ่งอาจจะไม่มีความพิการหลงเหลืออยู่ หรืออาจจะออกไปในฐานะผู้พิการ แต่ก็นั่นเป็นเพียงความพิการทางร่างกายเท่านั้น มิได้รวมไปถึงความพิการทางใจ

วันนี้เป็นวันที่ผมต้องออกตรวจคนไข้ที่คลินิกนรีเวช แต่ผมต้องขออนุญาตคนไข้ เพื่อรีบออกไปร่วมงานอันทรงเกียรติงานนี้ตั้งแต่เวลา ๑๐.๔๕ น. (สัญญาว่าจะรีบกลับมาตรวจอีกครั้งราวเที่ยงกว่าๆ) และก็ไม่ผิดหวังเลย เนื่องจากได้ฟังคำพูดคุยระหว่างผู้หลักผู้ใหญ่ที่แลกเปลี่ยนกัน ได้ฟังแนวคิด มุมมองในการทำงานในพื้นที่ หลายๆสิ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่เคยรับรู้มาก่อนก็มี

ท่านรองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวขอบคุณ ม.อ. ที่ช่วยดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดี รวมไปถึงญาติด้วย เงินที่ศอ.บต.มาบริจาคในวันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสนับสนุนงานบริการ เนื่องจากการรักษาพยาบาลนั้น ทางโรงพยาบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมากมาย บางรายใช้ไปเป็นล้านบาท รวมถึงอุปกรณ์ขาเทียมในผู้ป่วยหลายรายก็มีราคาสูง และเงินช่วยเหลือนี้ จะเป็นความร่วมมือต่อกันในอนาคตด้วย

ท่านผู้อำนวยการ กอ.รมน. ได้กล่าวในฐานะทหารว่า ทุกครั้งที่คนเจ็บรู้ว่าเขากำลังจะถึงม.อ. ใกล้เจอหมอม.อ.แล้ว กำลังใจจะเพิ่มขึ้นมามาก ม.อ.เป็นที่พึ่งของเขาได้อย่างมาก ท่านเองก็เคยบาดเจ็บ ท่านรู้สึกว่ากำลังจะแย่ ตัวเริ่มเย็น คาดว่าคงกำลังจะช๊อค แต่เมื่อเขาแจ้งว่า กำลังจะถึงม.อ.อีก ๑๐ นาที มันทำให้ท่านต้องสู้และทนต่อไป เพราะเมื่อถึงม.อ.ท่านจะต้องรอด 

หลายคนเคยบอกกับผมว่า “ถ้ามาตายที่ม.อ. นั่นคงเป็นเพราะว่า ต้องตายแล้ว ไม่เสียดายหรอกที่จะตายที่นี่ เพราะเชื่อว่าหมอที่นี่ดูแลได้ดีที่สุด” คำพูดนี้คงจะเป็นจริงอย่างรู้สึกได้หลังจากที่ได้ฟังท่านกล่าว

ปิดท้ายด้วยท่าน นพดล เผือกโสมณ ซึ่งหลายคนคงจำท่านได้ในฐานะวีรบุรุษ (คณบดีบอกว่า ท่านเป็นศิษย์เก่า รพ.ม.อ.) ท่านได้เป็นตัวแทนของผู้บาดเจ็บซึ่งกล่าวขอบคุณโรงพยาบาล และเป็นคำกล่าวที่ผมต้องรีบจดบันทึกเอาไว้ ท่านบอกว่า “ขวัญ คืออำนาจของนักรบ ที่ไม่มีตัวตน” คนข้างหลัง คนสนับสนุนเป็นหนึ่งในการสร้างขวัญและกำลังใจ ทำให้นักรบสามารถมีแรงต่อสู้ต่อไปได้ มันก็ตรงกับที่คณบดีบอกว่า “นักรบ เป็นคนแถวหน้าที่ออกไปทำงานเพื่อความผาสุขและความปลอดภัยของพวกเรา ดังนั้น เรา ซึ่งเป็นคนแถวหลังต้องมีจิตสำนึกเรื่องนี้ให้ดี เราพร้อมที่จะดูแลผู้บาดเจ็บจากความไม่สงบอย่างดีที่สุด ขอให้คนแถวหน้าอย่าได้กังวล”

จึงนับว่าเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตข้าราชการตัวน้อยอย่างผม ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในงานดีๆในวันนี้


หมายเลขบันทึก: 541951เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 22:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอชื่นชม "คนข้างหลัง" ที่สร้างขวัญและกำลังใจให้นักรบมีแรงสู้ต่อไปได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท