อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ สัญลักษณ์ความสามัคคี ในหลากหลายมุมมอง


อนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์สัญลักษณ์ ความสามัคคีในหลากหลายมุมมอง

                                                                                             โดยนายเอกสิทธิ์ เสาวงษ์


           นายอรุณ วิไลรัตน์ มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว ระหว่าง วันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๒ ถึง วันที่ ๒๐
ตุลาคม ๒๕๐๘  ผมเอง นายเอกสิทธิ์ เสาวงษ์  อดีตเกษตรอำเภอเมืองนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๙๓ ที่บ้านเกาะแก้ว หมู่ที่ ๑๐ ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ ในช่วงที่ นายอรุณ วิไลรัตน์ เป็นนายอำเภอหนองบัว ท่านได้ออกไปพูดแนะนำชักชวนให้ประชาชนทุกหมู่บ้านในอำเภอหนองบัวบริจาคเงินซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ มาใช้เพื่อช่วยพัฒนาขุดสระน้ำ และทำถนน ตามความต้องการของแต่ละตำบลในอำเภอหนองบัว แทนแรงงานคนที่ได้ผลงานน้อย ซึ่งคนหนองบัวส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเห็นรถแทรกเตอร์มาก่อนว่ามีความสามารถทำงานได้มากน้อยเพียงใด แต่ก็เชื่อฟังในคำบอกเล่าชักนำของนายอำเภอนักพัฒนาเงินที่รวบรวมได้เป็นเงินจากชาวบ้าน  ส่วนใหญ่เป็นชาวนาในอำเภอหนองบัวนั่นเอง  โดยคิดคำนวณจากจำนวนไร่นาที่ครอครองอยู่  พ่อแม่ผมมีนาที่ครอบครอง ๑๐๐ ไร่เศษได้ช่วยบริจาคซื้อรถแทรกเตอร์ไปเท่าไรผมไม่ได้ถามพ่อผมเพื่อจดจำไว้แต่ก็คงหลายร้อยบาททีเดียว

           เมื่อผมอายุ ๑๒ ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนประถมศึกษาวัดเกาะแก้วนายอำเภออรุณ ได้ซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ มาใช้งานในอำเภอหนองบัวแล้วและได้เข้ามาทำถนนในเส้นทางสายอำเภอหนองบัว-ชุมแสง แยกเข้าตำบลห้วยร่วม ผ่านบ้านเกาะแก้วเข้าไปบ้านห้วยร่วมผ่านหมู่บ้านผมพอดี เช้าวันหนึ่งผมจึงปรารภกับพ่อว่า

            “พ่อๆพาผมไปดูรถแทรกเตอร์ของอำเภอทำถนนหน่อย ซีครับ เขาว่ามันทำงานเก่งกว่าคนมากเลย”

         พ่อรับปากผม เช้าวันนั้นเป็นวันโกนผมกินข้าวที่แม่หุงเตรียมไว้ให้แต่เช้าและเตรียมห่อข้าวกับปลาเค็มปลาช่อนด้วยใบตองห่อใหญ่สำหรับไปกินกลางวันกับพ่อถนนไปห้วยร่วมห่างทางแยกเข้าบ้านเกาะแก้วประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ เช้าวันนั้นรถแทรกเตอร์ทำงานอย่างแข็งขันเหมือนจะอวดชาวบ้านว่า

        ”ฉันแน่กว่าพวกแกอีก ฉันทำงานเก่งกว่าพวกแก ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยวันหนึ่งทำงานได้มากกว่าแรงงานคนเป็นหลายพันคนทีเดียวนา พี่น้องเอ๋ย ”

        ชาวบ้านเกาะแก้วและหมู่บ้านใกล้เคียงแห่มาดูทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นับเป็นร้อยคนขึ้นไปทุกวันมีคนขับ ๒ คนผลัดเปลี่ยนกันขับ จะเริ่มทำงานตั้งแต่ ๒ โมงเช้า จนถึงเที่ยงวันพักกินข้าวกลางวัน ดูแล้วคนขับรถแทรกเตอร์จะอิ่มหมีพีมันดี มีชาวบ้านเอาอาหารของกินมาฝากกันมากมายตามแบบนิสัยคนชนบท  มีความเอื้อเฟื้อต่อคนที่มาช่วยเหลือพัฒนาหมู่บ้านตนเองพอตกเย็นห้าโมงเย็นก็หยุดพักผ่อนดูแล้วก็สนุกดีเพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลยในชีวิตตั้งแต่เกิดมาจากท้องแม่  

        พ่อกับผมก็หาร่มเงาต้นไม้กลางนา ดึงเอาห่อข้าวปลาเค็มปลาช่อนที่แม่ห่อมาให้กินกันอย่างเอร็ดอร่อย
พอบ่ายโมงรถแทรกเตอร์เริ่มทำงานอีก ผมกับพ่อดูต่ออีกเล็กน้อยพ่อบอกว่าเดี๋ยวแม่บ่นว่าไปกันนาน จึงชวนผมเดินทางกลับบ้าน

        จนที่สุดชาวบ้านก็รู้จักคุ้นเคยกับรถแทรกเตอร์ ของนายอำเภออรุณ กันดี เมื่อจบประถมปีที่ ๔ แล้วผมก็ไปเรียนต่อจนจบชั้นมัธยมปีที่ ๖ แล้วได้รับทุนไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมจังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางการเกษตร กลับมาสอบบรรจุเป็นครู โรงเรียนหนองบัว(เทพวิทยาคม) ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ผมโอนมาอยู่กรมส่งเสริมการเกษตร จนได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเกษตรอำเภอหนองบัว ผมได้เห็นรถแทรกเตอร์ ดี ๘จอดทิ้งอยู่ในป่ากระถินข้างสำนักงานเกษตรอำเภอหนองบัวของผม ซึ่งปัจจุบันก่อสร้างเป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอหนองบัว ผมเคยถามเสี่ยฮ้ง ผู้รับเหมาอำเภอ ว่าเขาเอามาจอดทิ้งไว้ทำไม เสี่ยฮ้งบอกว่ามันใช้งานไม่ได้เขาขายทอดตลาดไปแล้ว ผมได้แต่ปลงอนิจจังว่า “เฮ้อ เมื่อก่อนนี้มีแต่คนมุงดูแกทำงานเดี๋ยวนี้ไม่มีใครเหลียวแล หรือ อยากมองดูแกแล้ว โถ ! น่าสงสารจัง”

             นายสมหมาย ฉัตรทอง มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอหนองบัว ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ถึง วันที่ ๗มกราคม ๒๕๒๘ วันหนึ่งท่านเดินผ่านเห็นรถแทรกเตอร์ ดี ๘ จอดทิ้งไว้ในป่ากระถิน ณที่เดียวกับที่ผมเห็นแต่ต่างเวลากันได้เอ่ยถาม ปลัดสิงห์ชัย ภู่งาม ปลัดอำเภอคู่ใจ ด้วยคำถามคล้ายกันกับผม และได้คำตอบเหมือนกัน นายอำเภอสมหมาย ฉัตรทอง จินตนาการได้ไกลกว่าผมว่าน่าจะเอาคืนกลับมาเป็นที่รำลึกถึงความดีของชาวหนองบัวจึงได้ปรึกษาผู้นำฝ่ายสงฆ์ พระนิภากรโสภณ (เจ้าคุณไกร)ข้าราชการ พ่อค้าประชาชน และโดยเฉพาะชมรมร่วมใจชาวหนองบัว หาเงินจัดซื้อรถแทรกเตอร์ ดี ๘ คันนี้ คืนมาจัดสร้างเป็นอนุสรณ์ความสามัคคีชาวหนองบัว ตบแต่งพ่นสีสวยงามอยู่บนแท่น แล้วนำรูปปั้น นายอำเภออรุณ วิไลรัตน์ ที่นายอำเภอสมหมายขอร้องให้ภรรยาท่านนายอำเภออรุณปั้นให้     มาตั้งไว้บนแท่นหน้าฐานรถแทรกเตอร์ จัดให้มีงานรำลึกถึงนายอำเภออรุณ
วิไลรัตน์ และแสดงพลังความสามัคคี ในงานวันที่ ๔ พฤศจิกาพัฒนาประจำปี
มีประชาชนตำบลหนองบัวและตำบลหนองกลับ  มารวมพลังกันหน้าอนุสาวรีย์รถแทรกเตอร์ในตอนเช้าเพื่อรำลึกถึงความดีของนายอำเภออรุณ
โดยเชิญให้ประธานในพิธีคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์หรือตัวแทน คล้องพวงมาลัยดอกไม้ให้รูปปั้นนายอำเภออรุณ แล้วกล่าวสดุดีความดีของท่าน ก่อนเริ่มออกไปพัฒนาโดยใช้รถอีแต๋นขนดินถมที่ลุ่มในบริเวณวัด และถนนสาธารณะตามแผนงานที่กำหนดไว้      เป็นเวลา ๑ วัน   มีรถอีแต๋นของชาวบ้านมาร่วมพัฒนากันมากมายทุกปี
ผมยังต้องมีภารหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอสมหมายจัดรูปขบวน แบ่งภารหน้าที่ให้หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลหนองกลับ และตำบลหนองบัว ทำงานขนดินพัฒนาวัดหนองกลับ วัดเทพสุธาวาส และที่สาธารณะเป็นประจำทุกปีในห้วงที่ท่านเป็นนายอำเภอ พอพ้นสมัยของนายอำเภอสมหมายแล้วก็เลิกรากันไป ผมปรารภอยู่ในใจว่า “เจ้ารถแทรกเตอร์ ดี ๘ ที่น่ารักเอ๋ย ชีวิตสรรพสัตว์ ก็มีขึ้น มีลงอยู่อย่างนี้ล่ะเจ้าเอย !

          ปัจจุบัน ณ ขณะนี้ เจ้าแทรกเตอร์ ดี ๘ น่าจะเป็นสมบัติมีค่าที่แสดงถึงพลังความสามัคคีของชาวอำเภอหนองบัวในอดีต  ซึ่งไม่มีอำเภอใดในจำนวน ๑๕ อำเภอ ของจังหวัดนครสวรรค์ ที่จะมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์และมีนายอำเภอที่มีผลงานที่สำคัญ ให้ประชาชนได้กล่าวขวัญติดอยู่บนริมฝีปากและเป็นที่จดจำของประชาชนในด้านดีอย่างไม่ลืมเลือนสักอำเภอเดียวจริงๆ อำเภอหนองบัวนับว่าโชคดีที่สุดในจังหวัดนครสวรรค์ที่มีสิ่งนี้ แต่สมบัติอันมีค่านี้กลับตกอยู่ในสภาพรกร้าง ทรุดโทรม ขาดการใส่ใจปรับปรุงพัฒนาให้สมกับเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของชาวหนองบัวในอดีต
             หรือผมอาจจะคิดมากไปเอง เพราะในอดีตพ่อแม่ ญาติพี่น้องของผม ที่บ้านเกาะแก้ว ตำบลห้วยร่วม และประชาชนทุกตำบล หมู่บ้าน ในยุคนั้นได้ร่วมกันบริจาคเงินรวมกันทั้งอำเภอจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเจ้าแทรกเตอร์ ดี ๘ มาเป็นสมบัติของอำเภอหนองบัว ฉะนั้นพวกเราคนรุ่นหลังรวมทั้งผู้นำตำบลและหมู่บ้าน อย่าได้ลืมความหลังในอดีตกันง่ายๆ เลยครับ บรรพบุรุษของเราได้ร่วมกันทำความดีเอาไว้
เป็นสัญลักษณ์ เตือนตา เตือนใจพวกเรา ให้ระลึกถึงความสามัคคีร่วมใจกันของท่าน ในการพัฒนาถนนหนทาง แหล่งน้ำ ให้พ้นจากความยากลำบากในอดีต พูดแล้วน้ำตามันจะไหล เจ้าแทรกเตอร์ ดี ๘ ที่น่ารักเอ๋ย

                                             ---------------------------------------------------

                   

 

                     

                    

                    

                    

                     

   

 

หมายเลขบันทึก: 540816เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 20:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 22:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท