กฎหมายโทรคมนาคม 1


สารบัญ

 การกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (ทำไมจะต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม)

๑. ลักษณะ (เฉพาะ) ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

    ๑.๑ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นกิจการสาธารณูปโภคประเภทหนึ่ง

    ๑.๒ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะที่เป็นการผูกขาดในตัวเอง (natural monopoly)

    ๑.๓ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

    ๑.๔ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีแนวโน้มที่จะอยู่บนมาตรฐานเดียวกันทั้งโลก

๒. การบริหารจัดการ (รูปแบบเดิม) อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

   ๒.๑ การบริหารจัดการโดยการผูกขาดของรัฐ

   ๒.๒ การบริหารจัดการโดยการผูกขาดของภาคเอกชน แต่มีการกำกับดูแลโดยรัฐ

   ๒.๓ ความล้มเหลวของการบริหารจัดการ (รูปแบบเดิม)

๓. การปฏิรูประบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

   ๓.๑ ปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิรูประบบการบริหารจัดการไปสู่การบริหารจัดการแบบการแข่งขันเสรี

  ๓.๒ ความแพร่หลายของแนวคิดการบริหารจัดการแบบเปิดให้มีการแข่งขันเสรี

  ๓.๓ อุปสรรคในการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ

๔. การบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี

  ๔.๑ วัตถุประสงค์ในการกำหนดนโยบายสำหรับการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมภายใต้ระบบการเปิดให้มีการแข่งขันเสรี

  ๔.๒ การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี

  ๔.๓ การจัดโครงสร้างรูปแบบขององค์กรกำกับดูแล

  ๔.๓.๑ การจัดโครงสร้างรูปแบบขององค์กรกำกับดูแลรูปแบบองค์กรเดี่ยว/รูปแบบคณะกรรมการ

  ๔.๓.๒ การกำกับดูแลแบบเฉพาะภาคส่วน/การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วน

  ๔.๓.๓ การจัดรูปแบบการบริหารจัดการภายในองค์กรกำกับดูแล 

  ๔.๓.๔ การจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์กรกำกับดูแล

  ๔.๓.๕ ความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

  ๔.๔ หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลภายใต้ระบบการบริหารจัดการแบบการแข่งขันเสรี

๕. การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ

  ๕.๑ หลักการพื้นฐานในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม

  ๕.๒ การลดการกำกับดูแลลงหากสามารถบริหารจัดการโดยผ่านกลไกตลาดได้เพิ่มขึ้น

  ๕.๓ การปรับปรุงมาตรฐานการกำกับดูแลให้เข้ากับมาตรฐานระดับภูมิภาคและระดับโลก

  ๕.๔ การกำกับดูแลโดยการใช้หลักวิชาการ

  ๕.๕ การสร้างวิธีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

  ๕.๖ ตัวอย่างข้อเสนอการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในสภาวะที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ของ........

๖. การอนุญาตการประกอบกิจการ

  ๖.๑ การอนุญาตภายใต้ระบบการบริหารจัดการแบบผูกขาดโดยรัฐ

  ๖.๒ การอนุญาตภายใต้ระบบการบริหารจัดการแบบการแข่งขันเสรี

  ๖.๓ ความแตกต่างระหว่างการอนุญาตในระบบผูกขาดกับในระบบการแข่งขันเสรี

  ๖.๔ การให้ใบอนุญาตของ BT ระยะเริ่มแรก

๗. การอนุญาตภายใต้ระบบการแข่งขันเสรี

  ๗.๑ หลักเกณฑ์การอนุญาตภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ

  ๗.๒ การใช้การอนุญาตเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการแข่งขัน

  ๗.๓ วัตถุประสงค์ในการอนุญาต

  ๗.๔ หลักการพื้นฐาน (ควรคำนึงถึง) ในการอนุญาต

  ๗.๕ รูปแบบการอนุญาตและการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่

  ๗.๖ การกำหนดเงื่อนไขสำหรับการอนุญาต

๗.๖.๑ เงื่อนไขว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต

๗.๖.๒ เงื่อนไขว่าด้วยพื้นที่การให้บริการ

๗.๗ หลักเกณฑ์ในการคัดสรรผู้ขอรับใบอนุญาต

๑.  ลักษณะ (เฉพาะ) ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

๑.๑ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นกิจการสาธารณูปโภคประเภทหนึ่ง

                 ปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการสื่อสารระหว่างกันด้วยเทคโนโลยีทางด้านโทรคมนาคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การใช้แฟกซ์ในที่ทำงาน การใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารระหว่างกัน และการใช้อินเทอร์เน็ตในการส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน เป็นต้น บางประเทศเห็นว่าการให้บริการโทรคมนาคมกลายเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงได้ อย่างไม่แตกต่างกับการบริการทางด้านไฟฟ้าและน้ำประปาและรัฐมีหน้าที่ในการจัดให้บริการซึ่งอาจจะเป็นการให้บริการโดยรัฐเอง (โดยตรง) หรือการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการให้บริการ (โดยอ้อม)

               หากพิจารณาถึงลักษณะของการบริการทางด้านโทรคมนาคมโดยเทียบเคียงกับลักษณะอันเป็นสาระสำคัญของสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ แล้ว (ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ ถนน) สามารถกล่าวได้ว่าบริการโทรคมนาคมก็เป็น “สาธารณูปโภค” ประเภทหนึ่งเช่นเดียวกัน กล่าวคือ (1) รัฐมีหน้าที่ในการจัดให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งอาจจะเป็นการให้บริการโดยตรงหรือการเข้าไปแทรกแซงกิจการดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐ (การให้บริการทางอ้อม)แก่ประชาชน และ (2) กิจการโทรคมนาคมมีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐานของประชาชนโดยส่วนใหญ่ (3) การให้บริการมีการจัดทำในลักษณะของโครงข่าย เช่นเดียวกันกับสาธารณูปโภคประเภทอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ถนน เป็นต้น (4) เป็นกิจการที่จะต้องดำเนินนโยบายโดยอยู่บนพื้นฐานของสังคม (มิใช่เป็นการดำเนินการโดยมีวัตถุประสงค์ในทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว) ซึ่งลักษณะทั้งสี่ประการข้างต้น เป็นลักษณะของการบริการทางด้านสาธารณูปโภค

                 อนึ่ง กิจการบางประเภทอาจมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หรือกิจการบางประเภทอาจมีความสำคัญต่อสังคมเพียงอย่างเดียว หรือกิจการบางประเภทมีความสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อสังคมในเวลาเดียวกัน ดังเช่น กิจการไฟฟ้า กิจการน้ำประปา กิจการขนส่ง และกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น และจากลักษณะที่แตกต่างกันในแต่ละกิจการ จึงทำให้การบริหารจัดการสำหรับกิจการแต่ละประเภท รัฐก็จะต้องดำเนินการบริหารจัดการอย่างแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับกิจการที่มีความสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจและต่อสังคมในเวลาเดียวกัน ที่รัฐจะต้องจัดทำนโยบายโดยอยู่บนพื้นฐานทางด้านนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายทางด้านสังคมในเวลาเดียวกันและการบริหารจัดการอุตสาหกรรมก็ควรมุ่งเน้นทั้งประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประโยชน์ทางด้านสังคมเช่นเดียวกัน

                กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจและทางสังคม พึงเห็นได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่รัฐมักจะคำนึงผลกำไรที่ได้จากการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตหรือค่าสัมปทาน เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อนโยบายทางด้านสังคมของรัฐ เช่น การจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่ หรือผู้ใช้บริการจะต้องสามารถใช้บริการได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เป็นต้น และเนื่องด้วย การประกอบกิจการโทรคมนาคมมักจะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับประชาชน และประชาชนโดยส่วนใหญ่เห็นว่ามีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต จนในบางประเทศเห็นว่ากิจการดังกล่าวควรจะเป็นกิจการที่ถูกผูกขาดโดยภาครัฐเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นของสาธารณะให้ได้มากที่สุด หรือกรณีที่เอกชนเป็นผู้ให้บริการ รัฐก็จะต้องเข้ามาควบคุมการบริหารกิจการดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในฐานะที่เป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะโดยตรง  

 .๒ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีลักษณะที่เป็นการผูกขาด

                กิจการโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสาธารณะและเป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะที่เป็นการผูกขาดในตัวเอง กล่าวคือ ทรัพยากรในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมบางประเภทเป็นทรัพยากรที่มีจำกัดและเป็นทรัพยากรที่สำคัญเพื่อใช้ในการผลิต/ให้บริการ เช่น วงโคจรดาวเทียม ทรัพยากรคลื่นความถี่ เป็นต้น ซึ่งหากผู้ประกอบกิจการรายใดได้รับสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ในย่านใดย่านหนึ่งแล้ว ผู้ประกอบกิจการรายอื่นย่อมไม่สามารถแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวได้ หรือกรณีที่มีการสร้างนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีขึ้น ผู้ที่คิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าวก็จะได้รับการคุ้มครองโดยสิทธิบัตรซึ่งจะสามารถแสวงหาประโยชน์ในสถานะผูกขาดได้ระยะเวลาหนึ่ง และด้วยลักษณะของอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการให้บริการโดยอาศัยโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องมีการจำกัดจำนวนของผู้ประกอบกิจการในการเข้าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น จากลักษณะดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าการเข้าสู่อุตสาหกรรมไปอย่างจำกัดหรือมี “Barrier to entry” ค่อนข้างสูง

               ยิ่งไปกว่านั้น การลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล และระยะเวลาในการประกอบกิจการเพื่อคืนทุนก็เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น บางประเทศ รัฐบาลจะมีนโยบายเพื่อให้มีการผูกขาดหรือเพื่อให้สิทธิพิเศษบางประการแก่ผู้ประกอบกิจการ ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้ประกอบกิจการในการเข้ามาลงทุนภายในอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น การให้สัมปทาน เป็นต้น 

                ขณะที่ในอดีต บางประเทศเห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นกิจการที่สำคัญและใกล้ชิดอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐ หรือบางประเทศเห็นว่าการจัดทำนโยบายโทรคมนาคม ควรจะมุ่งเน้นนโยบายทางด้านสังคมเป็นหลัก ดังนั้น การประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศดังกล่าว รัฐมักจะเป็นผู้ผูกขาดการดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว (ทั้งเป็นผู้จัดสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมและเป็นผู้ให้บริการ) โดยรัฐเห็นว่าระบบผูกขาดเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจมากที่สุดและสามารถแสวงหาประโยชน์หรือแสวงหากำไรเชิงปริมาณ (economies of scale) ได้มากที่สุดเช่นเดียวกัน อีกทั้ง ระบบผูกขาดก็ยังเป็นระบบที่ป้องกันการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนกันได้ง่ายและสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยแนวทางการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมรูปแบบนี้ รัฐจะจัดตั้งผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่เป็นของรัฐและเป็นผู้ให้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว เช่น การจัดตั้งเป็นหน่วยงานราชการ (กรมไปรษณีย์โทรเลข) หรือรัฐวิสาหกิจ (องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย) เป็นต้น

                   การบริหารจัดการโดยรัฐเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการโทรคมนาคมประสบความสำเร็จในไม่กี่ประเทศ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (ประเทศสวีเดน ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเดนมาร์ก ประเทศฟินแลนด์) เป็นต้น แต่โดยส่วนใหญ่การบริหารจัดการรูปแบบดังกล่าวมักจะล้มเหลวและไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการให้บริการอย่างทั่วถึงซึ่งเป็นนโยบายเพื่อสังคมประเภทหนึ่ง และหากพิจารณาถึงระดับของความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจแล้วก็ยังถือว่าต่ำมาก และมักจะมีปัญหาในเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ โดยมาตรฐานการบริการก็มีแนวโน้มที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ

                   ปัญหาประการสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือ  ผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐมักจะไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ และบางประเทศปรากฏว่าการบริหารจัดการภายในองค์กรมีการดำเนินการในรูปแบบของหน่วยงานราชการมากเกินไป  ดังนั้น โดยส่วนใหญ่การบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมบนพื้นฐานของแนวคิดการผูกขาดโดยรัฐ มักจะประสบกับความล้มเหลวและไม่สามารถตอบสนองต่อประโยชน์สาธารณะหรือความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

 ๑.๓ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นอุตสาหกรรมที่มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว

                       นับตั้งแต่ การประดิษฐ์โทรเลขใน ปี ค.ศ. ๑๘๔๔ และโทรศัพท์ใน ปี ค.ศ. ๑๘๗๖ ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปัจจุบัน วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้จากพัฒนาการจากสายทองแดง เคเบิลใยแก้วนำแสง ตลอดจนเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่นำคลื่นความถี่วิทยุมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ กล่าวคือ วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สาย ได้เปลี่ยนแปลงมาถึงสามยุค (3 generation) ในระยะเวลาประมาณ 30 ปี นับตั้งแต่ การใช้เทคโนโลยียุคที่ 1 ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979 ที่มีการใช้ระบบอนาล็อกในการให้บริการ และการใช้เทคโนโลยีระบบดิจิตัลในยุคที่ 2 ในปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบอนาล็อกและภายในยุคนี้ผู้ใช้บริการสามารถส่งข้อความทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ และต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้เข้าสู่เทคโนโลยียุคที่ 3 ที่มีการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ International Telecommunication Union ได้แก่มาตรฐาน International Mobile Telecommunications – 2000 (IMT-2000) ซึ่งเทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้การใช้คลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยผู้ใช้บริการจะสามารถใช้งานโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตไร้สาย VDO-Call และ TV on Mobile ได้ จากวิวัฒนาการดังกล่าวเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายมีการเปลี่ยนแปลงระบบโดยเฉลี่ยทุกๆ สิบปี  

                    ยิ่งไปกว่านั้น จากลักษณะของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จึงทำให้แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามไปด้วย กล่าวคือ จากเดิมที่ที่เห็นว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่รัฐเท่านั้นที่สามารถจัดทำได้และการให้บริการดังกล่าวก็ถูกผูกขาดโดยรัฐมาอย่างยาวนาน และต่อมาทัศนคติดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเห็นว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่รัฐและควรจะให้เอกชนเข้ามาจัดทำบริการ ดังนั้น จึงทำให้บทบาทของรัฐ (ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการที่ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว) ได้เปลี่ยนแปลงเป็นผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ให้บริการที่เป็นเอกชนเท่านั้น ซึ่งในระยะเริ่มแรกรัฐมักจะทำสัญญาสัมปทานกับเอกชนเพื่อให้บริการโทรคมนาคมแทนรัฐ โดยรัฐจะได้รับค่าสัมปทานจำนวนมหาศาลต่อปีจากเอกชนที่ได้รับสัมปทานดังกล่าว

                 จากลักษณะของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นการยากที่รัฐจะสามารถให้บริการได้อย่างสอดคล้องกับเทคโนโลยีและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการบริหารจัดการที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ

๑.๔ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีแนวโน้มที่จะอยู่บนหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งโลก

                  กิจการโทรคมนาคมเป็นกิจการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยเสียง การสื่อสารด้วยตัวอักษร หรือการสื่อสารด้วยรูปภาพ ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวมิได้เป็นไปเพื่อการติดต่อสัมพันธ์กันภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการติดต่อสัมพันธ์กับภายนอกประเทศหรือระหว่างประเทศด้วย ซึ่งการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ จะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น กฎเกณฑ์หรือเทคโนโลยีที่ปรับใช้จะต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน กล่าวคือ เทคโนโลยีของประเทศต้นทางกับเทคโนโลยีของประเทศปลายทางก็จะต้องสอดรับกันหรือการใช้อุปกรณ์การสื่อสารที่ผลิตบนมาตรฐานเดียวกัน เพื่อจะได้สามารถใช้คลื่นความถี่ในย่านเดียวกันสำหรับการติดต่อระหว่างกันได้ เช่น การส่งข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง ประเทศปลายทางจะสามารถรับภาพที่ถูกส่งได้ก็ต่อเมื่อประเทศปลายทางมีเทคโนโลยีที่สามารถรับภาพเคลื่อนไหวที่ส่งมาได้ หรือกรณีที่มีการประดิษฐ์อุปกรณ์ต่างๆ จากผู้ประกอบกิจการในประเทศหนึ่งก็ควรจะสามารถนำไปใช้ได้กับทุกๆ ประเทศทั้งนี้ก็เพื่อการบริหารจัดการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางเศรษฐกิจมากที่สุด เป็นต้น และหากพิจารณาถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีโทรคมนาคมในยุคปี ค.ศ. 1980-1990 ที่เทคโนโลยีโทรคมนาคมแบบอนาล็อกแพร่หลายทั่วโลก จึงทำให้อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั่วโลกประกอบกับเทคโนโลยีโทรคมนาคมโดยส่วนใหญ่จะได้รับการคุ้มครองทางสิทธิบัตร ดังนั้น การที่ประเทศหนึ่งจะก่อสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมก็จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากผู้ที่ได้รับสิทธิบัตร ดังนั้น เทคโนโลยีการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละประเทศก็จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน มีการคิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ที่ใช้กับเทคโนโลยีโทรคมนาคมจำนวนมาก ดังนั้น การกำหนดมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์เพื่อใช้สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก มิเช่นนั้น หากผู้ประกอบกิจการทุกรายคิดค้นอุปกรณ์ต่างๆ โดยมิได้อยู่บนมาตรฐาน/หลักเกณฑ์เดียวกันแล้ว อาจจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้และผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลเสียมากที่สุด

                      อนึ่ง มีการจัดตั้งองค์กรระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างหลักเกณฑ์ทางด้านโทรคมนาคมคมและมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งโลก ทั้งนี้ก็เพื่อการติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ ดังเช่น การจัดทำมาตรฐานการเชื่อมต่อความถี่วิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ที่จัดทำมาตรฐานการเชื่อมต่อทางคลื่นวิทยุตามมาตรฐาน IMT 2000 ซึ่งระบุใน Recommendation ITU-R M.1457 หรือการกำหนดย่านคลื่นความถี่ (Spectrum band) หรือการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิค (Technical Standard) เพื่อให้มีการใช้งานอย่างสอดคล้องกันทั่วโลก เป็นต้น  ดังนั้น การกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงควรจะต้องดำเนินการอย่างสอดคล้องกันกับหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล หรืออีกนัยหนึ่งแต่ละประเทศไม่สามารถกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมโดยเพิกเฉยต่อหลักเกณฑ์ทางด้านโทรคมนาคมที่เป็นสากลได้

๒. การบริหารจัดการ (รูปแบบเดิม) อุตสาหกรรมโทรคมนาคม

๒.๑ การบริหารจัดการโดยการผูกขาดของรัฐ

                หลายประเทศเห็นว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นปัจจัยสำคัญและใกล้ชิดอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหลายประเทศเห็นว่าอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งจากแนวความคิดดังกล่าวนี้ รัฐ (แต่เพียงผู้เดียว) มักจะเห็นว่าหน้าที่ในการให้บริการโทรคมนาคมแก่ประชาชนเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐ โดยมีการจะจัดทำโดยหน่วยงานราชการ (กรมไปรษณีย์โทรเลข) หรือรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น บางประเทศเห็นว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาดในตัวเอง (natural monopoly) และรัฐเท่านั้นที่ควรจะเป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งทัศนคติของรัฐดังกล่าว มักจะใช้การผูกขาดเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายและใช้ในการแสวงหากำไรโดยเน้นการขายเชิงปริมาณ (economies of scale) ได้มากที่สุด

        อันที่จริงแล้ว ระบบผูกขาดมีข้อดีอยู่หลายประการด้วยกัน เช่น สามารถป้องกันการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานที่ซ้ำซ้อนกันได้ง่าย และสามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

         อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการโดยรัฐเป็นผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมแต่เพียงผู้เดียว ประสบความสำเร็จในไม่กี่ประเทศ กล่าวคือ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการรูปแบบดังกล่าว (โดยส่วนใหญ่) มักจะล้มเหลวและไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มักจะล้มเหลวในเรื่องการดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการให้บริการอย่างทั่วถึงซึ่งเป็นนโยบายเพื่อสังคมประเภทหนึ่ง และหากพิจารณาถึงระดับของความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจแล้วก็ถือว่ามีระดับต่ำมาก และมักจะมีปัญหาในเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการและมาตรฐานการบริการที่มีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ

         ปัญหาประการสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือ  ผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐมักจะไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ และการบริหารจัดการในบางประเทศมักจะมีการบริหารจัดการในรูปแบบของหน่วยงานราชการมากเกินไป

        จากประสบการณ์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เกิดขึ้นอาจสรุปได้ว่า การบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมบนพื้นฐานของแนวความคิดในเรื่องการผูกขาดโดยรัฐ โดยส่วนใหญ่มักจะประสบกับความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง


หมายเลขบันทึก: 541827เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 22:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท