Best Practice บันได 9 ขั้นโครงงานวิทย์พิชิตชัย


วิธีปฏิบัติอันเป็นเลิศ best practice



ชื่อผลงาน   บันได 9 ขั้นโครงงานวิทย์พิชิตชัย

ชื่อผู้เสนอผลงาน   นายสำราญ  ศรเลี่ยมทอง

โรงเรียน  คลองลานวิทยา 

  สังกัด  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต  41

  โทรศัพท์  055-786129  โทรสาร  055- 786527

  โทรศัพท์มือถือ  089-6780690    E-mail  [email protected]

รายละเอียดการนำเสนอผลงาน

1.  ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ

  1.1  ความเป็นมาและสภาพปัญหา

    จากรายงานผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติ (NT) ในปีการศึกษา 2548  พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 มีคะแนนเฉลี่ยรายวิชาวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าเกณฑ์อยู่มาก  การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ไม่พัฒนากระบวนการคิดขั้นสูง  นักเรียนขาดทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นทักษะการคิดที่สำคัญ ดังปรากฏในการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบสองของโรงเรียนคลองลานวิทยาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยเฉพาะมาตรฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการคิด  อีกทั้งหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้เรียนต้องทำโครงงานใน แต่ละช่วงชั้นอย่างน้อย  1  โครงงาน

  1.2 แนวทางแก้ปัญหาและพัฒนา

  จากปัญหาดังกล่าวผู้สอนจึงได้ใช้กิจกรรมการเรียนการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ด้วยเทคนิค บันได 9 ขั้น โครงงานวิทย์ฯพิชิตชัย” ประกอบกับ แบบฝึกกิจกรรมพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 เป็นนวัตกรรมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน  การจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  มีการใช้กระบวนการแก้ปัญหา มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนได้บูรณาการความรู้ความสามารถที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำชิ้นงานตามความคิด ความรู้  และความสนใจ  ซึ่งผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยอาศัยกระบวนการกลุ่ม แบบฝึกกิจกรรมพัฒนาโครงงานวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนช่วงชั้นที่ 3 นั้นผู้สอนได้ใช้สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และปรับปรุงแบบฝึกดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพผู้เรียนในแต่ละปีการศึกษาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ตารางการวิเคราะห์สาเหตุและแนวทางการแก้ปัญหา

สรุปสาเหตุ

แนวทางการแก้ปัญหา

1.  การสอนไม่เป็นไปตามตัวชี้วัด/มาตรฐาน

1.  สอนตามมาตรฐาน+ตัวชี้วัด มาตรฐานที่ 8

2.  ไม่มีการออกแบบการสอน / แผนการสอน

2. จัดการออกแบบการสอน เขียนแผนการสอน

3.  สื่อการสอนไม่เหมาะสม / ไม่เพียงพอ

3. พัฒนาชุดการสอนโครงงาน

4.  ขาดการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น

4.  ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสื่อการสอน

5.  นักเรียนไม่ได้ทำโครงงาน

5.  สอนตามมาตรฐานที่ 8

  การพัฒนา การจัดการเรียนการสอนวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์นั้นผู้สอนจะเป็นผู้ให้ความรู้ แต่เมื่อนักเรียนจะทำโครงงานนักเรียนสามารถให้ครูท่านอื่นที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ มาเป็นครูที่ปรึกษาก็ได้ เราเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่าการทำงานเป็นทีม 

2.  จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน

  จุดประสงค์

  1.  เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้สูงขึ้น

  2.  เพื่อพัฒนากระบวนการคิดและจินตนาการ ความสามารถในการแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 

  3.  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนนักเรียนที่มีความรู้ ความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลาย ตามความถนัด 

  4.  เพื่อพัฒนาทักษะการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

  เป้าหมาย

  1.  ร้อยละ  90 ของนักเรียนที่เรียนในรายวิชาโครงงานวิทยาศาสตร์ในระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะ  กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  การวิจัยเบื้องต้น

  2.  ร้อยละ  70 ของนักเรียนที่มีผลงานดีเด่น ในระดับโรงเรียน ได้รับการสนับสนุนให้เข้าสู่การประกวดแข่งขันกิจกรรมต่างๆในระดับจังหวัด/ภาค/ประเทศ

3.  ขั้นตอนการดำเนินงาน/  ขั้นตอนของการพัฒนา Best  Practice

  ขั้นตอนการจัดกระบวนการเรียนรู้

แผนภาพลำดับขั้นตอนการดำเนินงานตามบันได 9 ขั้นโครงงานวิทย์พิชิตชัย

  

 3.1.  การเตรียมการจัดกระบวนการเรียนรู้

    บันไดขั้นที่ 1  ค้นหางานวิทย์  ศึกษา วิเคราะห์หลักสูตร  จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้

  บันไดขั้นที่ 2  สะกิดให้ชอบ กระตุ้นให้นักเรียนเห็นความสำคัญของโครงงาน  สร้างความสนใจให้นักเรียนอยากจะทำโครงงานตามที่ตนเองคิด โดยผู้สอนพูดกระตุ้นเล่าประสบการณ์ให้ฟัง  นำรูปโครงงานและวีซีดีโครงงานต่างๆที่ผู้สอนได้พานักเรียนรุ่นพี่เข้าร่วมแข่งขันและได้ถ่ายทำมาเปิดและบรรยายให้ดู  ให้นักเรียนจัดกลุ่มวิเคราะห์โครงงานที่กำหนดให้ว่าทำไมโครงงานนั้นได้รับรางวัลมีจุดเด่นอะไรและมานำเสนอหน้าชั้นเรียน ให้นักเรียนคิดนอกกรอบ เช่นให้นักเรียนคิดจินตนาการในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแบบสิ่งประดิษฐ์ของโดราเอมอน และวาดรูประบายสีให้สวยงามและออกมาอธิบายหน้าห้องถึงสิ่งประดิษฐ์ของตน  นักเรียนสืบค้นโครงงานที่มีผู้อื่นทำไว้แล้วทางอินเทอร์เน็ต เอกสารสิ่งพิมพ์

  บันไดขั้นที่ 3  ส่งมอบความรู้  ให้ความรู้เรื่องการทำโครงงาน  กิจกรรมขั้นนี้ครูไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้บรรยายองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงงาน แต่เป็นกิจกรรมการนำเสนอข้อความรู้ที่นักเรียนได้ไปสืบค้นมา แล้วมาอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียนโดยครูเป็นผู้นำสรุปองค์ความรู้โครงงานในตอนท้ายอีกครั้งหนึ่ง

  บันไดขั้นที่ 4  เลือกดูโครงงาน คิดและเลือกเรื่องที่จะทำโครงงาน  ในขั้นนี้จะเป็นขั้นที่เป็นปัญหาพอสมควร บทบาทครูจะเป็นเพียงผู้ชี้แนะให้นักเรียนสำรวจปัญหาจากสภาพที่เป็นอยู่  จากข่าว บทความ ปราชญ์ท้องถิ่น หรือจากโครงงานเก่าที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาที่นักเรียนมาเสนอบางครั้งก็ไม่สามารถนำมาทำโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ ครูจะต้องพูดคุยและซักถาม ให้คำปรึกษาปรับปรุงข้อโครงงานให้มีความเป็นไปได้ในการดำเนินงาน

  บันไดขั้นที่ 5  คิดอ่านค้นคว้า  ศึกษาเอกสาร หรือค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่จะทำ  ขั้นนี้ครูจะเป็นผู้ติดตามว่านักเรียนมีความรู้ถึงระดับไหน มากพอที่จะทำโครงงานที่ได้เลือกไว้แล้วหรือยัง โดยนักเรียนจะบันทึกผลการศึกษาในสมุดบันทึกที่เรียกว่า Log Book แล้วก็จะนำปรึกษากับครูที่ปรึกษา

  บันไดขั้นที่ 6  รวบรวมเนื้อหา เขียนเค้าย่อของโครงงาน เมื่อพิจารณาในองค์ความรู้จาก Log Book และความเหมาะสมของระยะเวลาแล้ว นักเรียนก็จะทำเค้าโครงย่อของโครงงานซึ่งทำให้ครูที่ปรึกษาได้พิจารณาได้ว่าสิ่งที่นักเรียนจะทำนั้นคืออะไร  มีที่มาอย่างไร  มีกระบวนการทำงานอย่างไรแปลกใหม่หรือไม่ควร  ปรับ เพิ่ม เติม แต่ง อย่างไร ก็จะได้พูดคุยกันจะทำให้ได้ผลงานโครงงานที่เป็นเลิศก็จากขั้นนี้เป็นสำคัญ

  บันไดขั้นที่ 7  มุ่งหน้าปฏิบัติ ลงมือปฏิบัติหลังจากพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงงานจากเค้าโครงย่อแล้วและผ่านการอนุมัติการทำโครงงานจากครูที่ปรึกษา(อาจไม่ใช่ครูประจำวิชาก็ได้ แต่เป็นครูที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เราเรียกการทำงานลักษณะนี้ว่าการทำงานเป็นทีม) นักเรียนก็จะลงมือปฏิบัติตามแผนงานโครงงานของเขาโดยมีครูดูแลอย่างใกล้ชิดและให้กำลังใจ  บันไดขั้นที่ 8  จัดรวมผลงาน  เขียนรายงานผลการศึกษาค้นคว้า กิจกรรมขั้นนี้เหมือนนักเรียนใกล้จะเข้าสู่เส้นชัยแล้ว นักเรียนก็จะลงมือเขียนรายงานแต่สิ่งที่คิดว่าง่ายกลับยากสำหรับนักเรียน ในขั้นนี้ครูต้องให้ความช่วยเหลือมากในเรื่องการจัดกระทำข้อมูล

  บันไดขั้นที่ 9  นิทรรศการสู่เส้นชัย นำเสนอผลงาน /จัดนิทรรศการ นักเรียนที่ทำผลงานโครงงานเสร็จก็จะจัดทำแผงบอร์ดเพื่อเตรียมการนำเสนอ ทุกกลุ่มจะนำเสนอผลการดำเนินการโครงงานในวันเดียวกัน จัดกิจกรรมให้คล้ายกับการประกวดโครงงานมีกรรมการซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาทั้งในและนอกกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์มาตัดสินผลโครงงานของนักเรียน 

4.  ผลการดำเนินงาน/  ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ

  การดำเนินงานกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เทคนิคบันได 9 ขั้น ตามรายละเอียดที่ได้ชี้แจงข้างต้น ผลการดำเนินงานเป็นไปเพื่อแก้ปัญหา และสนับสนุนการดำเนินการโครงงานวิทยาศาสตร์  ซึ่งประสบความสำเร็จต่อไปนี้

  1.  คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและวิชาวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเพิ่มขึ้น

  2.  ผลการสอบ NT คะแนนเฉลี่ยรายวิชาวิทยาศาสตร์สูงขึ้นในทุกๆปี

  3.  การสอนพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูง  ปรากฏด้วยหลักฐานการจัดทำผังมโนทัศน์ในกิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชาวิทยาศาสตร์  และรายวิชาอื่นๆ

  4.  การจัดกิจกรรมโดยให้นักเรียนได้เรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบของสื่อการสอน  การเรียนรู้ในชุมชน  การเรียนรู้จากปราชญ์ในท้องถิ่น

  5.  นักเรียนได้ทำโครงงานตามข้อกำหนดของหลักสูตร  พัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นทีม การวางแผน  การปฏิบัติ  การจัดกระทำข้อมูล  การนำเสนอ  ซึ่งเป็นกระบวนการคิดขั้นสูง และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน

  6.  ครูที่ปรึกษาสนับสนุนการส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าร่วมในการแข่งขันในเวทีต่างๆ เช่น งานศิลปหัตถกรรม     นักเรียน  กิจกรรมค่ายนักประดิษฐ์  การประกวดสิ่งประดิษฐ์วิทยาศาสตร์  โครงงานนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ และอื่นๆอีกมากมาย จนประสบผลสำเร็จ ปรากฏชื่อเสียงให้แก่นักเรียน  ครูที่ปรึกษา  และโรงเรียน

5.  ปัจจัยความสำเร็จ

  5.1  ปัจจัยด้านนักเรียน  นักเรียนที่มาเลือกเรียนเลือกตามความสมัครใจ และนักเรียนได้ร่วมทำกิจกรรมกลุ่ม             มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในกลุ่มเพื่อน  นักเรียนได้รับการยอมรับจากชุมชน

  5.2  ปัจจัยด้านผู้สอน  การสอนนั้นมีการทำงานเป็นทีม ครูได้การเข้าร่วมการสัมมนาเกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 

  5.3  ปัจจัยด้านผู้บริหาร  ผู้บริหารเห็นความสำคัญของการสอนโครงงาน สนับสนุนงบประมาณ 

มีการตรวจเยี่ยมชั้นเรียน การให้ขวัญและกำลังใจนิเทศติดตามอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูได้เข้ารับการอบรม 

  5.4  ปัจจัยด้านคณะกรรมการสถานศึกษา  ผู้ปกครอง ผู้ปกครองให้ความสำคัญในการทำโครงงาน และสนับสนุนการทำโครงงาน คณะกรรมการสถานศึกษาให้ความร่วมมือการจัดทำหลักสูตร  สนับสนุน การจัดการศึกษา  และร่วมบริจาคทรัพย์

6.  บทเรียนที่ได้รับ

  การพัฒนาการสอนโดยโครงงานที่ผ่านมาพบว่า  การทำโครงงานวิทยาศาสตร์อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เริ่มจากปัญหา  การค้นคว้า  การตั้งสมมติฐาน การทดสอบ การสรุป  การได้ร่วมการประกวดและแข่งขัน                         โครงงานวิทยาศาสตร์ทำให้ครูผู้สอนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานด้านการสอน การจัดกิจกรรมการประกวดแข่งขันเพราะมีตัวอย่าง เครือข่าย ร่วมเรียนรู้เป็นแนวทางการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

7. การเผยแพร่/การได้การยอมรับ/รางวัลที่ได้รับ

  การเผยแพร่ผลงาน  โรงเรียนคลองลานวิทยาได้รับการยกย่องจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร  เขต 2 ให้เป็นโรงเรียนที่มีการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ดีเด่น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม  พ.ศ. 2549  จึงทำให้คณะครูจากโรงเรียนต่างๆมาศึกษาดูงานอยู่เป็นประจำ  และข้าพเจ้าได้เขียนบทความเทคนิคการสอนโครงงานวิทยาศาสตร์ให้ประสบความสำเร็จลงพิมพ์วารสารของ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำแพงเพชร เขต 2  และสิ่งพิมพ์ของรายการสมรภูมิไอเดียไทยทีวีสีช่อง 3

  รางวัลที่ได้รับ

  ปีการศึกษา  2548 “เครื่องหยอดเอนกประสงค์”  ได้รับรางวัล Spacial  Award  for The Best  Display  Stand    ในงาน International  Exhibition  for  Young  Inventor 2005 ประเทศมาเลเซีย

  ปีการศึกษา  2549 “เครื่องช่วยบรรเทาปวดเพื่อสุขภาพ”  ได้เข้าร่วมแข่งขันโครงงานระดับโลก  ในงาน Intel  ISEF 2006 ครั้งที่ 57 ณ  เมืองอินเดียนาโปลิส  มลรัฐอินเดียนา  ประเทศสหรัฐอเมริกา

  ปีการศึกษา  2549 เครื่องไกวเปลอัตโนมัติ”  ได้รับรางวัลเหรียญทองในงาน  International Students’ Invention  Exhibition 2006 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 

  ปีการศึกษา  2549 เครื่องไกวเปลอัตโนมัติ”  ได้รับเกียรติบัตรพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ  ประเภท  กลุ่มเยาวชน 

  ปีการศึกษา 2549 เครื่องช่วยบรรเทาปวดเพื่อสุขภาพ” ได้รับเกียรติบัตรพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร  รางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ  ประเภทเยาวชน 

  ปีการศึกษา  2550 กรงดักหนูแสนกล” ได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน  ระดับภาค         (ภาคเหนือ)  ณ  โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก  จังหวัดพิษณุโลก  เมื่อวันที่  9  สิงหาคม  2550

  ปีการศึกษา  2551 “เครื่องผสมอาหารสัตว์ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ” ได้รับรางวัลดีเด่น  ในงานศิลปหัตถกรรม นักเรียน  ระดับภาค (ภาคเหนือ)  ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฎ จังหวัดลำปาง

  ปีการศึกษา  2552 “สวิตซ์รหัสล๊อคเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก ” ได้รับรางวัลเหรียญทอง  ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน  ระดับภาค (ภาคเหนือ)  ณ โรงเรียนนครสวรรค์  จังหวัดนครสวรรค์

  ปีการศึกษา  2553 “Pressure Tank  ประหยัดเชื้อเพลิง” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์การเกษตร ณ  มหาวิทยาลัยนเรศวร  จังหวัดพิษณุโลก 


ดาวน์โหลดที่นี่ครับ
ห้าหน้า บันได 9 ขั้นโครงงานวิทย์พิชิตชัย.doc


หมายเลขบันทึก: 540746เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2013 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มิถุนายน 2013 07:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท