หัวหน้างาน : เมื่อมีสนามเล่น เราก็จะเห็นศักยภาพของผู้เล่น


หลังจากได้ไปส่งเสริมการจัดการความรู้ให้แก่หลายหน่วยงาน  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชน   และเห็นผลจากบางบริษัทที่เริ่มคิดสร้างสรรหาวิธีให้คนได้มีพื้นที่มาคุยกัน   แต่ไม่ใช่การคุยกันแบบวิธีประชุมเดิมๆ นะครับ   พื้นที่การพูดคุยแบบนี้มันทำให้หัวหน้างานรู้สึกทึ่ง  ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยคาดว่าจะมี  แต่กลับมีขึ้นมาให้เห็น

แต่เดิม  การพูดคุยในแผนกงานมักมีแต่  วาระตามจิก ตามจี้  บี้เอาความคืบหน้า  กันอย่างเข้มข้น   หัวหน้าต้องเล่นบทหนัก   ต้องพูด  ต้องคิด  ต้องออกคำสั่งมากกว่าคนอื่นๆ   ทำเช่นนี้มานานมาก   ยิ่งทำรู้สึก ยิ่งเหนื่อยอยู่คนเดียว   จนบางคนรู้สึกว่า หากขาดเรา  งานคงแย่    

อาการอย่างนี้  หัวหน้าลืมสำรวจความผิดพลาดของเราเอง  มัวแต่มองว่าลูกน้องเรามันไม่เอาถ่านเสียเลย   

จากประสบการณ์ของบริษัทที่ทำเรื่องนี้ได้ดี  ผมสังเกตเห็นว่า   หัวหน้าจะเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเองก่อน เช่น

หากเราพูดมากกว่าคนอื่น  ลูกน้องคนไหนจะกล้าพูดมากกว่าเรา

เปลี่ยนเป็น

หากเราพูดให้น้อยลง  ฟังลูกน้องให้มากขึ้น  ฟังว่าเขาเก่งอะไร  เราก็จะเห็นศักยภาพของเขา

แต่  หัวหน้าหลายท่านชอบถามว่า   ก็เวลาเปิดโอกาสให้พูด  ไม่เห็นมีใครจะพูด  เงียบเป็นเป่าสาก!

.ใจเย็นครับ ใจเย็น   

การเปลี่ยนพฤติกรรมคน มันไม่ได้เปิดปุ๊บ ติดปั๊บแบบโฆษณาฮิตาชิ   การที่เขาเงียบ  มันมีที่มา ที่ไป   ก็คนมันไม่เคย  อยู่ๆ จะพูดอย่างที่เราต้องการเลย มันใช่หรือเปล่า?   หากเป็นเช่นนั้นก็แปลกแล้วหล่ะ

ความกังวลที่จะพูด ย่อมมีเป็นธรรมดา  ยิ่งคนพูดน้อย  ทำอย่างเดียว ยิ่งยากเป็นเท่าตัว  

ตรงนี้แหละ  หัวหน้าต้องใช้วิทยายุทธแบบไร้กระบวนท่ากันเลยทีเดียว    ในพื้นที่การพูดคุยในช่วงแรกๆ   

ทำครั้ง สองครั้งอย่าเพิ่งท้อนะครับ   ทำไปสังเกตไป  ว่าเมื่อเขาอยู่ในสภาวะการณ์ใด  เขาถึงจะค่อยกล้าพูด กล้าแสดงตัว   แล้วเราค่อยๆ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์แบบนั้น

ช่วงแรกๆ  หากเจอลูกน้องไม่ค่อยพูด  หัวหน้าต้องทำการบ้านก่อน  เช่น  ค้นหาดูว่า  ใครมีดีอะไรบ้าง?  ทั้งในเรื่องงาน และเรื่องชีวิต    แล้วค่อยๆ เปิดประเด็นในเรื่องที่เขาถนัด ก่อน  ให้เขารู้สึกง่ายที่จะพูด    นึกถึงเรา หากเราทำอะไรได้ดี  หรือถนัด  แล้วมีใครมาถามเราในเรื่องนั้น  เราจะตอบ หรือพูดคุยได้อย่างเป็นธรรมชาติ

การเปิดพื้นที่สนทนาแบบนี้  สอดแทรกอยู่ในวงจรการทำงานประจำ  ทำอย่างประจำต่อเนื่อง   ย่อมทำให้หัวหน้าเห็นศักยภาพของทีมมากขึ้น      ผมเคยเห็นมาหลายบริษัทแล้ว   บางแห่ง  ลูกน้องเก่งมากเล่าให้ฟังว่า  เขาช่วยประหยัดงบประมาณให้บริษัทได้มาก  ด้วยการคิดวิธีการซ่อมบำรุงอุปกรณ์บางตัว  อย่างประหยัดแต่ได้ผลดีดังเดิม  ซึ่งวิธีเก่าต้องใช้งบประมารสูงมาก    หรือ   ลูกน้องลุกขึ้นมาเล่าเทคนิคการผลิตสินค้าในบางขั้นตอนของกระบวนการผลิต  ให้เห็นว่า  วิธีการของเขาทำงานเสร็จเร็วขึ้น ต่างจากเดิมใช้เวลานานกว่า   โดยที่คุณภาพชิ้นงานยัง OK    เหล่านี้เป็นตัน

บริษัทที่ทำอย่างนี้จนเป็นนิจ   มันไม่ได้มีแค่ คน สองคน   ที่จะมาเล่าเรื่องราวดีแบบนี้   แต่มันค่อยๆ มีคนจำนวนที่มากขึ้นๆ  ตามเวลาที่เราทำ     และหากหัวหน้าฉลาดพอละก้อ   เก็บรวบรวมเรื่องดีๆ เหล่านั้นจากทีมงานหน้างาน   เอามาใช้ประโยชน์ได้หลายเรื่องเลย   เช่น   เอาไว้ให้พนักงานใหม่ หรือคนที่ยังไม่รู้มาเรียนรู้ วิธีการทำงานให้ได้ผลงานดีขึ้น  ประหยัด  สินค้าได้คุณภาพ  ประหยัดงบ  ฯลฯ   มันจะเป็นตัวช่วยให้หัวหน้างานเบาแรงขึ้นอีกแน่ๆ

แต่ก่อนที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงที่ตัวท่านเอง    ถามตัวเองก่อนว่า  

"ท่านเชื่อหรือไม่ว่าลูกน้องของท่านมีศักยภาพ?"     หากท่านเชื่อว่ามี   เริ่มทดลองอะไรใหม่ได้เลยครับ

แต่หากคำตอบของท่านได้ว่า   ยังไม่ค่อยเชื่อ     ท่านก็ต้องออกแรงอย่างเดิม  เหนื่อยคนเดียวอย่างเดิม  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธวัช หมัดเต๊ะ  14 มิถุนายน 2556


หมายเลขบันทึก: 539270เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2013 11:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การงานเป็นสะพานเชื่อมความรักครับ 

คนมาทำงานรักงานที่เขามาทำอยู่แล้วครับ ขอเพียงมีพื้นที่ปลอดภัยให้เขารู้สึกปลอดภัย การกระทำที่ทุ่มไปในงานจะค่อยๆ เผยตัวออกมา เรื่องเล่าดีๆ มาจากผลของการทุ่มเท และเมื่อคนเรามีคนฟังอย่างจริงใจ รู้สึกได้รับการยอมรับ เกลียวแห่งความพยายามจะหมุนวนบนความรัก ความสำเร็จจะตามมา 

ศักยภาพของคนทำงานจะได้แสดงออกอย่างเต็มที่ครับ หัวหน้างานคงไม่เลือกที่จะเหนื่อยคนเดียวนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท