ในนามของความรัก: การศึกษาเพื่อความเข้าใจตนเอง


ผมเป็นครูสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมสอนวิชาวรรณกรรมทางการศึกษาแก่นิสิตสาขาวิชาเอกภาษาไทยชั้นปีที่ ๓ และ ๔ โดยไม่ทราบหรอกว่า นิสิตที่มุ่งมั่นศึกษาเหล่านี้ เมื่อเรียนสำเร็จแล้วจะเป็นครูหรือไม่

แต่ผมคิดว่าสิ่งนั้นไม่สำคัญสักเท่าไหร่ เพราะเป็นเรื่องอนาคต  สิ่งสำคัญคือปัจจุบันว่า นิสิตจะคิดวิพากษ์การศึกษาจากวรรณกรรมอันเป็นผลงานของนักการศึกษาได้มากน้อยเพียงใด เพราะบางที ผมคิดว่า นิสิตนักศึกษาครู ห่างไกลจากการศึกษาแนวคิดเหล่านี้

เรามัวแต่สนใจทฤษฎีหลักสูตร ทฤษฎีการสอน  สนใจการวัดประเมิน สนใจเทคโนโลยี แต่เราไม่เคยสนใจในสิ่งที่เป็นรากเป็นฐานของสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา

บทความต่อนี้คือเอกสารคำสอนของผม ซึ่งใช้ประกอบการบรรยายแก่นิสิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผื่อว่าบางที ว่าที่ครูเหล่านี้ จะหวนกลับไปชื่นชม เมื่อแรกที่ของแนวคิดการศึกษาผลิบานเป็นความงามให้แก่มนุษยชาติ 




                                                                คำบรรยายครั้งที่ ๑


ในนามของความรัก: การศึกษาเพื่อความเข้าใจตนเอง

เฉลิมลาภ ทองอาจ[*]

              ห้วงนภากาศ มีอาณาเขตอันประมาณมิได้ฉันใด การศึกษาย่อมมีย่อมมีขอบเขตอันยาก  กำหนดได้ฉันนั้น  นักการศึกษาบางส่วน พยายามที่จะกระทำต่อการศึกษา คล้ายกับสิ่งที่มีจุดสิ้นสุด  จำกัดได้ ดังจะเห็นได้จากการกำหนดเนื้อหาความรู้ และเวลาที่จะต้องเรียนในลักษณะบังคับ  การกำหนดการวัดและประเมินผล และรูปแบบการประเมินผล ด้วยการทดสอบหรืออะไรอื่น ที่ผู้ถูกทดสอบไม่อาจทราบได้  ผู้ที่กำหนดหรือขีดเส้นแบ่งบังคับเช่นว่านี้  หาได้ทราบเลยว่า เขากำลังพยายาม  ที่จะลดคุณค่าของการศึกษา  (education) อันสมบัติอันประเสริฐของมนุษย์ ให้กลายเป็นแค่ความรู้  (knowledge) ชั้นต่ำอย่างหนึ่ง ผลที่สุดแล้ว การเรียนรู้ศึกษาก็มิได้มีค่าอะไรแก่ผู้เรียนมากไปกว่า  ความรู้สำหรับท่องจำ  และนำไปบอกเล่ากล่าวซ้ำแก่ครูหรือผู้ทดสอบ

               ความรู้และปัญญาเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่มิใช่สิ่งเดียวกัน ความรู้เป็นสิ่งที่ผูกไว้กับสติปัญญา (intellect) คือมีความรู้ความจำ เรียกนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ที่ระลึกถึง เช่น จำได้ว่า นักปราชญ์กล่าวไว้อย่างไร คำนี้มีรากศัพท์มาแต่ใด  หรืออะไรคือความหมายของสิ่งนั้น เป็นต้น สติปัญญาพวกนี้สร้างได้ด้วยวิธีการง่ายที่สุด คือ การบอกกล่าวให้ท่องจำ ซ้ำทวนไปมา สักพักหนึ่ง ก็สามารถจดจำไว้ในความคิดได้  แต่สติปัญญาอันผูกไว้กับความรู้นั้น หาได้มีนัยถึงความรู้ที่แท้จริงไม่  หลายครั้งที่เราพบว่า ผู้มีความรู้ใน  สิ่งต่าง ๆ คือ  ผู้ที่ท่องจำคำเขามา มีแต่ความรู้อันเป็นข้อมูล แต่หาได้เป็นความรู้จริงอันเกิดแต่ประสบการณ์ตรงไม่  เพราะผู้รู้แจ้งควรมีประสบการณ์เป็นเบื้องต้น  ก่อนที่จะอวดอ้างแสดงโวหารหรือวิธีอื่นใดอันเนื่องมาจากประสบการณ์นั้น  (Krishnamurtri, ๒๐๑๓: ๑๓๒) 

              สติปัญญาเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งของปัญญาญาณ (intelligence) น่าเสียดายที่การศึกษาโดยทั่วไปมิได้ประสงค์ให้บุคคลเกิดปัญญาประเภทนี้ ทั้งที่จะนำไปสู่ความเข้าใจตนเอง (self-knowledge) และปลดพันธนาการอันเนื่องมาจากความขลาดกลัว และความยุ่งยากสับสนทั้งหลายให้หมดลงได้ ก็เหตุใดเล่า การพัฒนาปัญญาญาณจึงเป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับทุกสังคม  คำตอบก็คือ  ปัญญาญาณนั้นนำมาซึ่งการปฏิรูปภายในจิตใจ  และเปลี่ยนแปลงค่านิยมเกี่ยวกับชีวิตและการดำเนินชีวิตเสียใหม่  โดยธรรมชาติของการปฏิรูป แน่นอนว่า ต้องมีสิ่งหนึ่งถูกทำลายให้ทิ้งร้าง หากแต่สิ่งที่ถูก  ทำลายนั้น หาได้เป็นวัตถุธรรมอย่างใดไม่ แต่กลับกลายเป็นสังคมหรือสถาบันต่าง ๆ อันเป็นต้นธารแห่งอำนาจทั้งมวล  ด้วยเหตุนี้ สังคมจึงจะปล่อยให้เกิดการปฏิรูปเช่นว่านั้นมิได้  สังคมเริ่มจัดการศึกษาที่แฝงไว้ด้วยความกลัว  ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อในทุกรูปแบบว่า หากสมาชิกของสังคมไม่เรียนหนังสือ ย่อมเป็นผู้อับปัญญา หากไร้การศึกษา ย่อมเป็นผู้ไร้จรรยามารยาท ขาดศีลธรรม  เป็นคนเถื่อนหรืออะไรต่ำทรามต่าง ๆ  เยาวชนที่รับการศึกษาประเภทนี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็จะดำเนินชีวิตด้วยความกลัว  และพยายามที่จะฝืนธรรมชาติของตน เพื่อเข้าร่วมในสิ่งที่ตนเองเห็นว่าดีงาม ด้วยการยอมรับโดยดุษณี (conformity) และปฏิบัติตนตามโอวาทหรือกฎต่าง ๆ ตามไปโดยง่าย (obedience) ที่สุดแล้ว สังคมก็จะสามารถบังคับให้สมาชิกทุกคน สร้างประโยชน์ตอบสนอง  เพื่อบำเรอบำรุงสังคมนั้นให้เข้มแข็งขึ้น กลายเป็นสังคมแห่งความแบ่งแยกและรักษาชนชั้นมากขึ้น  ในขณะที่ปัญญาความคิดของสมาชิกกลับ  ย่อหย่อนอ่อนแอลง  นี่จึงเป็นสาเหตุให้การศึกษาที่ถูกต้องเกิดขึ้นไม่ได้  เพราะหากสมาชิกของสังคมได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งทำให้เขารู้เท่าทันตนเอง  และสังคมที่เขาอยู่แล้วไซร้ เขาจะเข้าใจว่า สิ่งที่ทำให้เขากลัว (fear) คืออะไร  อันว่าความกลัวนั้น  ย่อมเป็นสิ่งที่บิดเบือนมุมมองที่คนเรามีต่อชีวิตโดยรวม  ชีวิตที่ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากซึ่งความกลัวนั้น  ย่อมเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เข้าถึงปัญญาญาณ  การศึกษาที่แท้จริง ที่เราควรจัดให้แก่เยาวชน จึงจะต้องทำให้เยาวชนมีอิสรภาพ (freedom) พ้นไปจาก  ความหวาดกลัวทั้งหลาย  ปัญญาญาณอันลึกซึ้งเช่นว่านี้  ย่อมเกิดขึ้นได้แต่เหตุอันปราศจากความกลัว  นี้เอง (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๗๐)

               อิสรภาพมิได้เป็นเป้าหมายของการศึกษาที่แท้เท่านั้น แต่อิสรภาพคือจุดเริ่มต้นอีกด้วย เมื่อเป้าหมายและจุดเริ่มต้นคือสิ่งเดียวกัน (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๑๒๔)  นักการศึกษาจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนมีอิสรภาพนับแต่บัดนี้ คือ เริ่มตั้งแต่ได้แรกรับการศึกษา  อิสรภาพเริ่มต้นได้ด้วยการสร้างความรักให้เกิดขึ้นภายในใจของเขาและเรา เขาคือเยาวชนผู้รับการศึกษา ในขณะที่เราคือผู้ใหญ่  ที่จัดการศึกษาให้  ทั้งสองฝ่ายต้องเริ่มต้นด้วยความรัก ความรักหรือความเมตตาปรานีนี้  เป็นพื้นฐานของปัญญาญาณมิใช่สติปัญญา  เนื่องเพราะสติปัญญานั้น เป็นเรื่องของความรู้ ข้อมูล สาระล้วน ๆ อันนับเป็นเรื่อง  แห้งแล้ง  ซึ่งไม่เกี่ยวกับความรักและความรู้สึกในเชิงคุณค่า เปี่ยมไปด้วยความรู้สึก  ดังเช่นปัญญาญาณ ที่มีความรักเป็นพื้นฐาน เพราะความรักในชีวิต นำมาซึ่งความเคารพ  การไม่ทำลายล้าง และความ  เอื้ออาทรต่อกัน  ความรักย่อมเปรียบได้กับเมล็ดพันธุ์ที่บ่มเพาะสันติภาพ  ปัญญาญาณจึงต้องอาศัย  ความรักเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโต  การศึกษาจึงควรส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ  และรัก  สิ่งต่าง ๆ ใช้ความรักเข้าถึงปัญหาความขัดแย้งของตนเองและของผู้อื่น  เมื่อเกิดความรักและเมตตา  ต่อสรรพสิ่ง  ผู้เรียนจะไม่เลือกข้าง  แต่เลือกที่จะพิจารณาตนเอง มองทุกอย่างรอบข้างด้วยใจเป็นธรรม ไร้ซึ่งอคติ (prejudice) ที่สุดแล้ว  เขาย่อมไม่หวาดกลัวอีกต่อไป  เพราะเข้าใจว่า ไม่มีอำนาจอื่นใด ที่จะเป็นปราการปกป้องจิตใจของเขาให้มั่งคงอยู่เท่ากับสิ่งที่เรียกว่า “ความเข้าใจ” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้  ก็ต่อเมื่อผู้เรียนเกิดสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณแห่งการสืบสอบค้นหา”  (spirit of inquiry)  ด้วย  จิตวิญญาณนี้เอง ที่จะนำพาผู้เรียนออกค้นหาความหมาย  อันเป็นความจริงของสรรพสิ่ง  อันมีตนเอง สิ่งแวดล้อม  ลัทธิการเมือง  หรือลัทธิศาสนา เป็นอาทิ การศึกษาที่สร้างจิตวิญญาณเช่นว่านี้  เป็นการศึกษาที่ยังประโยชน์ต่อเยาวชน และประกันได้ว่า พวกเขาจะยังคงเป็นความหวังไปสู่สังคมหรือโลกที่ดีกว่านี้ได้ (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๘๔)

                  บุคคลเมื่อยอมรับและปฏิบัติตามจารีตใด ๆ ก็ตาม เขาก็จะมีสภาพไม่ต่างไปจากสำเนาชิ้นหนึ่ง  ที่ควรจะเป็น  อันสังคมต้องการและกำหนดไว้ หาใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๑๑๘)  การศึกษาจึงไม่ควรทำหน้าที่เป็นเครื่องถ่ายสำเนาเช่นว่านั้น เพราะหากสร้างคน ที่ไม่รู้ว่าตัวตนที่แท้ของตนคืออะไร  และมุ่งสร้างแต่ตัวตนที่คนอื่น หรือผู้มีอำนาจประสงค์ให้เป็นแล้วล่ะก็ ผลที่ตามมาคือความขัดแย้งอันไม่มีวันสิ้นสุด  การศึกษาจึงมิได้มีหน้าที่รับใช้สังคม แต่มีหน้าที่ปฏิรูปสังคมด้วยการวางค่านิยมอันเป็นรากฐานของสังคมนั้นเสียใหม่ ซึ่งการปฏิรูปดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจบทบาทของคน ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มที่ยังไม่รู้จักตนเอง  กลุ่มที่รู้จักแต่ยังไม่ถูกต้อง และกลุ่มที่รู้จักตนเองแล้ว 

                   กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองนั้นมีมาก เพราะได้แก่ผู้เรียนทั่วไป  อันเป็นผลผลิตแต่สถาบันการศึกษาทั้งหลาย สังคมเป็นผู้กำหนดและขีดเส้นให้ผู้เรียนกลุ่มนี้ โดยตกแต่งความกลัวให้สวยงาม ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เสียว่าเป็น “ความสำเร็จ” (ซึ่งเมื่อความสำเร็จเกิดมีขึ้น อีกด้านคือ “ความพ่ายแพ้” ก็จะเกิดเคียงคู่กันมาในทันที) การศึกษาจึงส่งเสริมให้ทุกคนต้องแข่งขันกับคนอื่น กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่รู้มากกว่า เรียนเก่งกว่า มีสติปัญญาสูงกว่า  จึงจะก้าวสู่ความสำเร็จ ตามที่สังคมให้คุณค่าหรือกำหนดมาตรวัดไว้  โดยหาได้รู้แม้แต่น้อยว่า  ที่ทำไปนั้นเป็นเพราะกลัวความล้มเหลว อันสังคมพร้อมจะพิพากษาและ  ตราหน้า  ผู้เรียนกลุ่มนี้ ไม่ทราบว่าตนเองคือใคร ต้องการอะไร และอะไรคือความปรารถนาของชีวิต  แต่ถึงแม้ว่าจะทราบว่า ความปรารถนาของตน คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง บริบูรณ์ในทรัพย์บริวาร หรือมีความรู้มาก  จนเรียกว่าเป็นพวกเสพติดความรู้ (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๘๘) แต่พวกเขากลับไม่ทราบเลยว่า  ความปรารถนาเหล่านั้นหาได้มีจุดสิ้นสุดไม่  เพราะทรัพย์สินหรือความรู้  แม้จะมีมากเท่าใด ก็มิได้ทำให้เขาเหล่านั้นเข้าใจตนเองขึ้นเลย  ความทุกข์โทมนัสจึงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ด้วยเหตุที่ความยึดติดหรืออัตตาของตนยังคงทำงานอยู่ ผู้เรียนเหล่านี้จึงชาชินกับการแย่งชิงและแข่งขัน  เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาก็จะสร้างระบบเช่นนั้นให้แก่คนรุ่นต่อไป ด้วยเพราะเขาไม่เคยรู้จักระบบอื่น ๆ และหลงคิดไปว่า ระบบการศึกษาแบบแข่งขันนี้  เป็นระบบการศึกษาที่ดีที่สุด เหมาะแก่คนทุกยุคสมัย

                   หากเราเห็นว่า สภาพข้างต้นของการศึกษาคือความล้มเหลว และเป็นสาเหตุแห่งปัญหาทั้งมวล  บุคคลจำพวกที่สามก็จำเป็นจะต้องเข้ามามีบทบาทชี้นำ  น่าเสียดายว่า เราไม่ทราบว่าท่านเหล่านี้เป็นใคร และอยู่ที่ใดบ้าง  เพราะเป็นธรรมดา ที่ผู้รู้แจ้งในตนเองหลายคน หลีกเร้นตนเองไปจากความวุ่นวายและ  ความร้ายกาจของสังคมหมู่มาก แม้จะมีความรักความเมตตามากเพียงใด แต่การชี้นำนั้นกลับมีพลานุภาพ  น้อยอย่างน่าใจหาย เพราะขาดผู้สนับสนุน  ซึ่งก็จะต้องเป็นผู้เจริญตามรอยแห่งการรู้จักตนเองนั้นเช่นกัน การศึกษาในปัจจุบัน กำลังขาดคนหรือนักการศึกษาประเภทนี้ เพราะเท่าที่มีอยู่  และเป็นส่วนใหญ่ คือผู้ที่เห็นดีเห็นงามไปกับสังคมเสียหมด บำรุงอัตตาของตนเองและเยาวชนให้เติบโตขึ้น หล่อเลี้ยง  ความแตกแยกและค่านิยมเก่าให้เข้มแข็ง  ที่สำคัญที่สุด  กลุ่มผู้มีอำนาจพวกนี้นี่เอง ที่เป็นผู้ทำลายภาวะแห่งความไม่พึงพอใจ (discontent) ในหมู่เยาวชนให้ราบคาบลง  เมื่อผู้เรียนรู้สึกพึงพอใจกับทุกอย่าง ไม่รู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนต่ออุดมการณ์ ความเชื่อ อำนาจบัญญา  หรือลัทธิสิทธันต์ (dogma) ใด ๆ และ  เห็นคล้อยตามไปเสียทุกอย่างโดยง่าย  เขาก็จะละทิ้งความเป็นมนุษย์ของตนเองไป และยินยอมที่จะกลายเป็นซากศพที่มอบจิตวิญญาณให้แก่สังคม หากเราไม่ยินยอมให้เกิดสภาพเช่นว่านี้ เราจำเป็นจะต้องใช้แนวทางต่าง ๆ ที่จะเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอน และการศึกษาที่ควรจะเป็นตามที่กลุ่ม  ผู้รู้แจ้งในตนเองเสนอไว้  เพื่อที่จะยับยั้งมิให้สภาพวิกฤตต่าง ๆ เกี่ยวกับการศึกษาเลวร้ายมากขึ้นไปกว่านี้

                   ในนามของนักการศึกษา และผู้จะเป็นนักการศึกษาอย่างเราและท่านผู้อ่าน  คงจะต้องสร้างความเห็นร่วมกันว่านับแต่บัดนี้กระมังว่า  การศึกษาที่แท้จริงนั้น มิใช่การศึกษาเพื่ออนาคต  แต่เป็นการศึกษาสำหรับปัจจุบัน  อันชีวิตทั้งหลายดำเนินเผชิญอยู่  นักการศึกษาที่วาดหวังแต่อนาคตว่า  ผู้เรียนควรเป็นอะไร และทำอะไรให้แก่สังคมได้บ้างนั้น จำต้องตระหนักว่า  การสละละทิ้งปัจจุบัน  แล้วหมกมุ่นให้ความสำคัญกับลาภผลในอนาคต โดยที่หาได้รู้แท้จริงว่า ลาภผลอุดมคติเช่นว่ามีจริง  หรือไม่นั้น ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหากระไรได้  (Krishnamutri, ๒๐๑๓: ๑๐๘)  เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนหรือผู้เรียน ณ ขณะปัจจุบัน อันเขาดำรงอยู่นี้ เฝ้าสังเกตในสิ่งที่เขาคิด เป็น  และปฏิบัติอยู่  ทั้งนี้  ไม่ใช่กระทำในนามของครู  ตัวแทนของรัฐ  หรือผู้มีอำนาจสั่งการหรือควบคุมใด ๆ  แต่ทำหน้าที่ในนามของความรักเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

_________________________________________

รายการอ้างอิง

Krishnamutri, J.  2013. Education and the significance of life.  2nd. Bangkok: Anveekshana   Foundation, Thailand.

   

 

 


[*] ค.บ. (เกียรตินิยมอันดับ 1) ภาษาไทย (จุฬา ฯ), ค.ม. การสอนภาษาไทย (จุฬา ฯ)

อาจารย์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย



หมายเลขบันทึก: 539004เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท