เตียงป้องกันและรักษาแผลกดทับ ศัลยแพทย์ รพ.สุราษฎร์ธานี


ด้วยจิตและปณิธานของแพทย์ผู้ต้องการอุ้มชูสังคมให้สูงขึ้น กอปรกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีพร้อม “ญาณินทร์เบด” จึงได้รับเกียรติยิ่งใหญ่ให้มายืนอยู่ ณ จุดนี้ของสังคมได้อย่างภาคภูมิ
ศัลยแพทย์ รพ.สุราษฎร์ธานี เจ้าของสุดยอดนวัตกรรมด้านสังคม 49 โชว์ผลงานเตียงป้องกันและรักษาแผลกดทับ ชี้ใช้หลักการสลับจุดรับน้ำหนักด้วยเบาะ 2 ชุด ปลื้มประสิทธิภาพดีกว่าที่มีอยู่ในท้องตลาด ขณะที่ราคาไม่ถึงครึ่ง ย้ำ “สังคมเป็นที่หนึ่ง ส่วนตัวเป็นที่สอง” เตรียมผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อให้ราคาถูกลง เชื่อไม่น่าเกิน 2 แสนบาทต่อเตียง
       
       ใครที่เคยนอนซมอยู่กับที่นอนนานๆ เพราะฤทธิ์ไข้ หรือความเจ็บป่วยใดๆ ก็ตาม คงจะพอคุ้นเคยกับอาการปวดเมื่อยตามร่างกายจากการกดทับมาบ้าง ไม่มากก็น้อย ดังนั้น ลองจินตนาการดูซิว่า หากเราต้องนอนซมกับที่นอนนานนับวัน หรือนานนับเดือน อย่างผู้ป่วยอัมพฤกษ์หรืออัมพาตแล้ว ร่างกายของเราจะย่ำแย่สักแค่ไหน นี่เองที่จุดประกายให้แพทย์ซึ่งคลุกคลีอยู่กับคนไข้ต้องช่วยกันหาทางออก เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนไข้ในมือตัวเอง !!!
       
       ล่าสุด ความพยายามดังกล่าวก็ได้ถึงฝั่งฝันแล้ว เมื่อ นพ.ญาณินทร์ อุทโยภาศ ศัลยแพทย์ตกแต่ง รพ.สุราษฎร์ธานี ได้ประดิษฐ์เตียงป้องกันและรักษาแผลกดทับ “ญาณินทร์เบด” ขึ้นมาได้เป็นที่เรียบร้อย ที่สำคัญคือ ยังชนะเลิศรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติด้านสังคม ประจำปี 2549 ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ที่ประกาศผลไปหมาดๆ ชนิดคะแนนเป็นเอกฉันท์ มาได้อีกด้วย
       
       ทั้งนี้ ฝ่ายตัวนักประดิษฐ์เอง เล่าปูพื้นว่า ปัจจุบันในท้องตลาดและในสถานพยาบาลบ้านเรา ได้มีการนำเข้าเตียงคนไข้ป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับมาใช้กับผู้ป่วยบ้างแล้วหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผู้ป่วยที่ขยับตัวได้น้อย หรือขยับตัวไม่ได้เลย ซึ่งจะมีราคาหลักหมื่น เช่น เตียงถุงลม ไปจนถึงราคาเหยียบล้าน อย่างเตียงแบบการไหลของก้อนเซรามิก ทว่า เตียงเหล่านี้ก็ไม่ช่วยป้องกันการเกิดบาดแผลกดทับได้ดีนัก โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก แถมยังควบคุมจุดรับน้ำหนักไม่ได้อย่างที่ต้องการอีกด้วย
       
       ส่วนความต้องการมีไว้ใช้งานอุปกรณ์การแพทย์ชิ้นนี้ของประเทศไทย นพ.ญาณินทร์ เผยว่า เมื่อลองคิดดูให้ดี จะพบว่า หากโรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่ง มีความจำเป็นที่ต้องนำเข้าเตียงชนิดนี้ 20-50 เตียงต่อหนึ่งโรง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน และผู้ป่วยที่ซื้อเตียงไปใช้เองที่บ้านแล้ว ปีหนึ่งๆ ประเทศไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้านับพันบ้านบาทเลยทีเดียว การประดิษฐ์เตียงป้องกันแผลกดทับขึ้นมาใช้เอง จึงเป็นการทำงานที่ได้ผลถึง 2 ต่อ คือลดการพึ่งพิงต่างชาติ ขณะที่ยืนบนขาของตัวเอง
       
       ด้วยเหตุนี้ ตัวของ นพ.ญาณินทร์ จึงได้เห็นความสำคัญ และเริ่มลงมือประดิษฐ์เตียงป้องกันแผลกดทับมาตั้งแต่ ส.ค.2546 จนสำเร็จในปลายเดือน พ.ย.48 เวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นขอสิทธิบัตร ซึ่งญาณินทร์เบดจะทำงานโดยหลักการสลับจุดรับน้ำหนักด้วยไฮโดรลิกไฟฟ้า ซึ่งจะกินไฟไม่มาก เพื่อยกพื้นเตียงที่มีเบาะรองรับน้ำหนัก 2 ชุด สลับขึ้นลงทุกๆ 5 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงการกดทับจุดเป็นเวลานานๆ ทำให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อของคนไข้ได้พักฟื้นได้อย่างเต็มที่ แถมมีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องอาศัยคนอื่นมาคอยพลิกตัวให้คนไข้ตลอดเวลา ประหยัดค่าผ่าตัดและค่ายารักษาแผลกดทับ และยังอาจนำไปใช้เป็นเตียงนวดสำหรับคนไข้ทั่วไปได้
       
       ไม่เพียงเท่านั้น นวัตกรรมชิ้นนี้ยังสามารถแก้ไขจุดอ่อนของเตียงป้องกันแผลกดทับชนิดอื่นๆ ได้ด้วย คือ จากแต่เดิมที่แพทย์ต้องปล่อยให้คนไข้มีแผลกดทับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ไปก่อน แล้วค่อยมารักษาแผลเหล่านั้นทีหลัง เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้ว ก็อาจเกิดผลเสียกับคนไข้ได้มากเมื่อมีการขยับตัว ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกับผู้ป่วยกระดูกต้นคอหักที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลย จึงต้องใช้เตียงดังกล่าวให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเหตุผลให้ต้องใช้วัสดุทำเตียงที่แข็งแรงมาก ถือเป็นแห่งแรกของโลกที่ประดิษฐ์เตียงชนิดนี้ ให้สามารถรองรับน้ำหนักคนไข้ได้ถึง 200 กิโลกรัม
       
       ทางด้านการทดลองใช้งาน นวัตกรเจ้าของสุดยอดนวัตกรรม เล่าว่า ปัจจุบัน ได้ประดิษฐ์เตียงต้นแบบไว้แล้ว 4 เตียง โดยได้นำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยของโรงพยาบาลประมาณ 10 ราย ทดสอบร่วม 1 ปี จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจมาก คือ กล่าวได้ว่า มีคุณภาพดีกว่าเตียงป้องแผลกดทับอื่นๆ ที่มีการใช้งานกันอยู่ อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่านำเข้ามาก คือ ประมาณ 2 แสนบาท เนื่องจากใช้อุปกรณ์อย่างโครงเหล็กและยางพาราหุ้มเบาะที่มีอยู่แล้วในประเทศ ส่วนที่จะมีการพัฒนาต่อไป คือ การทำให้เบาะทั้ง 2 ชุด ทำงานสลับจุดรับน้ำหนักได้พร้อมๆ กันทั้งคู่ เพื่อให้สลับจุดรับน้ำหนักได้อย่างนุ่มนวลขึ้น
       
       ส่วนระยะยาว นพ.ญาณินทร์ เผยว่า เวลานี้กำลังถอดแบบเตียงป้องกันแผลกดทับอยู่ เพื่อให้ขยายผลสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ อันจะทำให้มีราคาถูกลง ซึ่งหากทำออกจำหน่ายแล้วก็ไม่น่าจะมีราคาสูงกว่า 2 แสนบาทมากนัก เพราะจุดประสงค์ของการทำงานไม่ได้มุ่งหวังกำไรมาก แต่ต้องการทำเพื่อสังคมจริงๆ
       
       “เราควรมีสิ่งที่ยึดถือในการทำงานต่างๆ ส่วนตัวผมเองคือ พระราชดำรัสของสมเด็จพระราชบิดาที่ว่า พึงถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจหนึ่ง ลาภ ทรัพย์ เกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง หากท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” เจ้าของผลงานกล่าวและทิ้งท้ายว่า เวลานี้ ญาณินทร์เบดยังได้รับการขยายผลเป็นโครงการโรงพยาบาลต้นแบบปลอดแผลกดทับของ รพ.สุราษฎร์ธานี และขยายไปสู่โครงการจังหวัดปลอดแผลกดทับของจังหวัดด้วย
 
หมายเลขบันทึก: 54035เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2006 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สุดยอดเลยครับ

ทราบข่าวเรื่องนี้มานานแล้ว

อยากได้ให้คุณพ่อมากเลย คุณพ่อป่วยเป็นอัมพฤตมา 8 ปี เป็นเจ้าชายนิทรา 2 ปี

ตอนนี้มีแผลกดทับที่สะโพกทั้งสองข้าง กลุ้มใจมาก สงสารท่าน ตอนแรกที่ทราบข่าวเรื่องเตียง อยากได้มาก แต่พอศึกษาถึงรู้ว่าอยู่ไกลมาก แถมค่าใช้จ่ายก็สูง ไม่มีเงินมากขนาดนั้น ทุกวันนี้ตอนเตียงลมแต่ก็ช่วยไม่ได้เลย กลุ้มใจจัง

ทำอย่างไงดีคะ

สนใจต้องการเตรียมไว้ใช้กับแม่ จะซื้อได้อย่างไรคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท