เทศกาลเข้าพรรษา....วันสำคัญของชาวพุทธ


                                                                                                                                                      

เทศกาลเข้าพรรษา....วันสำคัญของชาวพุทธ

  เทศกาลเข้าพรรษาก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ ในปีพุทธศักราช 2556 วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันจันทร์ที่ 22 ขึ้น 15 ค่ำ เดือนกรกฎาคม 2556 ส่วนวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม เป็นวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา[1] (บาลี: วสฺส, สันสกฤต: วรฺษ)เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตามการเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา คนไทยส่วนใหญ่ที่เป็นชาวพุทธประมาณ 90 เปอร์เซ็น ก็จะถือโอกาสในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาทำบุญเข้าวัด ฟังเทศน์ ถือศีล ปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดสมาธิ เพื่อชำระจิตใจให้ขาวสะอาดมีจิตที่ผ่องใส ปราศจากความโลภ ความโกรธ และความหลง อันที่จริงการเข้าพรรษาได้ปรากฏมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดกฎระเบียบ การเข้าพรรษาของพระภิกษุไว้ดังนี้สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

  กรณีที่พระภิกษุที่อธิษฐานเข้าพรรษาแล้ว จะไปค้างแรมที่อื่นนอกเหนือจากอาวาส หรือที่อยู่ของตนไม่ได้แม้แต่คืนเดียว หากไปแล้วไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือก่อนรุ่งสว่าง ถือว่าพระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา แต่หากมีกรณีจำเป็น 4 ประการต่อไปนี้ ภิกษุผู้อยู่พรรษาสามารถกระทำ ที่เรียกว่าสัตตาหกรณียะ คือ ไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ต้องกลับมาภายในระยะเวลา 7 วัน คือ[2]
1. ไปรักษาพยาบาลพระภิกษุ หรือ บิดามารดาที่เจ็บป่วย
2. ไประงับไม่ให้พระภิกษุสึก
3. ไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น ไปหาอุปกรณ์มาซ่อมแซมวัดซึ่งชำรุดในพรรษานั้น
4. ทายกนิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา

   ในปี พุทธศักราช 2551รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของเทศกาลการวันเข้าพรรษาจึงได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่เยาวชนและสังคมไทย

  กล่าวโดยสรุป วันเทศกาลเข้าพรรษา หรือ วันเข้าพรรษา เป็นข้อประพฤติปฏิบัติสำหรับพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะซึ่งพระองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยหรือชาวต่างประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลทำบุญแก่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาและตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อละเว้นสิ่งไม่ดีเพื่อพยายามประกอบความดีในช่วงพรรษานี้ด้วย ส่วนพุทธศาสนิกชนก็ถือโอกาสนี้เช่นเดียวกันในการลด ละ เลิกสิ่งเสพติดที่เป็นบ่อเกิดแห่งการทะเลาะวิวาทและเกิดโรคภัยไข้เจ็บตลอดถึงงดเว้นอบายมุขต่างๆ ซึ่งเป็นหนทางหรือปากแห่งความเสื่อม ไม่มีความเจริญงอกงามต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม.

[1] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.

[2]www.dhammajak.net
 

· คำสำคัญ (keywords): วิจัยในชั้นเรียน


หมายเลขบันทึก: 540588เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มิถุนายน 2013 15:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อีกไม่กี่วันแล้วที่จะเข้าพรรษาและกระทู้นี้มีความรู้เกี่ยวกับวันเข้าพรรษามากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท