โรคลำไส้จั๊กจี้


ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) ฟังชื่อแล้วน่าเกรงขาม,,,..,รู้อย่างนี้แล้วคนที่เป็นโ่รคนี้น่าจะเบาใจไปได้...

มีโรคชนิดหนึ่งเรียกกันว่า ลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome) ฟังชื่อแล้วน่าเกรงขาม คนไข้มักจะมาปรึกษาหมอด้วยความตื่นกลัว หวาดเสียว อาจจะคุ้นกับคำว่าอากาศแปรปรวน พายุกำลังจะมา ถ้าลำไส้แปรปรวนแล้วอะไรจะตามมา ทำนองนั้น ถ้าจะให้ใกล้เคียงความหมายในภาษาอังกฤษน่าจะเรียกว่า ลำไส้หงุดหงิด แต่คำว่าหงุดหงิดก็ไม่น่าฟัง พอเรียกว่าลำไส้จั๊กจี้คนไข้หัวเราะเกือบทุกคน น่าจะพอใจกับชื่อนี้มากกว่า และความหมายก็ใกล้เคียงมากกว่าลำไส้แปรปรวนด้วย เนื่องจากพื้นฐานของโรคเกิดจากลำไส้มีความไวต่อสิ่งกระตุ้น มีอะไรมาแหย่นิดหน่อยก็แสดงปฏิกิริยารุนแรงเกินกว่าที่ควร เรียกว่าลำไส้จั๊กจี้จึงน่าจะเหมาะดี  

โรคนี้ติดอันดับระดับโลกเลยนะครับ ในตำราบอกว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้คนต้องหยุดงานเป็นอันดับที่สองรองจากโรคหวัดเลยทีเดียว ใครที่เป็นโรคนี้ไม่ควรตกใจด้วยเหตุผลสามประการคือ 

         หนึ่ง ท่านมีเพื่อนร่วมโรคอยู่อีกมาก 

         สอง ไม่เคยมีใครเสียชีวิตหรือทุพลภาพเพราะโรคนี้เลย แค่รำคาญเวลาที่มีอาการเท่านั้น 

         สาม อาการจะเป็นบ้างหายบ้าง ไม่เคยปรากฏว่ามีแบบเป็นแล้วไม่รู้หาย แถมช่วงเวลาเป็น (มีอาการ) สั้นกว่าช่วงเวลาที่ไม่เป็น (ไม่มีอาการ) 

         รู้อย่างนี้แล้วคนที่เป็นโ่รคนี้ น่าจะเบาใจไปได้พอสมควรที่เดียว และการคิดเชิงบวกจะทำให้เป็นน้อยลง

อาการหลักของโรคลำไส้จั๊กจี้ คือ ปวดท้อง บริเวณท้องที่ปวดอาจเป็นบริเวณไหนก็ได้ เป็นกันบ่อยที่สุดคือท้องด้านซ้ายล่าง บางคนก็ด้านขวาล่าง หรือครึ่งท้องล่าง บางคนก็กลางท้อง บางคนก็ส่วนบนเหนือสะดือ ที่ค่อนข้างจะแน่นอนคือ ใครเคยปวดบริเวณไหนถ้าปวดอีกก็จะปวดบริเวณเดิมนั่นแหละ อาการปวดนี้เกิดจากการบีบตัวของลำไส้ใหญ่เป็นสำคัญ การปวดแต่ละครั้งนานหลายนาที เบาลงเพราะการบีบคลายตัวลงยังไม่หายก็ปวดเพิ่มขึ้นอีก บางกรณีความปวดเบามากจนไม่เรียกว่าปวด แต่ใช้คำว่าแสบ (ทำให้บางกรณีสับสนกับโรคกระเพาะอาหาร) บางกรณีก็รุนแรงน้องๆปวดประจำเดือน แต่ก็จะไม่ปวดจนคลื่นไส้อาเจียน การปวดมักจะเริ่มเพราะมีสิ่งกระตุ้น เช่น อิ่มอาหารใหม่ๆ เพราะอาหารเป็นตัวกระตุ้น บางคนถูกกระตุ้นด้วยอาหารมื้อใหญ่ หรืออาหารที่มีรสจัด คือ เผ็ดไปหรือเปรี้ยวไป บางคนจู้จี้หน่อยต้องทั้งเผ็ดทั้งเปรี้ยวจึงจะปวด แต่บางคนก็ไวต่อการกระตุ้นทางอารมณ์ เช่น มีงานมากผิดปกติ หรือมีปัญหาต้องตัดสินใจแต่ยังตัดสินใจไม่ได้ มีเรื่องไม่สบายใจหรือมีภาระเดือดร้อนหรือแค่เกรงว่าจะเดือดร้อน ที่แน่นอนอีกก็คือ สิ่งกระตุ้นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใครถูกกระตุ้นง่ายด้วยอะไรก็จะเกิดอาการด้วยสิ่งนั้น สำหรับบางคนหาไม่พบว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นก็โชคร้ายหน่อย เท่าที่ดูจากคนไข้พบสัดส่วนพอๆกันระหว่างตัวกระตุ้นที่เป็นอาหาร อารมณ์ และไม่ปรากฏตัวกระตุ้นที่ชัดเจน พวกที่หาตัวกระตุ้นพบจะได้เปรียบที่หากหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นได้ก็จะพอมีทางหลีกเลี่ยงการเกิดอาการได้

คนที่มีอาการปวดท้องจากโรคลำไส้จั๊กจี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า ช่วงที่มีอาการปวดท้องนั้น มักจะรู้สึกเหมือนอยากถ่ายอุจจาระ ทำให้ถ่ายบ่อยขึ้นกว่าเดิม และเป็นธรรมดาของคนถ่ายบ่อย ที่การถ่ายตั้งแต่ครั้งที่สองเป็นต้นไปมักจะเละ เนื่องจากเป็นการถ่ายก่อนเวลาที่ควรถ่าย (อุจจาระจะเป็นก้อนก็ต่อเมื่อค้างอยู่ในลำไส้นานพอ เช่น ข้ามคืน) และมักจะรู้สึกคล้ายถ่ายไม่หมด (เนื่องจากลำไส้ยังบีบตัวอยู่จึงรู้สึกคล้ายๆยังมีอุจจาระทั้งๆที่หมดแล้ว) ภายหลังการถ่ายอุจจาระแต่ละครั้งอาการปวดท้องจะทุเลาลง แต่บางคนก็มีอาการในทางตรงข้ามคือ ระยะที่ปวดท้องบ่อยๆจะถ่ายอุจจาระน้อยครั้งลง ที่แน่นอนอีกเหมือนกันก็คือ ใครเคยมีลักษณะการถ่ายแบบไหนเมื่อเป็นอีกก็จะเป็นแบบนั้น ทำให้จำได้ว่า เอาอีกแล้วหรือนี่ ประเภทที่ถ่ายบ่อยโดยไม่บ่นเรื่องปวดท้องก็มีเหมือนกัน คือลำไส้บีบตัวแค่ทำให้ปวดถ่ายเท่านั้น เมื่อถ่ายแล้วก็หายปวดไม่รุนแรงพอที่จะทำให้ปวดท้อง จึงรำคาญเฉพาะเรื่องถ่ายบ่อย ที่ถ่ายเพียงวันละ 2-3 ครั้งก็พอทน ถ้าถ่ายวันละ 7-8 ครั้งก็จะเดือดร้อนจนบางคนไม่กล้าออกไปธุระนอกบ้านในช่วงเวลาที่มีอาการ สำหรับอาการจะเป็นติดต่อกันนานสักกี่วันนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวอีกแหละ ใครเคยเป็นกี่วันก็จะประมาณเท่านั้นวัน เช่น วันเดียวหาย หรือ 2-3 วัน หรือนานเป็นสัปดาห์ เว้นไปเป็นเดือนหรือหลายเดือนแล้วก็เป็นอีก บางคนหายไปเป็นปีจนคิดว่าจะไม่เป็นอีกแล้ว เผลอๆก็เป็นอีกจนได้ คนที่เคยเป็นห่างๆก็จะห่าง ที่เป็นถี่ก็มักจะถี่จนน่าสงสาร เรื่องเฉพาะอีกอย่างหนึ่งของโรคลำไส้จั๊กจี้คือ เมื่อเข้านอนหลับแล้วอาการทุกอย่างจะยุติ ตื่นนอนแล้วค่อยว่ากันใหม่ เช่น คนที่ถ่ายบ่อย ตื่นนอนเช้าถ่ายอุจจาระเป็นก้อน หลังอาหารเช้าถ่ายอีกครั้ง สายๆถ่ายอีก หลังอาหารกลางวันก็ถ่าย เวลาเย็นกลับถึงบ้านก็ถ่าย หลังอาหารค่ำก็ถ่าย การถ่ายตั้งแต่ครั้งที่สองมักจะเละ และปริมาณน้อยลงเป็นลำดับ รวมแล้วประมาณสองชั่วโมงครั้ง แต่เข้านอนแล้วไม่ต้องลุกมาถ่ายจนกว่าจะตื่นนอนเช้าวันรุ่งขึ้น พวกที่ปวดท้องถ้านอนหลับแล้วก็ไม่ปวด และจะไม่ตื่นกลางดึกเพราะปวดท้องเป็นเหตุ จึงต่างจากโรคลำไส้ชนิดอื่นๆอย่างชัดเจน แสดงว่าเวลาเราหลับความไวต่อการกระตุ้นของลำไส้ลดน้อยลงหรือไม่ก็เพราะไม่มีการกระตุ้น

ในการวินิจฉัยโรค คนอายุน้อย (น้อยกว่าสี่สิบปี) ที่มีอาการมานานแล้วจนสังเกตลักษณะอาการเฉพาะตัวได้เป็นชุด เช่น มีอาการเป็นช่วงๆ ช่วงที่มีอาการสั้นกว่าช่วงที่ไม่มีอาการ เคยปวดอย่างไรบริเวณไหนก็ปวดอย่างนั้นบริเวณนั้น อาการปวดสัมพันธ์กับการถ่ายอุจจาระ เมื่อหายปวดอาการเกี่ยวกับการถ่ายก็หายไป หลังเข้านอนหลับแล้วอาการทุกอย่างก็หายไป ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย ยิ่งปรากฏตัวกระตุ้นชัดเจน การวินิจฉัยโรคก็ง่าย

ในกรณีที่ชุดอาการไม่ชัดเจน มีอาการมาไม่นานนัก หรือเริ่มมีอาการเมื่ออายุมากแล้ว หรือมีอาการอื่นด้วย สมควรจะได้รับการตรวจพิเศษเช่น การตรวจอุจจาระ หรือการตรวจลำไส้ด้วยการใช้กล้องส่อง เป็นต้น เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโรคอื่นที่น่าห่วงมากกว่า  

ในการรักษา การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นช่วยได้มากทีเดียว ถ้าหลีกไม่พ้นหรือหาเหตุกระตุ้นไม่พบ ยาช่วยได้มากเหมือนกัน เท่าที่เคยใช้กับคนไข้มาเป็นดังนี้

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องเป็นอาการหลัก ยาที่ชื่อว่า เม็บบีเวอรีน (Mebeverine 135 mg.) ซึ่งเป็นยาชนิดหนึ่งที่ทำให้ลำไส้บีบตัวเบาลง รับประทานหนึ่งเม็ดก่อนอาหารวันละสามมื้อ ทำให้หายปวดท้องหรือปวดน้อยลงมาก และมีผลทำให้การถ่ายอุจจาระเป็นระเบียบดีขึ้นด้วย คือคนที่ถ่ายบ่อยก็จะถ่ายน้อยครั้งลง ส่วนคนที่ถ่ายน้อยครั้งก็จะถ่ายบ่อยขึ้น เนื่องจากการบีบตัวของลำไส้เป็นระเบียบดีขึ้น ยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ผลเช่นกัน คือ บุสโคพาน (Buscopan) ครั้งละ 2 เม็ด แต่มีผลข้างเคียงบ่อยกว่า เช่น คอแห้ง

สำหรับผู้ที่มีอาการถ่ายบ่อยๆเป็นอาการหลัก ใช้ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide 2 mg) ครั้งละหนึ่งแคปซูลทุกครั้งที่ถ่ายเหลวแต่ไม่เกินวันละสี่แคปซูล จะควบคุมอาการได้ดีทำให้ออกนอกบ้านได้อย่างสบายใจ (ส่วนมากวันละหนึ่งแคปซูลก็หมดปัญหาแล้ว)

 ในกรณีที่อาการดีขึ้นไม่มากนัก ยาตัวหนึ่งที่ช่วยได้คือ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline 10 mg) ซึ่งเป็นยารักษาโรคซึมเศร้า โดยใช้เพียงวันละ 10 มิลลิกรัมก่อนนอน (หลังสองสัปดาห์ยังไม่ดีลองเพิ่มเป็น 2 เม็ด บางคนได้ผลดีแต่ง่วงหรือคอแห้งมากก็ลดเหลือครึ่งเม็ด) ก็อาจรักษาอาการนี้ได้ ทั้งๆที่ขนาดยาที่ใช้น้อยมาก (เทียบกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจริงๆอาจต้องใช้ยานี้วันละ 50 – 150 มิลลิกรัม) และผลข้างเคียงก็มีเพียงคอแห้งเนื่องจากน้ำลายน้อยลง หรือง่วงนิดหน่อยเวลาตื่นนอน แต่บางคนก็ไม่บ่นเลย (อาจจะดีใจที่อาการที่ไม่ชอบหายไปแล้วก็ได้) ทั้งไม่เกิดปัญหาเสพติดแบบที่เกิดกับยาคลายเครียด ในกรณีที่มีอาการปวดท้องมาก อะมิทริปไทลีนใช้คู่กับยาเม็บบีเวอรีนจะทำให้ปวดท้องน้อยลง ในกรณีที่มีอาการถ่ายบ่อยๆที่ต้องใช้โลเพอราไมด์วันละหลายแคปซูล อาจเปลี่ยนมาเป็นอะมิทริปไทลีนวันละเม็ดเดียว เป็นต้น

ระยะเวลาใช้ยาผมให้คนไข้เป็นผู้กำหนดเอง คะเนให้เท่ากับระยะเวลาที่เคยมีอาการ เช่น เคยมีอาการ 2-3 วันหายก็ใช้ยา 2-3 วัน เคยมีอาการ 10 วันก็ใช้ยา 10 วัน หากหยุดยาแล้วกลับเป็นซ้ำ ครั้งต่อไปก็ขยายเวลาที่ใช้ยาให้ยาวขึ้น บางคนอาจต้องใช้ยาติดต่อกันยาวนานเป็นเดือนหรือหลายเดือน (ถ้าระยะที่ได้ยาไม่มีอาการ หยุดยาแล้วอาการกลับมาเร็ว) เช่น พนักงานสาวธนาคารแห่งหนึ่งมีอาการเฉพาะเดือนมิถุนายนและธันวาคม (ช่วงปิดบัญชีธนาคาร) ก็ใช้ยาปีละ 2 เดือน หรือนักเรียนที่ใกล้สอบเมื่อไรก็เป็นเมื่อนั้น ก็ใช้ยาเท่ากับจำนวนครั้งที่สอบและจำนวนวันที่เคยเป็น วันอื่นๆก็ลืมเสียว่าเราเป็นโรคนี้ ดีกว่าคนที่ปวดหัวเสียอีกเป็นแล้วคิดอะไรไม่ออก ทำข้อสอบไม่ได้เดือดร้อนมากกว่าเราเยอะเลย ก็บอกแล้วว่าให้คิดเชิงบวก แล้วจะเป็นน้อยลง (จริงๆ)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

12 มิ.ย. 56

หมายเลขบันทึก: 539077เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 14:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท