ให้เปล่า : มันเป็นเรื่องดี หรือ ไม่ดี สำหรับคนทำงานชุมชน?


ย้อนไปซัก 20 ปี เห็นจะได้   สิ่งที่ยากเวลาทำงานกับชุมชน  คือ  หากนัดทำกิจกรรมอะไร  เขาก็จะถามถึง "เงิน"  เช่น  มีเบี้ยประชุมไหม?   โครงการมีเงินให้หรือเปล่า?  ทำนองนี้เสมอ      เราเคยคุยวิเคราะห์กันว่าปัญหานี้มันเกิดจากอะไร? จะแก้อย่างไร?   แต่ตอนนั้นเราคำตอบแค่ว่า   เพราะเขาเคยได้  เมื่อโครงการ หรือกิจกรรมจากหน่วยงานที่มาทำงาน  ก็มักจะมีสิ่งเหล่านี้    เข้ามาเป็นอุปสรรคของคนทำงานกับชุมชนเสมอ

ต่อมาเมื่อเราทำงานส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน     ที่ปรึกษาโครงการถามเมื่อครั้งประชุมทบทวนการทำงานว่า  งบประมาณที่เราใช้  เมื่อเปรียบเทียบกับ รายได้ชุมชนที่เพิ่มขึ้น  เป็นอย่างไร    ตอนนั้นที่ปรึกษาแนะนำเราว่า   หากเราคาดหวังว่า  เราใช้เงินงบประมาณเพื่อมุ่งหวังว่าจะทำให้ชุมชน(กลุ่มที่ทำงานกับเรา) มีรายได้เพิ่มขึ้น  เขาควรจะต้องมีรายได้รวมกันแล้วมากกว่างบประมาณที่เราใช้ไป    ถ้าน้อยกว่า  เราต้องทบทวนตัวเองว่า ทำไมเราต้องทำ?   หากเราเอาเงินงบประมาณนั้น  ไปให้เขาตรงๆ เลย จะง่ายกว่าไหม?  เพราะเห็นชัดๆ ว่าเขามีเงินเพิ่มขึ้นเท่าไร?    แต่ที่ไม่ทำอย่างนั้นแต่ต้น   เพราะเราเชื่อว่า   การให้เปล่า ตรงๆ เช่นนั้น  มันมีข้อเสียว่า  ชุมชนจะเกิดพฤติกรรมคาดหวังเงินได้เปล่า โดยไม่ต้องทำอะไร  รอรับอย่างเดียว    และการให้เงินอย่างนั้น  เหมือนกับการให้ปลาเขาไปกิน  เมื่อหมด เขาก็ต้องมาขอเราอีก  เราก็ต้องหาให้เขาอยู่เรื่อยๆ    แต่หากเราสอนให้เขาหาปลาเองได้  เมื่อเขาหาจับปลาเองได้เมื่อไร   เขาก็จะอยู่ได้ด้วยตนเอง  ไม่ต้องรอพึ่งเรา    ช่วงแรกเราอาจจะต้องลงทุนบ้าง  ขาดทุนบ้างเพื่อสอนให้เขาหาปลาเองให้ได้   แต่เราต้องเฝ้าดูนะครับว่าการขาดทุน หรือการลงทุนของเรามันอยู่ในร่องในรอยตามความคาดหวังที่ควรจะเป็นหรือเปล่า?

เลยนึกสงสัย  ว่า คนทำงานชุมชนในยุคนี้  ต้องเจอปัญหาอุปสรรคยากขึ้นหรือเปล่า?    เพราะสมัยนี้  ประชานิยม มันเกลื่อนบ้าน เกลื่อนเมือง   และเป็นประชานิยมแบบ  "แจก"  มากกว่า  "สร้างความเข้มแข็ง"  อย่างที่กล่าวอ้าง  

สำหรับผมแล้ว  ประชานิยมแบบแจก  เป้าหมายอยู่ที่   ความนิยมของประชา เพื่อสนับสนุนผู้ให้   แต่หากเป็นประชานิยม แบบเสริมความเข้มแข็ง   เป้าหมายอยู่ที่   ความเข้มแข็งของประชา  เพื่อประชาในระยะยาว   

ผมมองอย่างนี้  ไม่รู้ถูก หรือ ผิด


หมายเลขบันทึก: 540072เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ในความเห็นของผม เมื่อเราจะวิเคราะห์อะไร สำคัญต้องมองให้ "ลุ่ม ลึก ใกล้ ไกล" ในแง่มุมของ

"ใคร(ทั้งตัวเรา ตัวเขา และผู้คนทั่วไป) อะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อใด เหตุุใด"

ให้เปล่า" โดยทั่วไป ไม่น่าจะดี แต่หากเป็นการให้ สิ่งจำเป็น (need) พวกปัจจัยสี่ หรือ ความรู้ คุณธรรม ก็เป็นการสมควร

สุคิดว่าหากผลลัพธ์คือ ประชาชนศีลธรรมเด่น เป็นงาน ชาญวิชา พาตน/ครอบครัว/ท้องถิ่นรอด เท่านี้ก็อิ่มในหัวใจสำหรับการขับเคลื่อนงานภาคชนบท  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท