การประยุกต์ใช้ทฤษฎี Visual/ Verbal ในการออกแบบบทเรียน CAI


การประยุกต์ใช้หลักการออกแบบบทเรียน CAI จำเป็นต้องคำนึงถึง ทฤษฏีจิตวิทยา พัฒนาการเชาว์ปัญญา ลักษณะความเป็นรูปธรรมนามธรรมของสื่อ และแบบการคิดของผู้เรียน การเลือกใช้สื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้บทเรียน CAI เป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยสื่อหลาย ๆ ประเภทมารวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมตามความเหมาะสม

 

ทฤษฎีเกี่ยวกับการใช้ภาพและตัวอักษรในสื่อการเรียนการสอน

เอดการ์ เดล ได้จัดแบ่งสื่อการสอนเพื่อเป็นแนวทางในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อโสตทัศนูปกรณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงขั้นตอนของประสบการณ์การเรียนรู้และการใช้สื่อแต่ละประเภทในกระบวนการเรียนรู้ด้วย โดยพัฒนาความคิดของบรูนเนอร์ ซึ่งเป็นนักจิตวิทยานำมาสร้างเป็น “กรวยประสบการณ์” (Cone of Experience) (อ้างถึงใน กิดานันท์ มลิทอง,2542) โดยแบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ประสบการณ์ตรงและมีความมุ่งหมาย (Direct Purposeful Experience)
ขั้นที่ 2 ประสบการณ์จำลอง (Contrived Experience)
ขั้นที่ 3 ประสบการณ์นาฏการ (Dramatized Experience)
ขั้นที่ 4 การสาธิต (Demonstration)
ขั้นที่ 5 การศึกษานอกสถานที่ (Field Trip)
ขั้นที่ 6 นิทรรศการ (Exhibition)
ขั้นที่ 7 ภาพยนตร์ และโทรทัศน์ (Motion Picture and Television)
ขั้นที่ 8 การบันทึกเสียง วิทยุ และภาพนิ่ง (Recording, Radio and Picture)
ขั้นที่ 9 ภาพ (Visual Symbol)
ขั้นที่ 10 ภาษา (Verbal Symbol)

การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนและประสบการณ์จากกรวยประสบการณ์ทั้ง 10 ขั้นนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสถานการณ์โดยพยายามจัดประสบการณ์ตรงเป็นพื้นฐาน ถ้าไม่สามารถจัดได้ก็จำเป็นต้องเลือกประสบการณ์และวิธีการอื่นๆแทน พยายามให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด และให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี (นิพนธ์ ศุขปรีดี,2528)
จากกรวยประสบการณ์ของเอดการ์ เดล สามารถช่วยให้ผู้สอนเข้าใจลักษณะของสื่อการสอนต่าง ๆ ในลักษณะที่ว่า สื่อการสอนเป็นประสบการณ์การเรียนรู้จึงช่วยผู้สอนได้มากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบเรียนการสอน เอดการ์ เดล ได้วิเคราะห์ประสบการณ์การรับรู้เป็น 3 ขั้นตอน โดยยึดหลักการเรียนรู้ของบรูนเนอร์ ได้แก่ 1. ประสบการณ์ตรง,การกระทำ (Enactive) 2.ประสบการณ์ลักษณะรูปภาพ (Iconic)และ 3.ประสบการณ์ที่มีรูปแบบเป็นนามธรรม (Symbolic) สื่อประสบการณ์ต่าง ๆ ในกรวยประสบการณ์ไม่อาจนำเสนอโดยแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด ประสบการณ์ทุกขั้นตอนจึงมีคุณค่าต่อการเรียนการสอน ประสบการณ์ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของวิธีการสอนและผู้เรียนเป็นสำคัญ (ไชยยศ เรืองสุวรรณ, 2526)


ไวลแมน (Wileman, 1993) ได้สร้างรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่าง ภาษา(Verbal) กับ ภาพ (Visual)ตามลักษณะสื่อทัศนะ (Visual Media Attribute)โดยการผลิตในรูปแบบของภาพสไลด์ ประกอบด้วยลักษณะความสัมพันธ์ ระหว่าง ภาษากับภาพแบ่งออกเป็นขั้นตอนย่อยๆได้ 7 ขั้น โดยเริ่มจากขั้นที่มีระดับความเป็นนามธรรมมากที่สุดคือ บรรยายด้วยภาษาทั้งหมด ไปจนถึง ลักษณะที่มีระดับความเป็นรูปธรรมมากที่สุดคือ นำเสนอด้วยภาพทั้งหมด
ความเหมือนจริงของภาพ แสดงถึง ระดับความเหมือนจริงของสิ่งที่เราต้องการจะนำเสนอ ตัวอย่างเช่น ภาพถ่าย มีระดับความเหมือนจริงของภาพมากที่สุดเมื่อเป็นรูปถ่ายจริง ถ้าเราลดระดับความเหมือนจริงของภาพลงเรื่อยๆ ก็จะได้เป็นภาพวาดลายเส้น ภาพสัญลักษณ์ ไปจนถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมที่สุดคือตัวอักษร (H.A Houghton and D.M. Willows, 1987)


เมื่อประสบการณ์ของผู้เรียนมีส่วนสำคัญในการเลือกใช้สื่อตามลักษณะความเป็นรูปธรรม นามธรรมแล้ว ทฤษฏีทางจิตวิทยาในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการเชาวน์ปัญญาจึงจำเป็นสำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกสื่อให้เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน แนวคิดพื้นฐานของทฤษฏีเชาวน์ปัญญาของเคส (Case, 1992) กล่าวว่า 1. พัฒนาการเชาวน์ปัญญาเป็นไปตามขั้นตอน 2. พัฒนาการเชาว์ปัญญาเกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงความสามารถของเด็กที่จะรับข้อมูลข่าวสารเก็บไว้ในความจำระยะสั้น หรือความจำหลักช่วงระยะทำงาน (Working Memory) การพัฒนาเชาวน์ปัญญาจากขั้น preopreation เป็นขั้น concrete operation ขึ้นกับความสามารถของเด็กที่จะสามารถรวมกลุ่มข้อมูลข่าวสารที่เป็นหน่วยอิสระเข้าด้วยกัน (Chunking) ขั้นพัฒนาการเชาวน์ปัญญาของเคส มีดังนี้
1. Sensorimotor (4-20 เดือน) ในขั้นนี้ mental representation คือ sensoryinput
2. Representational Operations (2-5 ปี) ขั้นนี้เด็กเริ่มจินตนาการหรือภาพพจน์ที่เป็นรูปธรรม สามารถจำและเรียกมาใช้ได้
3. Logocal Operation (5-10 ปี) ขั้นนี้เด็กสามารถจะบันทึกสิ่งเร้าที่เป็นนามธรรมไว้ได้แต่มักจะอยู่ในขั้นเปลี่ยนแปลงอย่างง่าย ๆ (Simple Transformation)
4. Formal Operations (11-ผู้ใหญ่) สามารถบันทึกสิ่งเร้าที่เป็นนามธรรม และสามารถจะเปลี่ยนแปรได้อย่างซับซ้อน (Complex Transformation)


นอกจากทฤษฏีเชาว์ปัญญาแล้ว แบบการคิดก็นับเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเพื่อจัดประสบการณ์ให้เหมาะกับผู้เรียน วิทกินและกูดดิ์นัฟกล่าวว่า แบบการคิดมีความสำคัญของพฤติกรรมและการแสดงออกของบุคคลแต่ละบุคคล ทั้งทางด้านสังคมและด้านการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าครูทราบว่า นักเรียนมีความแตกต่างระหว่างบุคคลเกี่ยวกับแบบการคิด ก็ช่วยให้มีความเข้าใจนักเรียนที่มีแบบการคิดแตกต่างกัน (อ้างถึงใน สุรางค์ โค้วตระกูล, 2541) โลเวนเฟล (Lowenfeld, 1954)ได้ทำการศึกษาถึงแบบการคิดระหว่างภาพและ ภาษา (Visual-Haptic)โดยกล่าวว่า บุคคลที่มีความถนัดทางด้านภาษามากกว่าภาพจะต้องได้รับเครื่องมือในการเรียนรู้ที่มากกว่า โดยมีการสงวนข้อมูลทางภาพไว้ รูปแบบการคิดแบบ การรับรู้ทางภาพ และ การรับรู้ทางภาษา (Verbalizer-Visualizer Cognitive Style) เป็นรูปแบบการคิดอีกแบบหนึ่งซึ่งใช้จำแนกบุคคลที่มีรูปแบบความถนัดการคิดในการประมวลผลข้อมูลที่ได้รับโดยทางภาพ และทางภาษา บางคนก็จะถนัดในการรับรู้ทางภาพ บางคนจะถนัดทางภาษา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีความถนัดนี้ตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะมีความถนัดเพียงด้านเดียว หรือถนัดทั้งสองด้านก็ได้ (Antonietti, 1992)

การประยุกต์ใช้ทฤษฎีในการออกแบบบทเรียน CAI

จากทฤษฏีต่าง ๆ ข้างต้นจะเห็นได้ว่าในการประยุกต์ใช้หลักการออกแบบบทเรียน CAI จำเป็นต้องคำนึงถึง ทฤษฏีจิตวิทยา พัฒนาการเชาว์ปัญญา ลักษณะความเป็นรูปธรรมนามธรรมของสื่อ และแบบการคิดของผู้เรียน การเลือกใช้สื่อใดสื่อหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยให้บทเรียน CAI เป็นบทเรียนที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยสื่อหลาย ๆ ประเภทมารวมเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสมตามความเหมาะสม บราเดน (Braden,1994) ได้จำแนกลักษณะของการรับรู้ (Type of Visual) ไว้ 5 ประการ คือ 1. Static Visual ภาพนิ่ง ภาพประกอบ 2. Dynamic Visual ภาพเคลื่อนไหว 3. Personal Visual ภาษาท่าทาง สัญลักษณ์ 4. Written Visual (Static verbal) ภาษาเขียน 5. Spoken verbal element (Dynamic verbal) ภาษาพูด และจากการศึกษาถึงความสัมพันธ์ในการใช้ลักษณะของการรับรู้ดังกล่าว โดยการสร้างเป็นตารางความสัมพันธ์ที่เกื้อหนุนกันของลักษณะของการรับรู้ทั้ง 5 ประการในกลุ่มตัวอย่างสื่อการสอนประเภทต่าง ๆ พบว่า ภาพนิ่ง ภาพประกอบ และ ภาษาเขียน มีความสัมพันธ์และสนับสนุนกันในการสื่อสารและเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และแพร่หลาย พบได้ใน นิตยสาร สตอรี่บอร์ด และสื่อการสอน และในขณะเดียวกัน ภาษาพูด ก็มีความสัมพันธ์และสนับสนุนกับ ภาพนิ่ง ภาพประกอบ และ ภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น ภาพสไลด์ประกอบเสียง บทบรรยายหรือการสอนประกอบข้อความสรุป และภาษาพูดยังถูกใช้ร่วมกับภาพเคลื่อนไหว เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพยนตร์สารคดีต่างๆ และ ภาพควรจะมีรายละเอียดของเนื้อหาที่จำเป็นของภาพให้ครบถ้วนมีการรักษาระดับความเหมือนจริงของภาพในระดับปานกลางจะเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุด (Dwyer, 1994)


จากงานวิจัยพบว่าผู้อ่านสามารถอ่านตัวอักษรผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ยากกว่าอ่านจากสื่อสิ่งพิมพ์ (Gould et al, 1987; and references therein) จอคอมพิวเตอร์ไม่ใช่สื่อที่ดีนักสำหรับการอ่านตัวอักษร การนำตัวอักษรมาใช้บนจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ดายเออร์ (Dwyer) และ กลุ่ม PSE (Program of Systematic Evaluation) ได้ทำการทดสอบเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจทางทัศนะ หนึ่งในการทดสอบนั้นเป็นการทดสอบเกี่ยวกับการรับรู้ในภาพหัวใจมนุษย์ ที่มีการให้องค์ประกอบต่าง ๆ กัน พบว่า องค์ประกอบที่สำคัญที่ช่วยอธิบาย และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีขึ้นคือ ตัวอักษรประกอบภาพ ทั้งที่เป็นคำอธิบาย หัวข้อเรื่อง และเนื้อหาประกอบ (Dwyer, 1987) การวิจัยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยภาพเคลื่อนไหวพร้อมกับตัวอักษรบรรยายกับตัวอักษรบรรยายเพียงอย่างเดียว หรือ จากตัวอักษรกับภาพประกอบกับตัวอักษรเพียงอย่างเดียว พบว่านักเรียนจะมีการเรียนรู้ที่ดีจากการเรียนด้วยตัวอักษรและภาพประกอบมากกว่าการเรียนจากตัวอักษรเพียงอย่างเดียว (Mayer, 1996) เรียกการค้นพบนี้ว่า Multimedia affect


ทฤษฏีการเรียนรู้โดยมัลติมีเดีย (The Cognitive Theory of Multimedia Learning) ของ
Mayer (2001) ซึ่งพัฒนามาจากทฤษฏี Dual Coding ของ Pavio (1990) ทฤษฎีการเรียนรู้โดยมัลติมีเดียอธิบายว่า ระบบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเรียนรู้ของมนุษย์มีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่ ระบบรับความจำโดยประสาทรับความรู้สึก (sensory memory) ระบบความจำในช่วงที่ทำงานอยู่หรือช่วงสั้น (working memory) และระบบความจำในระยะยาว (long-term memory) เมื่อผู้เรียนรับข้อมูลเข้าไปในรูปของเสียงหรือภาพ ข้อมูลนั้น ๆ จะถูกจำไว้ในช่วงสั้น ๆ ที่ sensory memory จากนั้น ภาพและเสียงบางส่วนจะถูกจดจำไว้ใน working memory แล้วจะมีการจัดแจงภาพและเสียงย่อย ๆ เหล่านี้ให้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้เกิดความรู้ในรูปของภาพและเสียง มวลความรู้เหล่านี้อาจจะเข้าไปรวมกับความรู้เดิมในส่วนของความจำในระยะยาวหรือไปรวมกับกลุ่มความรู้อื่น (ถ้ามี) ดังนั้น การนำเสนอผ่านทั้งทางจักษุประสาทในรูปของตัวหนังสือ (text) กับภาพ (image) และทางโสตประสาทในรูปของเสียง(sound) จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้คำศัพท์ได้ดีกว่าการนำเสนอเพียงวิธีเดียว อย่างไรก็ตามการใช้ข้อความประกอบภาพยังต้องระวังในเรื่องของการใช้งานของสมองที่มากเกินไป หากมีการใช้พร้อมๆ กันจะทำให้เกิดการ Overload ได้วิธีการแก้ไขคือควรเพิ่มช่องทางเสียงเพื่อแบ่งเบาภาระของสมองในด้าน Visual Processing และสิ่งที่ควรระวังที่สุดคือการใส่องค์ประกอบของภาพ ตัวอักษรและเสียงเข้ามาพร้อมๆ กันทำให้เกิดผลเสียอย่างมากต่อการรับรู้ เราเรียกทฤษฏีนี้ว่า Redundancy Principle (Mayer, 2001)

Overloading of Visual Channels with Presentation of Written Text and Graphics. (Mayer, 2001)

Access of Visual and Auditory Channels with Presentation of Narration and Graphics. (Mayer, 2001)



Overloading of Visual Channels Two Visual Media Elements. (Mayer, 2001)



นอกจาก Redundancy Principle แล้วอีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือ Coherence Principle กล่าวคือ นอกจากการที่ต้องระวังไม่ให้เกิดการซ้ำของช่องทางการรับสารแล้ว ยังต้องระวัง ภาพ เสียง ตัวอักษร ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกันกับเนื้อหาด้วยจากการวิจัยพบว่า ถ้าหากใส่องค์ประกอบดังกล่าวที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่จะสอน จะทำให้ประสิทธิผลการเรียนรู้ลดลง (Mayer, 2001)


Bernard (1990) ได้นำเสนอแนวทาง 2 แบบสำหรับเพิ่มประสิทธิภาพของคำอธิบายประกอบรูปภาพ ดังนี้
• Descriptive - คำอธิบายอธิบายเนื้อหาของภาพซ้ำ
• Instructive – คำอธิบายเพิ่มเติมความหมายสำคัญของภาพ
ผลของการทดลองพบว่าการใช้คำอธิบายทั้งสองรูปแบบทำให้เกิดผลที่ดีขึ้นกว่าการใช้ภาพประกอบเพียงอย่างเดียว
Levin (1989) กล่าวว่า ภาพที่มีปฏิสัมพันธ์กับอักษรจะสร้างระดับของความเข้าใจและความจำ มากกว่าการนำเสนอโดยตัวอักษรเพียงอย่างเดียว Levie and Lentz (1982) ได้ทำการวิเคราะห์จากการทดลอง 153 แบบ เรื่องผลของการนำเสนอภาพประกอบตัวอักษร และตัวอักษรเพียงอย่างเดียวพบว่า
• การนำเสนอภาพที่มีความเชื่อโยงกับตัวอักษรจะช่วยในการเรียน ดังนั้น หน้าจอใดที่ไม่มีภาพ ควรจะมีภาพประกอบด้วย
• ภาพที่ไม่สื่อความหมายของข้อความจะไม่เพิ่มการเรียนรู้ใด ๆ สำหรับหน้าจอที่มีภาพควรจะเป็นภาพที่เกี่ยวเนื่องกันกับวัตถุประสงค์ที่นำเสนอ ถ้าไม่ใช่ให้เอาภาพออก
• ภาพสามารถช่วยผู้เรียนให้เข้าใจว่าพวกเขากำลังอ่านอะไรอยู่และสามารถจำได้ ความทรงจำและการเรียกความจำคืนสามารถเพิ่มได้โดยการใช้ภาพสำหรับเน้นใจความสำคัญ
• บางครั้งภาพสามารถใช้แทนข้อความหรือการนำเสนอแบบไม่ใช้ภาษา
• ผู้เรียนอาจมีความเข้าใจผิดพลาดเนื่องจากได้รับภาพประกอบที่ซับซ้อนเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงภาพที่มีความซับซ้อน ให้ใช้ภาพง่าย ๆ
• ภาพจะช่วยผู้เรียนที่มีทักษะการรับรู้ทางภาษาต่ำได้มากกว่าผู้เรียนที่มีทักษะการรับรู้ทางภาษาสูง

การนำทฤษฎีหลักการเกี่ยวกับการใช้ภาพและการใช้ข้อความในการออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนควรเป็นการนำเอาภาพและข้อความมาใช้อย่างมีความหมาย เหมาะสมกับผู้เรียนตามวัยต่าง ๆ และคำนึงถึงแบบการคิดของผู้เรียน กลุ่มผู้เรียนที่มีประสบการณ์ในเรื่องที่จะเรียนน้อย ก็อาจให้สื่อที่มีลักษณะเป็นรูปธรรมมาก กลุ่มผู้เรียนที่มีประสบการณ์มาก ๆ อาจให้สื่อที่มีความเป็นรูปธรรมน้อย เช่น ข้อความอธิบาย เพื่อให้เกิดการคิดจินตนาการตามประสบการณ์เดิมและเกิดความจำ และเลือกใช้องค์ประกอบในสื่ออย่างเหมาะสม ในฐานะนักออกแบบบทเรียนคอมพิวเตอร์จึงต้องพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามหลักการ แนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ดังกล่าวมา เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นสำคัญ

รายการอ้างอิง

กิดานันท์ มลิทอง , เทคโนโลยีทางการศึกษาและนวัตกรรม . กรุงเทพมหานคร :สำนักพิมพ์จุฬาลง
กรณ์มหาวิทยาลัย , 2540.


เจนจิต กสิกิจธำรง. การวิเคราะห์การเลือกคำอธิบายศัพท์ของผู้เรียนภาษาไทยเป็นภาษาต่าง ประเทศในขณะที่อ่านจากคอมพิวเตอร์.2546.


Alessi and Trollip. Computer-Based Instruction. Methods and Development.
New Jersey : Prentice Hall, 1991.


Heinich, Molenda and Russel. Instructional Media and the New Technology of Instruction.
New York; John Wiley & Son Publishing, 1982.


Edward Lojko, Guidelines for Use in Computer Screen Design
http://home.millsaps.edu/~pursejm/cs2440/screen.txt


Lohr, Linda L. Creating graphics for learning and performance. New Jersey; Pearson Education Inc., 2003.
Mayer and Clark. e-Learning and the science of instruction.San Francisco; Pfeiffer, 2003.


_____online, http://www.agocg.ac.uk/reports/graphics/capture2/sect1.html

หมายเลขบันทึก: 54195เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2006 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
เราจะกำหนดกลยุทธในการทำอีเลินนิ่งได้อย่างไรบ้างค่ะ ขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ

สำหรับคุณฟ้าใส

เป็นคำถามที่ค่อนข้างครอบคลุมนะครับ เพราะกลยุทธ์ ก็คือวิธีการ วิถีทางที่จะทำให้งานเกิดความสำเร็จ ถ้าตอบตามวิชาการก็ต้องบอกว่า ต้องมีการวางแผน ให้ครอบคลุม มีการวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ประกอบต่าง ๆ เราอาจใช้โมเดลของการออกแบบการเรียนการสอนมาช่วยเพื่อใช้เป็นโครง เพื่อการวิเคราะห์ เช่นโมเดลง่าย ๆ อย่าง ADDIE ที่พวกเราใช้กันประจำ (Analysis Design Develop Implement  Evaluation) แต่ถ้าจะให้ตอบตามแนวคิดของผม ผมคิดว่าความเหมาะสม สำคัญที่สุดสำหรับการจัดทำอีเลินนิ่งครับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เรียน ทรัพยากร ตลอดจนผู้สอนเอง การทำอะไรโดยคิดให้ใหญ่ เล็งผลเลิศเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่การทำงานให้สำเร็จใช้งานได้ โดยที่มีประสิทธิภาพ และเหมาะสมกับบริบท น่าจะดีกว่านะครับ เป็นความพอเพียงในแบบนักการศึกษาครับ

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านนะครับ

กำลังต้องการข้อมูลในการออกแบบCAIอยู่พอดีค่ะ และสนใจการใช้ Dynamic Visual ในการออกแบบด้วย   ขอบคุณค่ะ

อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐานสำหรับบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนค่ะ

เพราะว่าหายากมาก พอจะมีบ้างหรือปล่าวค่ะ

ถ้ามีช่วยส่งให้ทางอีเมลล์หน่อยนะค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

[email protected]

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท