beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

เรื่องเล่า "วิชาชีวิต"<๑๓> เมื่อบีแมนได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรค่ายเตรียมความพร้อมนิสิต Biology's Freshman


น่าจะเป็นปีแรกที่นิสิตภาควิชาชีววิทยาเลือกผมเป็นวิทยากร และก็อาจเป็นปีสุดท้ายด้วย

วันจันทร์ที่ 1 กรกฏาคม 2556 เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่ง นิสิตชื่อธรณินทร์ (ความหมายของชื่อคือ ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน) มาหา เขาเป็น Advisee ของอาจารย์ประสุข หรือ อาจารย์ภูคา.. นิสิตคนนี้เป็นคนมีน้ำใจ ผมประทับใจเขาตั้งแต่เขาอยู่ปีที่ ๑ แล้ว เวลาผมถือของอะไรอยู่ก็ตาม เขามักเสนอตัวมาช่วยถือของ..ผมจำเขาได้ดีในฐานะตัวแทนของนิสิตปี ๑

เขาเรียนกับผมในรายวิชา "สัตววิทยา" เมื่อตอนเขาอยู่ปี ๑ เทอม ๒ เมื่อปลายปี 2555 เวลานี้เขาเป็นนิสิตปี ๒ และปีของเขาจะทำหน้าที่ดูแลรับน้องปี ๑ ที่จะเข้ามาเรียนในวันที่ 19 สิงหาคม 2556 นี้ (ปีแรกที่ทดลองเตรียมความพร้อมในการเป็นภาคีสมาชิกประชาคมอาเซียน) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์จะจัดกิจกรรมรับน้องและอื่นๆ ช่วงตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป และเปิดโอกาสให้นิสิตแต่ละภาควิชาได้จัดค่ายเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ 3 และ 4 สิงหาคม 2556

ธรณินทร์ มีำตำแหน่งเป็นผู้ประสานงานของรุ่น มาหาผม (เป็นคนแรก) 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่ง เพื่อเชิญให้เปิด Lab การเลี้ยงผึ้ง ให้นิสิต 88 คน (แบ่งเป็น 8 กลุ่มๆ ละ 11 คน) ได้เยี่ยมชมกิจการเพื่อเป็นแนวคิดในการทำ "การศึกษาอิสระ" หรือ "ปัญหาพิเศษ" สำหรับนิสิตชีววิทยา ซึ่งประเด็นนี้ ผมได้เสนอว่า น่าจะฉายหนังของบีแมนให้ดูก่อน ถ้าคนไหนประทับใจค่อยพาไปชมกิจการเรื่องผึ้งต่อไป แต่ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน (เพิ่มเติมวันที่ 4 กรกฏาคม 2556 เปลี่ยนเป็นสุ่มนิสิตมาดูงานฐานผึ้ง 2 กลุ่ม กลุ่มละครึ่งชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลาจะไม่ติดกัน)

เรื่องที่สอง เพื่อจะเชิญให้เป็นวิทยากรในวันที่ 3 สิงหาคม 2556 พูดเรื่อง "เรียนชีววิทยา(จบ) แล้วจะไปทำงานอะไร" หัวข้อประมาณนี้ โดยให้เวลาผมบรรยายประมาณ ๑ ชั่วโมงเต็ม-ประเด็นนี้ได้หาข้อยุติกันนานที่เีดียว (ประมาณ 2 ชั่วโมง)

ก่อนอื่นผมถามเขาว่า "ทำไมถึงเลือกมาเชิญผม" ไปเป็นวิทยากรในเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีอาจารย์ในภาควิชาประมาณ 23 คนให้เลือก (น่าจะเป็นปีแรกที่นิสิตภาควิชาชีววิทยาเลือกผมเป็นวิทยากร และก็อาจเป็นปีสุดท้ายด้วย)..เขาให้เหตุผลหลายอย่างด้วยกัน

  1. ประการแรก การที่จะเลือกอาจารย์คนไหนเป็นวิทยากรประจำปีนั้น ต้องผ่านที่ประชุมของนิสิตรุ่นที่รับผิดชอบ และเสียงส่วนใหญ่เลือก
  2. บีแมนสอนมานาน น่าจะมีลูกศิษย์ลูกหามาก และมีหลากหลายอาชีพ น่าจะแนะนำเรื่องนี้ได้ดี
  3. บีแมน เป็นคนเดียว (ความจริงมี 2 คน) ที่มีวิธีสอนแตกต่างจากอาจารย์คนอื่นๆ ในภาค เพราะสอนแบบกระตุ้นให้นิสิตคิด มากกว่าสอนด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว
  4. บีแมนสอนแบบสอดแทรกธรรมะหรือคุณธรรม จริยธรรม เข้าไปในการเรียนการสอน โดยที่นิสิตจะได้รับไปโดยไม่รู้ตัว แบบนี้นิสิตโดยรวมจะชอบมากกว่า ที่จะพูดธรรมะไปตรงๆ ซึ่งมันจะดูน่าเบื่อมากสำหรับคนยุคนี้
  5. ในด้านวิชาการ บีแมนก็จะสอนแบบเน้นจุดสำคัญ ประเด็นสำคัญ มากกว่าจะสอนแบบเหวี่ยงแห อย่างสอนเรื่องเส้นเลือด ก็จะสอนให้ท่องชื่อเส้นเลือดที่สำคัญ ไม่ได้เน้นให้ท่องชื่อทุกเส้น เพราะในเวลาจำกัด นิสิตจำได้ไม่หมด

ที่จับประเด็นได้น่าจะมีเพียงเท่านี้ ต่อไปก็เป็นเรื่องหัวข้อที่จะไปบรรยาย ซึ่งเป็นคำถามยอดฮิตของทั้งผู้ปกครองและนิสิต คือ "เรียนจบชีววิทยาแล้วจะไปทำงานอะไร"

หัวข้อนี้วิทยากรบางคน พูดแค่ 1 ชั่วโมงก็พอแล้ว แต่สำหรับผมนั้นถ้าให้พูดฝอยจริงๆ ควรจะได้พูดสัก 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย..

ผมบอกธรณินทร์ว่า ถ้าจะให้ผมบรรยายเรื่องนี้ คงต้องมีการเตรียม Script สักหน่อย ไม่อย่างนั้นบีแมนจะพูดแบบสะเปะสะปะ จับประเด็นอะไรไม่ค่อยได้ ทางที่ดีให้ไปตั้งคำถามย่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ว่านิสิตอยากได้คำตอบเป็นแบบไหนกันบ้าง..(ธรณินทร์จะกลับไปทำการบ้านคือตั้งคำถามย่อยๆ และจะกลับมาพบบีแมนอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 4 ก.ค. แต่ผมขอให้มาพบในวันศุกร์ที่ 5 ก.ค.แทน เนื่องจากผมมีช่วงว่างมากกว่านั่นเอง)

ความจริงนิสิตที่มาเรียนก็จะมีอยู่ 2-3 พวก

  1. พวกที่หนึ่งเป็นพวกได้ทุน พวกทุเรียนดี เช่น พสวท., สกอ. พวกนี้ก็จะทราบอยู่แล้วว่าเรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไร เพราะเส้นทางอาชีพมันบอกอยู่แล้วตอนได้รับทุน
  2. พวกที่สอง นิสิตเลือกชีววิทยามา เพื่อต่อไปจะย้ายวิชาเอกหรือย้ายคณะ ที่ผ่านมาเคยย้ายไปเอกเคมี, คณิตศาสตร์ หรือสาขาขาดแคลนอื่นๆ ถ้าย้ายคณะ จะย้ายไปคณะพยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ หรือสาขาที่เป็นสายภาษา
  3. พวกที่สาม คือ พวกที่ยังไม่รู้ว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไร-ซึ่งพวกนี้แหละที่ผมสนใจมากกว่าพวกอื่นๆ

อันที่จริงผมก็ได้คุยกับธรณินทร์แล้วว่า-ในความเป็นจริงเมื่อเราจะเลือกเรียนสาขาชีววิทยา เราก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราจะเรียนชีววิทยาไปทำไม แต่เนื่องจากระบบแนะแนวบ้านเรานี้อ่อนมาก. (โทษสิ่งภายนอก) ทำให้นิสิตไม่ทราบว่ามาเรียนชีววิทยาไปทำไม อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหามากในบ้านเราคือ "เราไม่ค่อยรู้จักตัวเอง" (โทษสิ่งภายใน) สักเท่าไร

ถ้าเรารู้จักตัวเองดีพอแล้ว เราจะไม่ั้ตั้งคำถามหรอกว่า เมื่อเรียนจบชีววิทยาแล้วจะไปทำงานอะไร

สำหรับตัวบีแมนแล้ว เคยตั้งคำถามและตอบคำถามตัวเองดังนี้

  1. ผมเป็นคนสุดท้อง พวกพี่่ๆ จะเสียสละให้น้องเรียน และพี่ที่ส่งให้เรียนบอกว่าจะส่งเสียให้เรียนเท่าที่จะมีปัญญาเรียน แต่ชั้นสูงสุดแค่ปริญญาตรีเท่านั้น
  2. ตอนเรียนหนังสือตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยม ผมจะได้คะแนนดีทางสายศิลปะ มากกว่าสายวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องจากนโยบายทางการศึกษาและพัฒนาประเทศ จะส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะมีอาชีพที่หลากหลายกว่า บีแมนจึงถูกโฆษณาให้มาเรียนสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกรดไม่ค่อยดี และมีประวัติว่าเรียนตกวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไปตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ (2หรือ3 ก็จำไม่ได้แล้ว-ต้องไปสอบซ่อมกับครูเลื่อน-เป็นครั้งแรก-ครั้งเดียว-และวิชาเดียวที่ต้องไปสอบซ่อม)
  3. ตอนเรียนม.ศ 4-5 สายวิทยาศาสตร์ วิชาที่ได้คะแนนมากสุดก็คือชีววิทยา
  4. ตอนมาเรียนคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย เลือกเรียนชีววิทยา เพราะว่าไม่จำกัดเกรด และต้องเลือกตามคะแนน พวกที่มีเกรดน้อยๆ จะมีสิทธิ์ไปเลือกสาขายอดนิยมได้อย่างไร (ยอดนิยมสมัยผมคือพวกสาขาพื้นฐานเคมี และพวกสาขาประยุกต์ต่างๆ เช่น วัสดุศาสตร์)
  5. การจะเลือกเรียนอะไร ต้องเลือกเรียนตามสาขาที่เราถนัดที่สุด เรียนแล้วคิดว่าจะมีความสุขที่สุด เราเรียนเพื่อที่จะรู้ และพัฒนาตกผลึกไปเป็นปัญญา
  6. เมื่อเราเรียนได้ดี ทำได้ดี มีวิธีคิดที่ดีแล้ว งานการดีๆ ก็จะตามมา หรือเราอาจสร้างงานเองก็ได้
  7. เราเลือกเรียนอะไร และเราจะเลือกอาชีพอะไร ตัวเราต้องเป็นคนกำหนดเอง มากกว่าที่จะให้เขา (ตัวระบบหรือนายจ้าง-มาเป็นต้วกำหนดเรา)
  8. ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีนั้น ผมคิดว่า ผมจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดตามแบบฉบับของผม ตามความถนัดของผม เมื่อผมทำดีที่สุดแล้ว การจะไปทำอาชีพอะไรนั้นไม่สำคัญ ขอให้อาชีพที่เราทำนั้นมีความสุข และไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นๆ มากเกินไป..
  9. ผมโชคดี ที่งานอาชีพ-ได้เงินเดือนของผม เป็นอาจารย์สอนทางด้านสัตววิทยา โดยมีวิชาการเลี้ยงผึ้งเป็นวิชาเลือกเอก และผมยังมีงานอดิเรกคือ เลี้ยงผึ้ง (เหมือนคนอื่นเลี้ยงสุนัขและแมว) ซึ่งนอกจากให้ความสุข คลายเครียดแล้ว ยังทำรายได้เพิ่มให้กับเราบ้าง (แต่คงไม่ดีเท่ากับการทำวิจัยเป็นอาชีพ และขอตำแหน่งทางวิชาการ-แต่ทั้ืงนี้ทั้งนั้นเราเป็นคนเลือก และผมเลือกที่จะไม่ขอตำแหน่งทางวิชาการ-เพราะมัีนคือการ "ขอ" ผมเลือกที่จะ "ให้" มากกว่า "ขอ")
  10. ในตอนหลัง ผมได้แนวคิดจากดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ว่า "เราอยู่ในโลกใบเีดียวกัน และเป็นรุ่นพี่ด้วย เรามีหน้าที่เพิ่มอีกอย่างหนึ่ง คือเราต้องถ่ายทอดประสบการณ์และวิธีคิดของเรา ให้กับรุ่นน้องที่อยากเรียนรู้กับเรา"


หมายเลขบันทึก: 541098เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 23:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ธันวาคม 2014 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)


สวัสดีค่ะอาจารย์บีแมน อ่านบันทึกทั้งหมด ชอบวิธีการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนเป็นรายกรณี  และขอปรบมือให้กับความเป็นตัวตนของอาจารย์ทั้ง 10 ข้อนะคะ ซึ่งในวันนี้ก็เพิ่งทราบว่าทำไมอาจารย์จึงมีนามแฝงว่า 'บีแมน' ขอชื่นชมค่ะ

เรียน ท่านดร.พจนา

  • เป็น comment ที่ตรงจุดตรงประเด็นดีครับ.
  • ขอบคุณครัีบ
  • ตอนเขียนบันทึกนี้ คิดว่าคงเขียนเป็นบันทึกสั้นๆ แต่เขียนไปเขียนมา แก้แล้วแก้อีกเลยยาวไปหน่อย..อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท