๕๕ ปีสาธิตจุฬา ฯ เสาหลักการศึกษา พัฒนาแผ่นดิน



๕๕ ปีสาธิตจุฬา ฯ เสาหลักการศึกษา พัฒนาแผ่นดิน


ปฐมบทปลูกปั้น

  “เมื่อความรู้ยอดเยี่ยมสูงเทียมเมฆ   แต่คุณธรรมต่ำเฉกยอดหญ้านั่น

  อาจเสกสร้างมิจฉาสารพัน     ด้วยจิตอันไร้อายในโลกา”*

              ๕๕ ปี นับเป็นเวลากว่ากึ่งศตวรรษ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำปรัชญาพิพัฒนานิยม (progressivism) มาใช้จัดการศึกษา เพื่อ “สาธิต” ความก้าวหน้าหลายประการ จนกลายเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่าแก่สังคมไทย  หน้าประวัติศาสตร์ของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๑ จากวิสัยทัศน์ที่เปี่ยมด้วยปรีชาญาณของศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิง  พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา  ปฐมคณบดีของคณะครุศาสตร์ขณะนั้น หาได้หมายถึงแต่เฉพาะการเกิดขึ้นของโรงเรียนในมหาวิทยาลัยไทยเท่านั้นไม่  แต่ยังเป็นการประกาศปณิธาน ที่จะสืบสายธารความคิดของนักปรัชญาพิพัฒนาการนิยม  อันเป็นสำนักคิดทางปรัชญาที่ก้าวหน้าในขณะนั้น ให้ดำรงตั้งมั่นในสังคมไทยได้ ด้วยสำนักคิดนี้  มีความเชื่อพื้นฐานว่า ความรู้อันมีมากในตำรา หาได้เป็นความรู้ที่แท้จริง เพราะมิอาจจะทำให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนค่านิยมความคิด  ซึ่งเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต  ที่ถึงสมบูรณ์ ถึงพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมได้  แต่ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่านั้นต่างหาก ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด โรงเรียนสาธิตจึงเป็นสถาบันอันมีเป้าหมายในการสร้างประสบการณ์อันหลากหลาย เน้นการบูรณาการแบบองค์รวม  และการคิดสร้างสรรค์นับแต่นั้น 


              จากนักเรียนรุ่นที่ ๑ จำนวน ๕๖ คน และอาจารย์ ๖ คน โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เติบโตก้าวหน้ามาเป็นอันมาก กระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๒  โรงเรียนเห็นว่า  ทรัพยากรทุกด้าน อันมีคณาจารย์และผู้เรียนเป็นอาทิ ได้มีมากบริบูรณ์และมั่งคงในระดับหนึ่งแล้ว  จึงสมควรที่จะขยายโรงเรียนออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม เพื่อพัฒนาให้เป็นเสาหลักของการสาธิตศึกษาทั้งสองระดับต่อไป ในการนี้ โรงเรียนอันประกอบด้วยผู้บริหารและคณาจารย์ จึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาจำนวนมาก ที่ได้ก่อให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวต่อการศึกษาไทยหลายประการ อาทิ  การริเริ่มพัฒนาระบบการจัดการศึกษาในรูปแบบ ๖ : ๓ : ๓  การจัดตั้งหน่วยเทคโนโลยีทางการศึกษา  การจัดตั้งหน่วยห้องสมุดและเทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูล  การเปิดรายวิชาแนะแนว  การจัดสร้างห้องปฏิบัติการของทุกสาขาวิชา  การเปิดวิชาเลือกเสรีจำนวนมาก การจัดห้องเรียนแบบคละความสามารถ เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็น "สิ่งแรก" ในวงการศึกษาไทย  


ปัจจุบันอันมี

    “แม้คุณธรรมสูงเยี่ยมถึงเทียมเมฆ     แต่ความรู้ต่ำเฉกเพียงยอดหญ้า

  ยอมเป็นเหยื่อทรชนจนอุรา     ด้วยปัญญาอ่อนด้อยน่าน้อยใจ”*


                ๕๕ ปี ผ่านไป  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนักเรียนนับพัน คณาจารย์นับร้อย  ก้าวสู่ความเป็นสถานศึกษาขนาดใหญ่ใจกลางมหานคร จากเรือนไม้ห้องแถว พัฒนามาเป็นอาคารอันทันสมัยสวยงาม มีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ กระทั่งได้รับรางวัลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง ที่สำคัญ ยังเพียบพร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา เชี่ยวชาญศาสตร์การสอนในสาขาวิชาเฉพาะ และจัดการศึกษาถึงสามมิติ กล่าวคือ จัดการศึกษาแก่ผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นมิติแรก  จัดการศึกษาด้วยการสอนและนิเทศ  แก่นิสิตระดับปริญญาบัณฑิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ทั้งในสาขาวิชาเฉพาะ  และในวิชาประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นมิติที่สอง และให้บริการสังคมด้วยการจัดอบรมครูประจำการในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูเป็นมิติที่สาม การจัดการศึกษาในทุกมิติ ล้วนตั้งอยู่บนหลักการของการวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งสื่อการเรียนการสอน เทคนิค รูปแบบ วิธีการ  และกระบวนการเรียนการสอน  จึงอาจกล่าวได้ว่า นอกจากผู้รับบริการ คือ  ผู้เรียน นิสิต  และครูประจำการ  จะได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถสูงขึ้นแล้ว  คณาจารย์ของโรงเรียน  ยังได้ศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่อยู่เสมอ ทั้งนี้  ก็เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาของตนให้ก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มิให้ย่อหย่อนเสื่อมถอย ดังจะเห็นได้จากปัจจุบัน  โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรม ที่ส่งเสริมทั้งทักษะทางวิชาการ  และทักษะชีวิตให้แก่ผู้เรียนเป็นจำนวนมาก เช่น  โครงการความร่วมมือทางวิชาการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หรือโครงการเรียนล่วงหน้า (CU-APprogram)ที่นักเรียนผู้มีศักยภาพสูง สามารถเข้าไปศึกษาในรายวิชาระดับปริญญาบัณฑิตของคณะต่าง ๆ ใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โครงการประเมินผลการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ (ทัศนศิลป์  ดนตรี และนาฏศิลป์) ที่นักเรียนจะต้องพัฒนาทักษะชีวิตด้านการทำงานเป็นทีม และการบูรณาการความรู้ด้านศิลปะสาขาต่าง ๆ จัดเป็นการแสดงที่เสริมสร้างคุณธรรมและให้ข้อคิดในการดำรงชีวิต  นอกจากนี้ ยังมีโครงการของคณาจารย์ เช่น โครงการพัฒนาแบบเรียนในวิชาต่าง ๆ โครงการพัฒนาความสามารถในการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศ และโครงการพัฒนาการวิจัย เป็นต้น ปัจจุบันของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเป็นปัจจุบันที่ยังคงพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอแนวทางการจัดการศึกษาอันเป็นแบบอย่างที่เหมาะควรแก่การศึกษาไทย 


สู่วิถีอนาคต

    “หากความรู้สูงล้ำคุณธรรมเลิศ   แสนประเสริฐกอปรกิจวินิจฉัย

  “จะพัฒนาประชาราษฎร์ทั้งชาติไทย   ต้องฝึกให้ความรู้คู่คุณธรรม”*


              กาลอันประมาณมิได้ข้างหน้า โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวิสัยทัศน์ว่า  จะยังคงธำรงมั่น สถิตอยู่เป็นสถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติ เคียงคู่สถาบันชาติ เพื่อสร้างสรรค์ผู้เรียนและคณาจารย์ผู้มีเกียรติถึงพร้อม กล่าวคือ ผู้เรียน จะเป็นผู้มีใจใฝ่รู้  คิดสร้างสรรค์ เป็นผู้นำทางปัญญาและความถูกต้อง  มี “คุณธรรม” นำ “ความรู้”  แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้มีกิริยามารยาทดี อ่อนน้อม เสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม รับใช้สังคม  และแก้ไขปัญหาอันซับซ้อนของสังคมที่เขาดำรงอยู่  คณาจารย์จะอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของสรรพวิทยาการ ดำรงเกียรติแห่งตนด้วยการรับใช้การครุศึกษา เพื่อพัฒนาครูประจำการให้มีมาตรฐานทางวิชาชีพ  ด้วยการใช้นวัตกรรมและแนวทางอันเป็นแบบอย่างสำหรับนำไปปฏิบัติ และบริหารจัดการโรงเรียนในทุกมิติด้วย  ยึดมั่นในหลักการ “ก้าวหน้า” อันเป็นหัวใจของปรัชญาที่โรงเรียนยึดถือ และสืบทอดมาอย่างไม่ขาดสาย  ทั้งนี้ เพื่อให้สมกับปณิธานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ว่า เกียรติภูมิ  จุฬา ฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน” และโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำรงไว้ซึ่งเกียรติแห่งการรับใช้การศึกษาชาติ มิใช่แต่ในฐานะสมบัติทางประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทย แต่ในฐานะผู้นำที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ให้วงการศึกษาอยู่เสมอ  


"พับกระดาษ จับกรีด รีดเป็นริ้ว
มือพลิกพลิ้ว เปลี่ยนไป ดั่งใจฝัน
เป็นตัวนั้น นั่นนี่ สารพัน
แต่รู้กัน "นั่นกระดาษ" ไม่อาจคืน

โรงเรียนนี้ ไม่สอน พับกระดาษ
แต่มุ่งมาด สอนชีวิต ให้คิดฝืน
ความเสื่อมทรุด อยุติธรรม ไม่จำกลืน
เรียนรู้ตื่น เตือนตน ตลอดไป

๕๕ ปี เสาหลัก การศึกษา
สาธิตจุฬา ฯ สร้างนวัตกรรม นำสมัย
พัฒนาครู เพื่อศิษย์ คิดกว้างไกล
แผ่นดินไทย ได้แบบอย่าง การสร้างคน”




(* ปรัชญาของโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประพันธ์โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณอำไพ สุจริตกุล อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ และอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 


หมายเลขบันทึก: 539239เขียนเมื่อ 13 มิถุนายน 2013 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2013 10:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท