การโค้ชด้วยคำถาม (Coaching by Questions) โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


No Questions, No Coaching

การโค้ชด้วยคำถาม (Coaching by Questions)

โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ, วิทยากร และ Results Certified Coach

เมื่อพูดถึงการโค้ช คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงทักษะที่สำคัญที่สุดคือ ‘ทักษะการตั้งคำถาม’ เพราะการโค้ชที่ปราศจาก ‘การตั้งคำถาม’ เท่ากับว่า ‘ไม่มีการโค้ชเกิดขึ้น’

No Questions, No Coaching

การโค้ชเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยศักยภาพมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ศักยภาพนั้นในการปฏิบัติงาน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จ คำไว่า ‘ปลดปล่อยศักยภาพ’ มีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่าคือการ ‘ปล่อยออกมา’ ไม่ใช่ ‘ใส่เข้าไป’ ด้วยการให้คำแนะนำสั่งสอน ขณะที่การตั้งคำถามให้อีกฝ่ายได้คิดด้วยตนเอง จะช่วยให้โค้ชชี่สามารถปลดปล่อยศักยภาพออกมาได้มากกว่า

คำถามนั้นมีพลังมหาศาล คำถามช่วยเปิดประตูไปสู่การแก้ปัญหา กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การค้นพบทางออกใหม่ๆ การตั้งคำถามที่ทรงพลังยังช่วยให้โค้ชชี่เข้าใจสถานการณ์ หรือประเด็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น

รูปแบบของคำถามที่ใช้ในการโค้ชมีอยู่ 2 แนวทาง

1. คำถามที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจกับปัญหาและสาเหตุ (Problem-Focused Questions) เช่น

·  เกิดอะไรขึ้น?

·  สาเหตุเกิดจากอะไร?

·  ลูกค้ารู้สึกอย่างไร?

·  ใครรับผิดชอบในเรื่องนี้?

·  ผลกระทบคืออะไร?

·  อะไรคือแรงจูงใจของเรื่องนี้?

·  อะไรคือปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย?

2. คำถามที่มุ่งเน้นการแสวงหาทางออกหรือวิธีการจัดการกับปัญหา (Solution-Focused Questions) เช่น

·  คุณมองเรื่องนี้อย่างไร?

·  คุณเรียนรู้อะไรจากสถานการณ์นี้บ้าง?

·  เราจะเดินหน้าต่อไปจากจุดนี้อย่างไร?

·  สิ่งที่คุณต้องการจะบรรลุคืออะไร?

·  มีทางเลือกอะไรบ้าง?

·  เราจะป้องกันไม่ให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร?

·  สิ่งแรกที่เราควรทำคืออะไร?

ไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า โค้ชควรตั้งคำถามอะไร ควรถามคำถามที่มุ่งเน้นไปที่ตัวปัญหาหรือทางออกของปัญหา คำตอบคือ การย้อนกลับมาดูวัตถุประสงค์ของการโค้ชว่าต้องการบรรลุอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด… แน่นอน เพื่อช่วยให้โค้ชชี่เกิดความเข้าใจ เรียนรู้ และสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงพร้อมกับวิธีการหรือทางออกใหม่ๆที่นำไปใช้ได้จริง

ดังนั้น หากเราตั้งคำถามที่เน้นไปที่ตัวปัญหาและสาเหตุ หรือเป็นคำถามที่เน้นอดีต ย่อมช่วยให้โค้ชชี่เกิดความเข้าใจในสถานการณ์ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม มันอาจทำให้โค้ชชี่ต้องจมลึกลงไปในตัวปัญหามากขึ้นได้เช่นกัน จากผลการศึกษาด้านสมอง พบว่าสมองจะสร้างความเชื่อมโยงข้อมูลจากความจำ ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก สิ่งที่โค้ชชี่คิดถึงบ่อยๆ พูดถึงบ่อยๆ สมองจะสร้างความเชื่อมโยงจนกลายเป็นเหมือนแผนที่ถาวร หรือความทรงจำที่ฝังลึกในใจโค้ชชี่

จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องทำให้โค้ชชี่เจ็บก่อนที่จะเรียนรู้?

คำตอบคือ ไม่จำเป็น การเรียนรู้ของมนุษย์เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงในสมอง การตั้งคำถามเพื่อให้โค้ชชี่มองไปสู่อนาคต ให้จินตนาการถึงภาพที่ต้องการจะเห็น สิ่งที่ตนเองต้องการจะเป็น หรือเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง สิ่งที่จะดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายเป็นจริง สามารถทำให้โค้ชชี่เข้าใจความเป็นจริงในปัจจุบันได้ชัดเจนขึ้นได้เช่นกัน

นอกจากนั้น โค้ชยังสามารถใช้คำถามที่เน้นไปที่วิธีคิดแทนที่การตั้งคำถามเพื่อเน้นรายละเอียดของสถานการณ์ เพราะปัญหาทุกอย่างมักเกิดจากวิธีคิด จึงต้องแก้ที่วิธีคิด คำถามวิธีคิด เช่น คุณมองเรื่องนี้อย่างไร? คิดเรื่องนี้มานานเท่าไร? รู้สึกอย่างไร? คิดว่าตนเองอยู่ที่จุดใด? มีความมุ่งมั่นระดับใดที่จะทำให้สำเร็จ? คำถามเหล่านี้ช่วยให้โค้ชชี่ประเมินวิธีคิดของตนเอง และเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องผ่านความเจ็บปวดจากการพูดถึงรายละเอียดของปัญหาหรือสาเหตุของปัญหานั้น คำถามวิธีคิดที่มีคุณภาพจะช่วยให้โค้ชชี่มองย้อนกลับมาและสะท้อนภาพตนเองได้ชัดขึ้น ซึ่งรวมถึงทำให้โค้ชชี่เกิดความเข้าใจในสถานการณ์และที่มาของสถานการณ์นั้นชัดเจนขึ้น

มาถึงตอนนี้ โค้ชคงต้องตัดสินใจเลือกแล้วค่ะว่าจะใช้คำถามรูปแบบใด และสิ่งที่ท่านเลือกก็จะส่งผลโดยตรงต่อตัวโค้ชชี่ และประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของการโค้ชค่ะ


หมายเลขบันทึก: 540815เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท