ไหว้ครูแพทย์สงขลานครินทร์ ๑๓ มิย. ๕๖


หลายปีแล้วที่ผมไม่ได้มีโอกาสไปร่วมงานไหว้ครูของคณะแพทย์ ในแต่ละปีที่สอนสั่งอบรมนักเรียนกันมามากมายก็ยังเป็นครูที่ยังไม่มีมีลูกศิษย์อย่างถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ว่าไปนู่น

นั่นก็เพราะงานไหว้ครูต้องจัดเฉพาะวันพฤหัสบดีสีสวาทนั่นไง มันเป็นวันที่ผมต้องมีภารกิจผ่าตัดตั้งแต่เช้าทุกสัปดาห์ อาจจะดูไม่ค่อยยุติธรรมนักสำหรับครูธนพันธ์ เพราะไม่เคยได้มานั่งให้นักเรียนไหว้ตามพิธีกรรมเลย แต่ก็ยังดีที่ลูกศิษย์ในสายรหัส 121 จะมาไหว้ด้วยมาลัยดอกมะลิหอมกรุ่นทุกปี และจะหาโอกาสพาไปกินข้าวด้วยกัน (ถ้าว่าง) คราวหน้าคราวหลัง ลองมาจัดวันไหว้ครูสลับวันกันบ้าง เช่น พุธ ศุกร์ จันทร์ อังคาร แต่ไม่ต้องจัดวันเสาร์หรืออาทิตย์นะ เพราะในวันนั้น ครูเป็นพ่อ ครูป็นแม่ ต้องดูแลลูกอยู่ที่บ้าน

ปีนี้ผมถูกจัดให้ไปผ่าตัดเป็นคิวที่สาม คาดประมาณการก็คงเข้าห้องผ่าตัดราว ๑๐ โมง ผมจึงแต่งตัวหล่อ ผูกไทร์ สวมรองเท้าหนัง (แต่ไม่ใส่กาวน์ ไม่ใส่สูท) ไปร่วมงานทันที

ผมผูกพันกับงานไหว้ครูคณะแพทย์มาตั้งแต่เป็นนักเรียนแพทย์ เอาเป็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นต้นมา ผมอยู่ไหว้ครูตั้งแต่ปี ๑ ถึงปี ๕ เลย เว้นปี ๖ ไว้ปีหนึ่งซึ่งตอนนั้นเป็น extern อยู่ที่นครศรีธรรมราช จนมาเป็นแพทย์ฝึกหัดก็ยังพยายามมาร่วมงานให้ได้ถ้ามีโอกาส กระทั่งเป็นอาจารย์เมื่อสมัยหนุ่มๆ ก็พยายามมาให้ได้ มาห่างหายไปก็ช่วงที่อายุอานามเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนนี้นี่เอง

สมัยที่มีอายุ ๒๐ ปี เรียนอยู่ชั้นปี ๓ ทำงานให้สโมสรนักศึกษาคณะแพทย์ จำได้ว่า งานไหว้ครูในปีนั้น มีนศพ.จิ๋ม และ นศพ.หนุ่ย เป็นแม่งานและมีพวกผมเป็นลูกมือ อัศจรรย์ของงานในปีนั้นก็คือการให้นักเรียนแพทย์ปี ๑ น้องใหม่ ออกมาร้องเพลง “พระคุณที่สาม” ให้ครูแพทย์ฟังก่อนเลิกงาน (อันเป็นไอเดียอันบรรเจิด ของ นศพ.โอ๋ วิมล) ทำเอาซึ้งกันไปทั้งห้อง ท่านคณบดีพรรณทิพย์ สงวนเชื้อ ถึงกับเอ่ยปากชมว่าเป็นงานที่ดูดีและเรียบร้อยมาก และจากนั้นมา เราก็จะได้ยินเพลงนี้ในงานไหว้ครูมาโดยตลอด ขณะที่ผมเป็นผู้ถูกไหว้ก็ยังได้ยินและเห็นประเพณีอันนี้อยู่ นึกภูมิใจทุกครั้งเชียว

ปีนี้ผมได้มาร่วมงานครับ

อาจารย์มาร่วมงานมากมาย ทั้งอาจารย์แพทย์และอาจารย์สาขาวิชากายภาพบำบัด เก้าอี้ที่จัดสำหรับอาจารย์บนเวทีไม่พอ ผมจึงได้โอกาสลงมานั่งด้านล่าง เป็นผู้ถูกไหว้ที่คอยสังเกตบรรยากาศโดยรอบ จึงรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก ได้ฟังบทกลอนไหว้ครู “ปาเจราจริยา โหนติ คุณุตตรานุสาสกา” ถึงตอนนี้ ผมถือโอกาสท่องอาขยานบทนี้ไปด้วยกัน เพราะคุณครูผมก็อยู่ในห้องนี้มากมาย จนจบก็ได้ยินบทส่ง “ปัญญาวุฒิ กเรเตเต ทินโนวาเท นมามิหัง” จึงเป็นอันเสร็จ ได้เห็นการส่งพานของลูกศิษย์ การรับพานของครู ทั้งหมอก่อให้เกิดอาการปีติขึ้นมาในทันใด จบการรับรับพานก็มีการรำมโนราห์ ซึ่งผู้รำเป็นนักศึกษาแพทย์นั่งเอง มาถึงตรงนี้ก็นึกออกเลาๆว่า การรำในงานไหว้ครู น่าจะเริ่มในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาปี ๕ กระมัง

จากนั้นก็เป็นพิธีมอบรางวัลต่างๆ ทั้งแก่อาจารย์และลูกศิษย์ เป็นรางวัลอันทรงเกียรติและทรงค่า ถูกค่า ถูกคน ปิยแพทย์ ปิยอาจารย์ อาจารย์ดีเด่นด้านต่างๆ นักเรียนดีเด่น นักเรียนเรียนดี ปรบมือกันเกรียวไปทั้งห้อง บรรยากาศน่าชื่นใจดีจริงๆ

อันมาถึงฉากไฮไลท์ ผมเฝ้ารอดูและฟังการร้องเพลงเพื่อจบงานไหว้ครู “พระคุณที่สาม” ที่จะต้องขับร้องโดยนักเรียนแพทย์ชั้นปีที่ ๑ แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะนักเรียนลุกขึ้นพร้อมกันทั้งห้องทองจันทร์ และขับร้องเพลง “ครูแพทย์ผู้เสียสละ” (คงต้องขออภัย หากเขียนชื่อผิดไป แต่จำว่าน่าจะเป็นชื่อนี้จริงๆ) มีคนบอกว่า นักเรียนแพทย์ชั้นปี ๓ เป็นผู้แต่งเอาไว้ เป็นการขับร้องแยกเสียงผู้ชายผู้หญิง ไพเราะเสนาะหูเสียจริง ผมซึ่งอยู่ด้านล่าง แอบมองขึ้นไปบนเวที ได้เห็นอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งน้ำตาคลอ จมูกแดงๆ ท่านคงรู้สึกเช่นเดียวกับผม ว่า “มันช่างดีจริงๆ”

เอาเป็นว่า งานไหว้ครูในปีนี้ ผมมาร่วมงานได้ ผมได้เป็นครูอย่างถูกประเพณีต่อไปอีกปีหนึ่ง คราวนี้เวลาจะด่าจะว่าลูกศิษย์คนใด คงไม่ต้องตะขิดตะขวงใจ (ว่ามันเป็นศิษย์เราอย่างถูกต้องไหม) ใครที่ถูกผมด่าก็ควรคิดเสียว่า ถูกครูด่าดีกว่าถูกคนอื่นด่านะ (ฮิฮิ) แต่ถ้าจะให้พูดอย่างจริงใจละก็ “มันช่างดีจริงๆ”


หมายเลขบันทึก: 539293เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 14:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เหมือนได้อยู่ในพิธีไหว้ครูครั้งนี้และทุกครั้งที่ครูเล่าให้ฟังเลยครับ 

ถูกต้องที่สุดค่ะ ถูกครูด่าดีกว่าถูกคนอื่นด่า :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท