โครงการ DFC3 : ๑. เตรียมตัว



          วันที่ ๒๒ พ.ค. ๕๖ ผมเข้าร่วมกิจกรรม DFC3 Orientation จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ

          DFC ย่อมาจาก Dean for Changeรุ่นนี้เป็นรุ่น ๓  จัดเพื่อเตรียมคนเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย ระดับคณบดี  ที่มีหัวใจ จิตใจ และทักษะการบริหารการเปลี่ยนแปลง 

          จากการเข้าร่วมประชุมวันนี้ ผมเห็นชัดเจนว่าการดำเนินการหลักสูตรนี้เข้มข้น และมีคุณภาพสูงมาก  โดย keyword ของหลักสูตรคือ change, internationalization, และ collaborationและในวันนี้มีการฝึกเทคนิค ๒ อย่าง เพื่อใช้ในกิจกรรมร่วมกันตลอดหลักสูตร  คือ storytellingและ gallery walkผมได้คุยกับทีมของคลังสมองและทราบว่า ตอนไปดูงานที่เยอรมัน ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ มิ.ย. ๕๖จะใช้เครื่องมือ AAR ด้วย  โดยทำกันบนรถระหว่างเดินทาง   ทีมของสถาบันคลังสมองได้เตรียมข้อมูลไว้อย่างดี  ว่าการเดินทางช่วงต่างๆ ในเยอรมันมีเวลาเท่าไร  จะใช้ประโยชน์ของเวลาให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ร่วมกันโดยทำ AAR

          ผู้เข้าร่วมหลักสูตรมี ๑๘ คน จาก ๑๑ มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยที่ส่งคนเข้าร่วมมากที่สุดคือ มข. ๓ คน  มาจากคณะวิทยาการจัดการคณะเดียว  มีวิทยากรเดินทางไปเยอรมันด้วย ๔ คน ผมไปในฐานะวิทยากรรับเชิญ โดยผมออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะอยากไปเรียนรู้  อยากมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่อุดมศึกษาไทย

          ในวันปฐมนิเทศนี้ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ. สถาบันคลังสมองได้เกรินนำขั้นตอนของกระบวนการเปลี่ยนแปลง ๘ ขั้นตอนของ Kotterเป็นการเรียนทฤษฎีแบบเกริ่นนำ  ให้ไปค้นคว้าเองต่อ   แล้วไปดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงมหาวิทยาลัย ๗  แห่งในเยอรมัน  แล้วจึงกลับมาทำ “แบบฝึกหัด” ของตนเอง เรียกว่า PAP (Program Action Plan) ตามด้วยการนัดหมายมารวมตัวแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

          ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ จะมีรายการ Learn and Share ใช้เวลา ๕ วัน  เพื่อเรียนรู้ change module ที่สำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยไทย รวม ๖ หน่วย  โดยจะมีรายการไปดูงานที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์  และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย  เป็นการเสริมความรู้เชิงทฤษฎี และตัวอย่าง  สำหรับให้ผู้เข้าหลักสูตรได้นำไปใช้ปฏิบัติจริงใน PAP  รายการ PAP นี้ จะมีการทำงานต่อเนื่อง จนมี  Final Conference วันที่ ๙ - ๑๐ ม.ค. ๕๗

          ผมมีความรู้สึกหลังฟังรายละเอียดของการเดินทางไป study visit ที่เยอรมันว่า  เป็นการเดินทางที่มีการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้เข้มข้นมาก  ในขณะเดียวกัน ก็จัดให้มีทัศนศึกษา และมีเวลาให้ช็อปปิ้งด้วย  และที่พักที่กินก็ดีมาก คือได้เรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมด้วย 

          วันเสาร์ที่ ๘ มิ.ย. ๕๖ สาวน้อยทักว่าคราวนี้ผมไม่ออกไปประชุม จนเย็นก็กลับเข้าบ้าน และเตรียมตัวไปขึ้นเครื่องบิน อย่างตอนที่ไปสวิตเซอร์แลนด์กับเธอคืนวันที่ ๘ พ.ค. ๕๖ ที่ผ่านมา

          ผมใช้วันเสาร์นี้เตรียมเที่ยวในวันอาทิตย์รุ่งขึ้นที่ เบอร์ลิน  สาวน้อยเขาอ่านหนังสือนำเที่ยว ใครๆ ก็ไปเที่ยวเยอรมันนีแล้วบอกว่าเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดมี ๓ เมือง  คือ เบอร์ลิน  แฟรงค์เฟิร์ต  และมิวนิก  แต่ผมไปคราวนี้ไปทำงาน/เรียนรู้ ไม่ใช่ไปเที่ยว  การเที่ยวถือเป็นของแถม

          เราจะได้ไปชม Charlottenberg Palace, Boat trip city tour, และไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหาร Roof Garden Restaurant ที่อาคารรัฐสภาBundestagผมก็เข้าไปชมเสียก่อนทาง อินเทอร์เน็ต



วิจารณ์ พานิช

๘ มิ.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 540065เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2013 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท