คำร้องทุกข์


    "คำร้องทุกข์"  หมายความถึง  การที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น จะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำการให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้น ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (7)  

  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์โดยระบุรายละเอียดของผู้ร้องทุกข์และผู้กระทำความผิด  ลักษณะแห่งความผิด ความเสียหายที่ได้รับ ต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือกว่าพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายโดยทำเป็นหนังสือระบุ วัน เดือน ปี หรือด้วยปาก โดยให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้  คำร้องทุกข์มีความสำคัญในคดีความผิดอันยอมความได้ ในเรื่องอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน โดยต้องมีคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงจะมีอำนาจฟ้อง

  ส่วนอายุความการร้องทุกข์ ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือน  นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด สำหรับความผิดอาญาแผ่นดิน ต้องร้องทุกข์หรือกล่าวโทษภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 และคดีขาดอายุความในการร้องทุกข์ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ 

  ผู้ร้องทุกข์ จะแก้คำร้องทุกข์ โดยการแก้ไขเพิ่มเติม หรือตัดทอนข้อความในคำร้องทุกข์  อันเป็นการแก้ข้อความในลักษณะที่สาระสำคัญของคำร้องทุกข์ยังคงอยู่ ในระยะใดก็ได้ หรือจะถอนคำร้องทุกข์ หมายถึง  การไม่ติดใจดำเนินคดีที่ได้ร้องทุกข์ไว้ทั้งเรื่อง หรือเฉพาะการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง หากเป็นการร้องทุกข์ในการกระทำผิดหลายฐาน หรือเฉพาะผู้กระทำผิดคนใดคนหนึ่ง ถ้าเป็นการกล่าวหาผู้กระทำผิดหลายคน จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวน หรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 126

   กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์มีหลักดังนี้ คือ

 (1) ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้เพื่อเป็นหลักฐาน

 (2) ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์เพื่อป้องกันคดีขาดอายุความ

 (3) ผู้เสียหายร้องทุกข์โดยไม่ขอมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน   

       การแจ้งความ เป็นคำที่ใช้กันติดปากของบุคคลทั่วไป  แต่ในทางกฎหมายแล้ว การแจ้งความไม่ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนแต่อย่างใด  อย่างมากการแจ้งความก็จะเป็นการลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน  การดำเนินการที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนจนนำไปสู่การฟ้องคดีในทางกฎหมายเรียกว่า การร้องทุกข์ ซึ่งกระทำโดยผู้เสียหายหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย หรือเป็น การกล่าวโทษ คือการแจ้งเจ้าพนักงานว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้น


หมายเลขบันทึก: 539446เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท