BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

เล่าเรื่องธนิยสูตร ๑๒ (จบ)


เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ เทวปุตตมารก็อยู่ที่นั้นไม่ได้จึงได้หายตัวไป นายธนิยะและภรรยาก็ได้บวชเป็นภิกษุและภิกษุณีตามศรัทธา พระบรมศาสดาก็เสด็จกลับทางอากาศ (เหาะกลับ) มายังวัดพระเชตวัน ภายหลังท่านธนิยภิกษุ และภิกษุณีผู้เป็นอดีตภรรยาของท่าน ครั้นบวชแล้วก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต อยู่จบพรหมจรรย์ในบวรพระพุทธศาสนา...

คัมภีร์อรรถกถายังเพิ่มเติมอีกหน่อยว่า บรรดาบุตรธิดาและบริวารของท่าน ก็ได้จัดแจงสถานที่นั้นเพื่อเป็นวัดที่อยู่ของท่าน ชื่อว่าวัดโคปาลกวิหาร วัดนั้นยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ ... แต่คัมภีร์นั้นเขียนไว้หลายร้อยปีหลังพุทธกาล และนับถึงวันนี้ก็อาจถึงสองพันปีแล้ว ดังนั้นในเรื่องนี้ ผู้เขียนยังหาข้อมูลไม่ได้ว่ายังมีวัดโคปาลกวิหารเป็นโบราณสถานที่ริมฝั่งหรือกลางเกาะในแม่น้ำมหีอยู่อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้คงต้องค้นหาต่อไป...

ก่อนจะจบเล่าเรื่องธนิยสูตร มาทบทวนพระปรีชาญาณของพระบรมศาสดากันอีกครั้ง โดยพิจารณาเฉพาะคำแรกหรือประเด็นสำคัญในแต่ละคาถาเท่านั้น

เริ่มต้น นายธนิยะ บอกว่า "ข้าวหุงสุกแล้ว" ... เมื่อมองลึกเข้าไป เรื่องอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่คนเรามักนึกถึงก่อนในคราวมีภัย

พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสพระดำรัสแรกว่า "เราไม่โกรธแล้ว" ... นั่นคือ การเริ่มต้นพูดเรื่องสำคัญ หรือต้องการให้ใครฟังบางอย่างในเบื้องต้น ก็ต้องอย่าให้เขาโกรธ

นายธนิยะบรรยายถึงความเรียบร้อยของงานที่ได้ตระเตรียมไว้

พระพุทธเจ้าตรัสพระดำรัสแรกว่า "แพ" ... นั่นคือ มีบางอย่างที่ยังไม่เรียบร้อย

นายธนิยะแต่งโต้ด้วยคำแรกว่า "ภรรยา" ... นั่นคือ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคก็ไม่ต้องกลัว เพราะภรรยาช่วยได้

พระพุทธเจ้าตรัสพระดำรัสแรกว่า "จิต" ... นั่นคือ จิตใจคนโลเลไม่แน่นอน ยากที่จะเชื่อถือได้

นายธนิยะยก "เสื้อผ้าและอาหาร" เพื่อปฏิเสธอำนาจของภรรยา... และยก "บุตรและบริวาร" เพื่อบอกถึงผู้สนับสนุน

พระพุทธเจ้าตรัสพระดำรัสแรกว่า "ลูกจ้าง" นั่นคือ ชี้ให้เห็นว่าคนเหล่านั้นยินดีก็เพียงเพื่อค่่าจ้างคือผลประโยชน์เท่านั้น

นายธนิยะแต่งโต้ด้วยคำแรกว่า "โค" นั่นคือ มีทรัพย์สมบัติอยู่ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลสิ่งใดๆ

พระพุทธเจ้าตรัสพระดำรัสคำแรกว่า "โค" เหมือนกันด้วยปฏิเสธว่า พระองค์ไม่มีทรัพย์สมบัติใดๆ ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลสิ่งใดๆ

นายธนิยะบรรยายเรื่องการเลี้ยงโค นั่นคือ บ่งชี้ว่าเขายอมรับการเป็นทุกข์กังวลกับทรัพย์สมบัติ

มารแทรกเข้ามาว่า "คนเป็นที่รองรับของความเพลิดเพลิน" เพื่อโน้มน้าวมิให้นายธนิยะและภรรยาบวช

พระพุทธเจ้าตรัสโต้ว่า "คนเป็นที่รองรับของความเศร้าโศก" ให้นายธนิยะและภรรยาทบทวนอีกครั้ง และขับไล่ให้มารหนีไป

พระปรีชาญาณและพุทธลีลาของพระบรมศาสดาจารย์ มีนัยลึกซึ้งและหลากหลายยิ่งนัก รอคอยผู้ที่จะเข้ามาชื่นชมอยู่เสมอในพระไตรปิฏก...


จิรํ สณฺฐาตุ สมฺมาสมฺพุทธสาสนํ

ขอพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงดำรงมั่นชั่วกาลนาน เทอญ.

พระมหาชัยวุธ ฐานุตฺตโม

๑๙/๖/๒๕๕๖


คำสำคัญ (Tags): #ธนิยสูตร
หมายเลขบันทึก: 539860เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2013 18:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท