พระพุทธเจ้า-ไอน์สไตน์



พระพุทธเจ้า-ไอน์สไตน์
ขอยก"คำควรคิด"เป็นใบเบิกทาง
โลกเรานับว่าโชคดีมหาศาลที่สวรรค์ประทานพระพุทธเจ้า และไอน์สไตน์มาให้
แต่ก็ถือว่ายังโชคร้าย
ที่ไม่ได้ประทานอภิมหาอัจฉริยะอีกท่าน
เพื่อมาหลอมรวมศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของอัจฉริยะอย่างพระพุทธเจ้า และไอสไตน์ไว้เป็นหนึ่งเดียว


ฟ้าลิขิตหรือไรใครกำหนด
ให้รับบทต่างกันนั่นไฉน
คงใช่ฟ้าลิขิตทิศทางใคร
คงอยู่ในหมู่ฅนชนเดียวกัน

ก็เงื่อนไขสังคมเป็นปมเงื่อน
กำหนดเหมือนหรือต่างห่างแยกชั้น
ถึงบางถิ่นบางแห่งแบ่งผิวพรรณ
เปิดปิดกั้นนั้นกำหนดกฎสังคม

หากกำหนดบทบัญญัติจัดถูกต้อง
ถูกครรลองนับดีที่เหมาะสม
ถนนชีวิตจักชื่นแลรื่นรมย์
ชนนิยมชื่นชอบระบอบดี

แต่ที่เห็นล้วนเป็นเช่นปัญหา
ทั่งโลกาวุ่นวายให้ทุกที่
ล้วนปัญหาสารพันนั้นมากมี
เงื่อนไขนี้มิถูกทางอย่างแน่นอน

หันมามองตรองดูในหมู่สัตว์
ตัวชี้วัดเที่ยงธรรมน่านำสอน
ขอศึกษากิจกรรมสัตว์จัดขั้นตอน
ข้อมูลป้อนครบถ้วนกระบวนความ

จักได้พบสัจธรรมสุดล้ำเลิศ
ได้ก่อเกิดความฉลาดมาตรฐาน
ดำรงชีพถูกทิศจิตชื่นบาน
ถือเป็นงานสำคัญนั่นควรตรอง

ที่พลาดผิดคิดทวนแลด่วนแก้
เพื่อเผื่อแผ่มนุษย์เองเร่งสนอง
ดำรงชีพงดงามตามครรลอง
จักมิต้องวุ่นวายทั้งกายใจ

ยึดหลักสอนพระพุทธเจ้าเข้าระบบ
อีกทวนทบไอน์สไตน์ไว้เสริมใส่
สองนักปราชญ์ฉลาดรู้กว่าผู้ใด
นี่กำไรมนุษย์แท้อย่างแน่นอน

ศาสนาพุทธสุดประเสริฐเลิศแห่งศาสตร์
ยึดธรรมชาติเป็นที่ตั้งดั่งศีลสอน
คำว่า "ธรรม" ความหมายมีสี่ขั้นตอน
พึงสังวรณ์ไว้มั่นอย่าผันแปร

หนึ่งธรรมคือ "ตัวธรรมชาติ"
โลกธาตุที่เห็นเป็นแน่แท้
รวมอากาศตะวันอีกนั่นแล
เมฆดาวแขรวมไว้ให้ด้วยกัน

สองธรรมะคือ "กฎธรรมชาติ"
กฎโลกธาตุรวมพร้อมแวดล้อมนั่น
สาม "ปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ" เป็นสำคัญ
ที่สี่ขั้น "ผลปฏิบัติ" จัดเป็นธรรม

อริยสัจสี่ที่ค้นพบ
อธรรมครบสี่ขั้นอันเลิศล้ำ
84000พระธรรมขันธ์นั้นน้อมนำ
คุมผลกรรม "ธรรม" ทั้งสีตอน

พุทธประว้ติตัวนำสู่ธรรมา
เป็นปรัชญาวิทยาการในด้านสอน
ให้ถึงพุทธที่แท้เป็นแน่นอน
ดุจละครเผยแผ่แด่พระธรรม

พุทธประวัติจัดเป็นอุทาหรณ์
เป็นการสอนเข้าถึงพุทธสุดเลิศล้ำ
ทรงสละราชสมบัติจัดน้อมนำ
เพื่อตอกย้ำสลัด "วัตถุนิยม"

เห็นวัตถุเป็นกิเลสเภทตัณหา
เกิดมารยาชีวิตพิษขื่นขม
ทรงมองไกลอยู่ร่วมรวมสังคม
หลงชื่นชมสินทรัพย์นับผิดทาง

นี่คือแก่นพุทธศาสน์ศาสตร์สูงสุด
หลักพระพุทธฉุดมนุษย์ให้หลุดพ้น
สันติสุขไหลหลั่งยังผองชน
ดำรงตนพอเพียงเลี่ยงอับปาง

โลกโชคดีมีพุทธศาสนา
ประหนึ่งยาคุ้มไข้ได้กว้างขวาง
ใช้ปัญญาเฟ้นธรรมนำถูกทาง
ส่องสว่างชีวิตนิจนิรันดร์

โลกโชคดีมีไอน์สไตน์ยื่นให้โลก
มหาโชคชั้นสองของโลกนั่น
วิทยาศาสตร์คุณค่ามหาอนันต์
หากรู้สรรรู้ใช้มากมายคุณ

แท้โลกให้ไอน์สไตน์แลพุทธศาสตร์
สองจอมปราชญ์คุมโลกาอย่าให้วุ่น
สองปราชญ์นี้ถือว่ามหาบุญ
ช่วยเกื้อหนุนโลกได้ให้ยืนยง

วิทยาศาสตรปราชญ์คุมธรรมชาติ
ใช้วิทยาศาสตร์ถูกควรอย่าด่วนหลง
จักพิทักษ์โลกไว้ให้ดำรง
ไปตามตรงกฎเกณฑ์ที่เป็นมา

น่าเสียดายสิ่งของสองค่าล้ำ
มิได้นำมาใช้ให้เกิดค่า
ด้วยกิเลสปิดหูแลปิดตา
หลงมารยาล่วงล่อรอวันตาย

หยิบหลักธรรมนำใช้ให้ผิดที่
หยิบกระพี้ที่ทำแก่นธรรมหาย
พระพุทธทาสนำแจงออกแพร่งพราย
น่าเสียดายรับไม่ติดกิจธรรมทาน

ด้วยวัตถุมอมเมาเป็นเสาหลัก
จึงจมปลักตัณหาคอยพล่าผลาญ
ไม่มีวันไต่ถึงซึ่งนิพพาน
นี่ตัวการทำลายโลกแสนโศกตรม

วิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ใช้พลาดผิด
เกิดภัยพิษต่อมนุษย์สุดขื่นขม
ด้วยนำใช้บำเรอเห่อวัตถุนิยม
โลกจะล่มเพราะวิทยาศาสตร์อนาถครัน

ขอมาตรองมองเฟ้นเห็นถึงสัจ
ได้ขจัดนรกจิตเห็นทิศสวรรค์
เพื่อมนุษย์เผ่าพงศ์คงเผ่าพ้นธุ์
อยู่ร่วมกันสันติสุขทุกเมื่อเทอญ



นายประทีป วัฒนสิทธิ์




 



คำสำคัญ (Tags): #ธรรมชาติธรรม
หมายเลขบันทึก: 540958เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2013 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเคยอ่านหนังสือ ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เขียนโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา เป็นการเปรียบเทียบไม่เน้นให้เห็นความแตกต่าง แต่ให้เห็นความสอดคล้องต้องกันของ บุคคลทั้ง  2 ท่าน ผู้เปิดโลกทั้งทางวัตถุ(โลก) และทางจิต(ธรรม) หาก บุคคลทั้ง 2 ท่านนี้ได้มาพบเจอกันสักครั้ง โลกเราคงมีความเจริญทางทางวัตถุและทางจิตไปมากกว่านี้ เสียดาย "เวลา" ทำให้อัจฉริยะทั้ง 2 ไม่ได้พบกัน โลกเราก็เป็นเช่นนี้เอง

ขอให้คำแนะนำการแก้ไขด้วยครับ ผมทำไม่ได้เลย แปลกมากครับ สวัสดี

Today,"we" know about both the Buddha's Teachings and Einstein's theories. "We" can combine our knowledge and do (or become) what the Buddha and Einstein could not. Both geniuses had their place and time. They gave up valuable legacies for life and understanding of life in different ways.

But the world is ours "now". And it is up to "us" to make the world we want it to be. It is our duty "now" -- not our ancestors in history, nor our future generations but "we" of today.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท