ด.ญ.ชวัลรัตน์ “การแก้ไขสถานะทางทะเบียน” ของโพมึ้ง ตัวน้อยแห่งอ.อุ้มผาง


ด.ญ.ชวัลรัตน์

“การแก้ไขสถานะทางทะเบียน” ของโพมึ้ง[1]ตัวน้อยแห่งอ.อุ้มผาง

  เด็กหญิงชวัลรัตน์ ปรากฏตัวให้เราเห็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 เพราะเธอถูกสุนัขกัด แล้วบังเอิญวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่จันหมด เธอกับมะชอเอ มารดา จึงต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลอุ้มผาง

  ในวันที่ทำประวัติคนไข้ ชวัลรัตน์เป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติ เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 7 ขณะที่นางมะชอเอ มารดาของเธอเป็นบุคคสัญชาติไทย เรื่องราวของชวัลรัตน์จึงเข้าสู่กระบวนการของคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยมีคุณกฤษฎา ชีช่วง นักกฎหมายประจำคลินิกเป็นผู้สืบค้นข้อเท็จจริง ปรากฎในhttp://www.gotoknow.org/posts/502571

  นับจากวันที่พบเจอชวัลรัตน์ จนการแก้ไขปัญหาของเธอบรรลุผลเมื่อ 17 มิถุนายน 2556 กฤษฎาได้ถ่ายทอดเรื่องราวไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ

 “โพมึ้งๆ” เสียงพี่มะชอเอเรียกน้องชวัลรัตน์กลับเข้าบ้านเพื่อมาอาบน้ำแต่งตัวไปอำเภอ วันนี้ผมมารอรับทั้งสองคนไปยื่นคำร้องเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนของน้องชวัลรัตน์ เด็กน้อยที่อยู่ในสถานะคนสัญชาติไทยแต่ยังคงมีสถานะเป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยตามเอกสารทะเบียนราษฎร เนื่องจากในขณะที่เกิดนั้นน้องยังไม่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนว่ามีสิทธิในสัญชาติไทย

ข้อเท็จจริงที่ทำให้คนที่ได้รับการบันทึกว่า “ที่ไม่ได้สัญชาติไทย” ตามเอกสารทะเบียนราษฎรสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนให้ถูกต้องได้

น้องชวัลรัตน์ เกิดที่บ้านในต.แม่จันเมื่อพ.ศ.๒๕๕๓ ในขณะที่เกิดนั้นพี่มะชอเอ มารดาถือบัตรประจำตัวบุคคลบนพื้นที่สูง(บัตรสีชมพู) ส่วนบิดาถือบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน เมื่อบิดาไปแจ้งเกิดน้องชวัลรัตน์จึงได้รับสูติบัตร(ท.ร.๓)เป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทย และได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๓) พี่มะชอเอเล่าว่าในขณะที่น้องเกิดนั้นตนเองได้ยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียน

ราษฎรตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ [2]แล้วแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติตามคำขอจากทางอำเภออุ้มผาง ทำให้ในขณะที่น้องชวัลรัตน์เกิดนั้น ไม่สามารถแจ้งเกิดให้น้องชวัลรัตน์มีฐานะเป็นคนสัญชาติไทยได้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ในขณะที่น้องชวัลรัตน์เกิดนั้น ข้อเท็จจริงของมารดาตามเอกสารทะเบียนราษฎรทั้งหมด(รวมถึงบิดาที่เป็นแจ้งการเกิดน้องชวัลรัตน์ด้วย)ย่อมไม่สามารถแจ้งเกิดให้น้องชวัลรัตน์เป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยได้อย่างแน่นอน

ต่อมาพี่มะชอเอ มารดาของน้องชวัลรัตน์ได้รับอนุมัติการลงรายการสัญชาติในทะเบียนราษฎรเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีผลให้พี่มะชอเอได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ ขอให้สังเกตว่าวันที่พี่มะชอเอได้สัญชาติไทยนั้นเป็นการได้สัญชาติไทยก่อนน้องชวัลรัตน์เกิด(น้องชวัลรัตน์เกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๓) ด้วยเหตุดังกล่าวย่อมถือว่า น้องชวัลรัตน์ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา ๗ (๑) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ [3]ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งถือว่าน้องชวัลรัตน์เป็นบุคคลที่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดเนื่องจากบิดาหรือมารดาได้สัญชาติไทยก่อนน้องชวัลรัตน์เกิดนั่นเอง

การยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียน

อาจมีคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีการร้องเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียน? เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยสัญชาตินั้นมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมในแต่ละครั้งนั้นทำให้บุคคลที่มีข้อเท็จจริงตามทะเบียนราษฎรแต่เดิมไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยกลับกลายมามีสิทธิในสัญชาติไทยในภายหลัง เช่น บุคคลบนพื้นที่สูงที่มีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้น บุคคลเหล่านั้นย่อมสามารถยื่นคำร้องตามช่องทางที่กฎหมายบัญญัติไว้เพื่อเปลี่ยนสถานะทางทะเบียนที่ถูกต้องได้ เช่นเดียวกับกรณีของน้องชวัลรัตน์

หลังจากที่รวบรวมพยานเอกสารที่เกี่ยวข้องอันได้แก่ สูติบัตร(ท.ร.๓)และทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๓)ของน้องชวัลรัตน์,บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน(ท.ร.๑๔)ของพี่มะชอเอ ซึ่งใช้เอกสารตัวจริงทั้งหมด(เพราะจะต้องมีการจำหน่ายรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓ พร้อมทั้งเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านท.ร.๑๔) พี่มะชอเอก็ยื่นคำร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียนให้น้องชวัลรัตน์ได้ทันที

จากการเตรียมการ ในส่วนของคลินิกกฎหมายอุ้มผางฯได้มีการศึกษาหนังสือสั่งการที่มท ๐๓๐๙.๑/ว ๒ ลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๔ เรื่อง การเปลี่ยนสถานะทางทะเบียนราษฎรกรณีบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยซึ่งมีบิดาหรือมารดาสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนทราบเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสถานะทางทะเบียน ซึ่งค่อนข้างเห็นความชัดเจนในแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว ในส่วนของน้องชวัลรัตน์นั้น นายทะเบียนจะต้องแก้ไขสถานะทางทะเบียนของน้องชวัลรัตน์ โดยการจำหน่ายรายการบุคคลและเลขประจำตัว ๑๓ หลักเดิม จากนั้นจึงเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านท.ร.๑๔ในสถานะบุคคลสัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๐๓ กำหนดเลขประจำตัวเป็นบุคคลประเภท ๕

ในส่วนของสูติบัตรท.ร.๓ของน้องชวัลรัตน์นั้น นายทะเบียนจะหมายเหตุการได้สัญชาติไทยว่า “เปลี่ยนสถานภาพได้สัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชน ๕-๖๓๐๘-xxxxx-xx-x” ไว้ที่ด้านหน้าของสูติบัตรท.ร.๓นั่นเอง

การแก้ไขปัญหาของเด็กหญิงชวัลรัตน์ ให้เติบโตอย่างสมศักดิ์ศรีตามข้อเท็จจริงในชีวิตของเธอ นับเป็นผลงานที่คุณกฤษฎา ได้ใช้ความพยายามและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนก่อนหมดวาระอาสมัครจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม จึงขอโอกาสแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งค่ะ



[1]โพมึ้งหรือพู่มึ้ง เป็นคำในภาษากระเหรี่ยงโพล่วหรือโพล่ง(ที่คนไทยมักเรียกกันว่ากระเหรี่ยงน้ำ) แปลว่าลูกหญิงหรือลูกสาว ในขณะที่คำว่าโพควาหรือพู่คว่าแปลว่าลูกชาย

[2]มาตรา ๒๓ บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๕ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรและเป็นผู้มีความประพฤติดีหรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน

[3]มาตรา ๗บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย


หมายเลขบันทึก: 540274เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2013 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2013 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ช่วยบอกหน่อยค่ะว่า ตั้งแต่ตั้งคลินิกอุ้มผางมา มีเคสที่ผ่านการจัดการจนสำเร็จแล้วกี่เคสคะ ?

ถ้านับตั้งแต่เป็นโครงการก่อตั้งคลินิกมาก็ 6 เคส ค่ะ  สามเคสแรก คือ บุญสม ดาที ไหร่โผ่ หลังจากเปลี่ยนมาใช้ชื่อคลินิกอีกสามเคส คือ เงียโจ ดาวพระศุกร์ และชวัลรัตน์ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท