การโค้ช: ข้อเท็จจริงกับการตีความ โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


ในการสนทนาการโค้ช สิ่งที่โค้ชชี่พูดออกมามักประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ และส่วนที่เป็น ‘การตีความ’ เช่น ข้อเท็จจริงคือ ลูกค้า Complain เรื่องการให้บริการเมื่อเช้านี้ การตีความคือ “มันเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นกับฉัน” มนุษย์จึงตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพราะสถานการณ์ แต่เป็นเพราะการตีความหรือความเข้าใจของมนุษย์ที่มีต่อสถานการณ์นั้นๆ ซึ่งคนสองคนที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันอาจตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะที่ต่างกัน จากผลการศึกษาด้านสมองระบุว่า สมองของคนมีความแตกต่างกันทั้งโดยกำเนิด และโดยประสบการณ์ชีวิต สมองเชื่อมโยงข้อมูลจากความจำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก จนเกิดเป็นแผนที่ต่างๆจำนวนมากมาย แต่ละคนมีแผนที่แตกต่างกัน ทำให้ตีความข้อมูลที่ได้รับ หรือสถานการณ์ที่เผชิญแตกต่างกัน โค้ชกับโค้ชชี่ก็มีแผนที่สมองแตกต่างกัน ในการฟัง โค้ชจึงต้องพึงระวังไม่ใช้การตีความที่เป็นผลมาจากประสบการณ์ หรือค่านิยมส่วนตัวของตนตัดสินโค้ชชี่ เพราะโค้ชชี่ย่อมมีแผนที่ของเขาเอง บทบาทของโค้ชคือการช่วยให้โค้ชตระหนักในแผนที่นั้น และเล็งเห็นถึงส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง กับส่วนที่เป็นการตีความ ซึ่งเป็นผลมาจากวิธีที่โค้ชชี่มองโลก หรือค่านิยมของโค้ชชี่


การช่วยให้โค้ชชี่สามารถเห็นความเชื่อมโยงและแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกับการตีความ โค้ชสามารถทำได้โดยการตั้งคำถามให้โค้ชชี่คิดและสำรวจวิธีคิดของตนเอง เช่น คุณคิดว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้คืออะไร?”เวลาที่คุณคิดถึงเรื่องนี้ คุณคิดถึงมันในแง่มุมใด?” “คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อคิดถึงเรื่องนี้?” “เรื่องนี้ทำให้คุณเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับตัวคุณเองบ้าง?” “คุณคิดว่าคนอื่นจะมองเรื่องนี้อย่างไร?”ถ้าคุณมองสถานการณ์นี้ด้วยสายตาของคนนอก คุณมองเห็นอะไร?”จะเห็นได้ว่า การตั้งคำถามที่ทรงพลังช่วยทำให้โค้ชชี่เห็นภาพตนเองชัดเจนขึ้นเห็นความจริง อคติ การตีความของตน โดยที่โค้ชไม่ต้องบอก ซึ่งถือว่าเป็นการค้นพบ และการเรียนรู้ครั้งสำคัญที่จะนำทางโค้ชชี่ให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหา ป้องกัน พัฒนา หรือจัดการกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างสร้างสรรค์


หมายเลขบันทึก: 541825เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท