บันไดเจ็ดขั้นสู่ความเป็นเลิศ (7 - Steps to excellence)


เริ่มที่ชื่อก้อน่าสนใจแล้ว ... จะน่าสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ เมื่อทราบว่า 7 steps นั้นเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นคงต้องตีกรอบกันซะก่อน เริ่มจากชื่อพอกล่าวออกไปก้อต้องรีบตีกรอบความหมาย ทันที เนื่องจากมีคำโตอย่าง "ความเป็นเลิศ" อยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วก้อมิได้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายอะไรที่จะนิยามคำว่าความเป็นเลิศผิดไปจากที่อื่นบ้าง

ในที่นี้ ความเป็นเลิศ ซึ่งคือ ยอดเยี่ยม, ดีกว่า, เป็นแบบอย่างได้ กล่าวถึงได้หลายระดับ จะเริ่มจากระดับหน่วยงานของตนเอง สูงขึ้นสู่ระดับภาควิชา หรือสูงขึ้นไปอีกสู่ระดับคณะ/สถาบัน ถ้าหน่วยก้านดีกว่านั้นก้อสู่ระดับมหาวิทยาลัย ระดับประเทศ และระดับโลกในที่สุด เพียงเท่านี้ก้อพอจะช่วยให้ท่านทั้งหลายที่สนใจ สามารถเข้าร่วม 7 steps ที่กำลังจะกล่าวถึงกันได้โดยมิต้องเป็นกังวลมากนัก โดยสรุปก้อคือ เลือกระดับที่จะเป็นเลิศได้ และสามารถที่จะไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ได้อีกเช่นกัน ... พอหอมปากหอมคอ

เปลืองไปหลายบรรทัด ... แล้ว มันเรื่องอารายกันเนี่ยะ

มันเป็นเรื่องของช่องทาง โอกาส การให้การสนับสนุนจากคณะฯ ผ่านหน่วยงานกลางอย่าง "หน่วยบริหารงานวิจัย" เพื่อการพัฒนางานประจำสู่การปฏิบัติที่เป็นเลิศนั่นเอง หรือที่เรียกกันติดปากว่า "การทำวิจัยในงานประจำ" ถ้าจะ speak english ซะหน่อยก้อ คือ BPR <Best Practice Research>

แล้วยังงัย ?

ก้อ BPR นี่แหละที่เป็นที่มาของ 7 steps ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล แนวคิดใหม่ๆ ที่จะเป็นสถาบันที่ใช้การวิจัยเป็นฐานของงานอื่นๆ กอรปกับคณะทำงานที่มีความมุ่งมั่น สามารถขมวดเอาสิ่งเดิมๆ ทรัพยากรเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วมาร้อยเรียงเป็นขั้นตอน ได้ดังนี้

Step 1st ช่างคิด แล้วเขียนความตั้งใจ แรงบันดาลใจ สิ่งที่อยากจะทำ (จะเป็นโครงการที่เป็นงานสร้างสรรค์ - นวตกรรม หรือโครงการวิจัยก้อได้) ลงในหนึ่งหน้ากระดาษ (ซึ่งเราเรียกว่า แบบเสนอโครงการวิจัยในงานประจำ) ถ้าบ้านๆ หน่อยก้อเขียนเอา หรือไอทีซักนิดก้อพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ ส่งหน่วยบริหารงานวิจัย

แล้วจะเขียนอะไร ?

อันดับแรกนึกอะไรไม่ออก ตั้งชื่อกลุ่มก่อนเลย แล้วระบุประเภทงานที่จะทำซักนิดนึง (อยู่ใน Step 2nd) ยังไม่พอเพื่อให้ได้สมาธิ และเขียนได้ไหลลื่น ตั้งชื่อโครงการที่จะทำก่อนเลย เอาล่ะเท่านี้ก้อมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว ลงมือเขียนได้เลย สิ่งที่ต้องการตามมาก้อคืออธิบายที่มาของโครงการซักหน่อยว่า ทำไมถึงได้อยากทำโครงการนี้เป็นนักเป็นหนา โดยมองจากงานปัจจุบันว่ามีช่องว่างตรงไหน ถึงจะต้องทำโครงการนี้ แน่นอนภาษามันอาจดูเขอะเขิน ก้อช่างเถอะเอาความปราถนาเป็นที่ตั้ง ทุ่มแรงบันดาลใจลงไป เหยาะความเป็นเหตุเป็นผล ซักหน่อย หรือถ้าสามารถ (เคยชินกับการเขียนโครงการ/โครงร่างฯ อยู่แล้ว) ก้อปรุงแต่งด้วยการอ้างอิงด้วย ก้อเพิ่มคุณค่าทางสมองดี (แต่ไม่เน้น) ได้แค่นี้ก้อเริ่มจะรู้เรื่องแล้ว แต่ก้อยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้าง ซึ่งตอบได้ด้วยวัตถุประสงค์ ซัก 1-2 ข้อก้อพอ จะได้เห็นภาพว่าจริงๆ แล้วต้องการจะลงมือทำอะไรบ้าง และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ อย่างไร แค่นี้เราก้อรู้แล้วว่าท่านจะทำอะไร เพียงแต่เรายังไม่รู้จะช่วยท่านอย่างไร จึงขอให้ท่านระบุความช่วยเหลือที่ต้องการ มาด้วยจะดีมากกกก ทิ้งท้ายด้วยสมาชิกกลุ่มของท่าน พร้อมที่อยู่ บ้านช่อง ห้อง หอ ที่ทำงาน ทุกอย่างที่เราจะติดต่อได้

ส่งได้ยังงัย ?

ยังงัยก้อได้ มิได้กวน แต่จริงๆ เช่น ถ้าพิมพ์ในคอมฯ ก้อส่ง e-mail มายัง i[email protected] หรือคอมฯ ไม่ได้ online ก้อสั่งพิมพ์ทางเครื่องพิมพ์แล้วส่ง หน่วยบริหารงานวิจัย ชั้น 3 อาคารวิจัยและสวัสดิการ (โรงอาหารริมทางรถไฟ น่ะแหละ) ส่งที่หนูเจี๊ยบ (ว่าที่ร.ต.โสภิดา แซ่ฮู้ - เค้าจบร.ด.ปีห้าเชียวนะ อย่าว่าแต่เขาชนไก่ เขาชนช้างยังไหว เอาพอขำขำ) หรือถ้าไม่ได้พิมพ์ก้อเขียนใส่กระดาษมาแล้วส่งที่เดียวกัน

นานมั๊ยกว่าจะทราบผล ?

ถ้าตอบกวนๆ ก้อคือ ท่านก้อทราบตั้งแต่ท่านเขียนแล้ว เพราะนโยบายคือ สนับสนุนให้เกิด เรามิได้ต้องการตัดสินเพื่อปิดโอกาส ด้วยกระดาษ 1-2 หน้า (แบบเสนอโครงการวิจัยในงานประจำ - concept paper) ในการปฏิบัติจริงโดยเฉลี่ย ไม่เกิน 2 สัปดาห์ หนูเจี๊ยบก้อตอบกลับแล้ว

Step 2nd คณะทำงานส่วนหนึ่งที่เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง หรือเฉพาะงาน ซึ่งก้อแบ่งไม่มาก ง่ายๆ มี งานบริการสุขภาพ (health service) งานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ (Biomedical Science) งานทางด้านการศึกษา (Education) งานสำนักงานสนับสนุน (Back Office) และงานสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promotion) ซึ่งท่านระบุมาใน Step 1st แล้ว

แล้วมีโอกาสได้รับอนุมัติมากน้อยเพียงใด ?

คณะทำงานที่ว่า มิได้พิจารณากันอย่างเอาเป็นเอาตาย ลองท่านได้เขียนครบตาม Step 1st แล้ว ขาดเหลือเจ้าหน้าที่ก้อจะสอบถามเพิ่มเติมจากท่านอีกที เมื่อเห็นว่าน่าสนใจ คณะทำงานที่รับผิดชอบก้อจะ "อนุมัติ" ให้จัดตั้งกลุ่มท่านขึ้นมา ทันทีที่อนุมัติ กลุ่มท่านได้รับสิทธิมากมายมหาศาล ที่แน่ๆ น้ำมันหล่อลื่นอย่างดี ในการเดินเครื่องเพิ่อจะทำให้ 1 หน้ากระดาษใน Step 1st เป็นโครงการงานสร้างสรรค์/โครงร่างงานวิจัย ขึ้นมาได้ ด้วยวงเงินไม่มากมาย 3,000 (สมาชิกกลุ่มมาจากหน่วยงานเดียวกัน) 6,000 (สมาชิกกลุ่มมาจาก 2 หน่วยงานขึ้นไป) 10,000 บาท (สมาชิกกลุ่ม 3 หน่วยงานขึ้นไป)

นับหน่วยงาน ยังงัย ?

ง่ายๆ 1 ภาควิชา/สำนักงาน = 1 หน่วยงาน ยกเว้นภาควิชาพยาบาลศาสตร์ สำนักงานผู้อำนวยการฯ และสำนักงานคณบดี นับ 1 งานหรือฝ่ายหรือหน่วย = 1 หน่วยงาน (คือลึกลงไปอีก 1 ระดับ นั่นเอง) แต่นั่นแหละมัน คือ วงเงิน อย่าลืม วงเงิน มิใช่เม็ดเงิน ท่านได้สิทธิในการใช้เงินตามวงเงินที่แจ้งผลไป

แล้วจะเบิกเงินยังงัย ?

ง่ายมาก... เรามีแบบขอเบิกเงินให้แล้ว แต่มีข้อควรจำ และทำความเข้าใจ คือ เมื่อเราให้วงเงินท่านไป จะเท่าไรก้อแล้วแต่ เมื่อมีการใช้จ่ายเงินท่านต้องออกเงินของท่าน หรือของกลุ่ม หรือขอ'หน่วยงานท่านไปก่อน แล้วเก็บรักษาเอกสารการใช้จ่ายเงิน (ใบเสร็จรับเงิน, ใบสำคัญรับเงิน ที่ทางห้างร้าน หรือผู้รับเงินเขียนให้) ไว้อย่างดีซึ่งรายละเอียด แนวปฏิบัติทางเราจะแจ้งผลไปยังท่านเป็นกระดาษด้วยอยู่แล้ว

แล้วจะได้เงินเมื่อไร ?

ท่านรวบรวมเอกสารการใช้จ่ายเงิน + แบบขอเบิกเงิน ส่งมายังหน่วยบริหารงานวิจัยภายในวันที่ 25 ของทุกเดือนนับจากได้รับแจ้งผลอนุมัติให้จัดตั้งกลุ่มแล้ว เราจะดำเนินการ และโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของหัวหน้ากลุ่มของท่าน (ซึ่งอาจเป็นตัวท่านเอง) ในวันทำการสุดท้ายของเดือนเดียวกัน เราจะจ่ายเงินกันอย่างนี้ ไปจนกว่า

1. เต็มวงเงินของท่าน

2. ท่านได้โครงการ/โครงร่างฯ เพราะหลังจากนี้ท่านต้องไปใช้เงินจากแหล่งอื่นในการทำโครงการ/โครงร่างฯ ให้แล้วเสร็จ เช่น ทุนอุดหนุนการวิจัยเงินรายได้คณะฯ (ไม่เกินสองแสนบาท) ทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่ทุนภายนอกคณะฯ (รายละเอียดใน www.ra2.mahidol.ac.th/rar จิ้มที่ แหล่งทุนวิจัย) หรือแม้แต่งบประมาณประจำปีของคณะฯ

แล้วจะใช้จ่ายค่าอะไรได้บ้าง ?

แน่นอนมันเป็นเงินจำนวนไม่มาก ซึ่งเราเรียกกันว่า เงินหล่อเลี้ยงกลุ่ม (seeding money) มิได้ให้เอาไปใช้จ่ายในการทำโครงการ แต่ให้ไปใช้จ่ายในการเตรียมโครงการ/โครงร่างฯ ก้อจะเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ ค่าอาหารในการประชุม, ค่าวัสดุสำนักงาน, ค่าตอบแทนวิทยากร และค่าใช้สอยอื่นๆ ที่เกี่ยวกับโครงการนี้ ยกเว้นค่าซื้อครุภัณฑ์ และค่าตอบแทนให้กับสมาชิกกลุ่ม

Step 3rd อันนี้สำคัญ เมื่อเรามีพันธะสัญญากันแล้ว ว่า จะดำเนินการโครงการวิจัย/งานสร้างสรรค์ ตามที่เขียนมาพอคร่าวๆ (Concept paper) ดังนั้นในระยะเวลา 3 เดือนเป็นอย่างช้านับจาก Step 2nd ท่านจะต้องระดมสรรพกำลังกันภายในกลุ่มพัฒนาโครงร่างงานวิจัย หรือเขียนโครงการ ขึ้นมาให้จงได้

แล้วให้กลับไปเขียนกันโดยลำพังเหรอ ? งานประจำก็เยอะอยู่แล้ว วันๆ ก็ไม่ค่อยได้เงยหน้าคุยกัน บางคนก้อไม่ค่อยได้เจอะเจอกันทุกวัน 3 เดือนจะไปทันได้ยังงัย ?

เป็นความจริงอย่างที่สุด แหละนี่แหละที่เราได้กล่าวไนตอนต้นแล้วว่าเป็นความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ 7 steps อย่าลืมซิว่าเราให้ท่านเขียนความช่วยเหลือที่ต้องการมาในแบบเสนอโครงการวิจัยในงานประจำ แล้ว เช่น ต้องการนักสถิติ, ต้องการห้องประชุม, ต้องการผู้ให้คำแนะนำระหว่างประชุม, ต้องการให้ประสานกับหน่วยงานอื่นที่ไม่คุยเคยกันให้ เนื่องจากเนื้อส่วนหนึ่งคาบเกี่ยวกัน หรือแม้แต่ต้องการให้ติดต่อสถานที่ที่มี Best Practice ในงานนี้ เพื่อดูงานก้อยังได้

แล้วถ้าได้โครงการ/โครงร่างฯ ก่อน 3 เดือน ทำยังงัย ? หรือถ้าไม่ทันภายใน 3 เดือนทำยังงัย ?

ถ้าเสร็จไม่ทัน หรือ ทำไม่ได้ยังงัยก้อไม่ได้ เราคงไม่บีบคอให้ท่านเอาเงินมาคืน แน่ นั่นคือ สิ่งแรกที่จะบอก แต่จะหาทางช่วยเหลือจนถึงที่สุด กรณีเสร็จก่อน 3 เดือน จะเป็น 1 สัปดาห์ 1 เดือน นั่นมันเยี่ยมอยู่แล้ว และอีกอย่างเราก้อมิได้ลอยแพท่านแล้วรอจนครบ 3 เดือนหรอก เพราะ (ว่าที่หมวด) เจี๊ยบ จะติดตาม พูดคุยกับท่านเป็นระยะ อย่างน้อยเดือนละครั้ง อีกอย่างเค้าก้อต้องคอยประสานกับท่านเรื่องการให้ความช่วยเหลืออีกด้วย แต่อย่างไรก้อตามเมื่อเสร็จก่อนทางเรามีเวทีให้ท่านมานำเสนอความก้าวหน้า เราเรียกว่า สโมสรวิจัยในงานประจำ (Research Club : BPR) ซึ่งจัดทุกวันจันทร์สัปดาห์ที่ 4 ของทุกเดือน (เป็นข้อตกลง ที่มิอาจหลีกเลี่ยง)

จัดวันจันทร์อื่นไม่ได้เหรอ ?

ไม่ได้เพราะวันจันทร์สัปดาห์อื่นมี สโมสรวิจัย (Research Club) ต้นตำรับอยู่แล้ว (ถือโอกาสโฆษณา ) โดย (ว่าที่หมวด) เจี๊ยบ จะนัดท่านเอง

ใน 7 - Step สู่ความเป็นเลิศนี้มันมีทางแยกด้วย สามแยกเกิดตรง Step 4th นี่แหละ ก้อคือมี Step 4th 2 เส้นทาง แต่สุดท้ายก้อไปเจ๊อะกันอยู่ดี

Step 4th ได้ผลงานวิจัย

1. ทางเลี้ยวขวา
จำได้นะจาก Step 3rd ท่านได้โครงการ/โครงร่างงานวิจัยแล้ว และได้นำเสนอใน Research club : BPR แล้วด้วย ขณะเดียวกันท่านก้อไม่มีสิทธิในเงินหล่อเลี้ยงแล้ว

ต่อจากนี้ทำงัย ?

มันก้อจะถึงทางแยกที่ว่า คือ ท่านต้องเลือกแล้วว่าจะเดินสาย โครงการวิจัย หรือ โครงการที่เป็นงานสร้างสรรค์ ( ทำมัยชีวิตถึงน่าอิจฉาจังมีโอกาสได้เลือกด้วย) ซึ่งเลือกไม่ยาก เพราะท่านรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า ต้องการจะทำเพียงโครงการ สร้างนวตกรรม หรือ ต้องการจะใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการตรวจสอบ หรือเพิ่มคุณภาพอะไรบางอย่าง เมื่อทางเลี้ยวขวาสมมุติว่าเป็นโครงการวิจัยท่านจะต้องดำเนินการ ดังนี้
(1) ภาคบังคับท่านต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ( กรณีที่โครงการท่านเป็น metanalysis, systematic review, microorganism research, IT และอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับคน ท่านผ่านขั้นตอนนี้ไปเลย)
(2) ท่านสามารถเสนอขอรับทุนอุดหนุนการวิจัย อาทิ ทุนอุดหนุนการวิจัยเงินรายได้คณะฯ รายได้มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งเราคุยกันได้ถึงเรื่องแหล่งทุน ต่อไป

Step นี้มีแค่นี้หรอ ?

ม่ายช่าย ... ยังมีต่อ เพราะ Step นี้มีข้อกำหนดว่าท่านจะต้องได้ผลงานวิจัย ( ยกเว้นมันล่ม พร้อมเหตุผลที่เข้าใจได้)

แล้วระยะเวลาล่ะ นานเท่าไร ?

ก้อแล้วแต่ท่าน ( ไม่ได้กวน ... จริงๆ) ความหมายคือ แล้วแต่แหล่งทุนที่ท่านได้มา ซึ่งเค้ามีกรอบของเค้าอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านไม่ได้รับทุนวิจัย ( ว่าที่หมวด) เจี๊ยบ พร้อมที่จะทวงถามความก้าวหน้าจากท่านเป็นระยะอยู่แล้ว

แล้วถ้าจะเลี้ยวซ้ายล่ะ ทำงัย ?

แหมใจร้อน มาถึงพอดี


2. ทางเลี้ยวซ้าย ซึ่งสมมุติว่าเป็นการทำโครงการเพื่อสร้างสรรค์งาน หรือโครงการเพื่อพัฒนางานประจำต่อไป ในทางนี้ท่านสามารถขอรับงบประมาณดำเนินงานโครงการจากคณะฯ ได้ ก้อเหมือนการเสนอขออนุมัติโครงการ และงบประมาณทั่วๆ ไปที่ทำกัน ( พิเศษคือ ท่านอ้างอิงได้ว่าผ่าน BPR มาแล้ว ซึ่งคิดว่าน้ำหนักน่าจะเยอะกว่า แล้วจะรับไปหารือหัวหน้าทีมเรื่องการให้น้ำหนักโครงการที่ผ่าน BPR mujgxHoi ที่เป็นรูปธรรมอีกที เพราะเราก้อเป็น peer review หนึ่งนะ แล้วจะมาเล่าให้ฟัง) แต่ความเหมือนของทางเลี้ยวซ้ายนี้กับทางเลี้ยวขวา คือ ท่านต้องทำงานให้เสร็จ ( ยกเว้นมันล่ม พร้อมเหตุผลที่เข้าใจได้)

Step 5th แจ้งจดทรัพย์สินทางปัญญา
สบายแล้ว... ก้องานเสร็จแล้วนี่ มาว่ากันถึงการใช้ผลงานวิจัย/งานสร้างสรรค์แล้วว่า จะยังงัยต่อดี หมดสมัยแล้วที่จะเก็บไว้ดูคนเดียว ( หรือ ลุ่มหลงในศาสตร์ของตนโดยลำพัง) มีสองทางเลือก แต่พิเศษตรงที่เลือกได้ทั้งสองทาง คือ publish หรือ แจ้งจดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ( แต่อย่าลืมว่า เลือกได้ทั้งสองทาง แต่ต้องลำดับให้ถูก) ถ้าผลงานนั้นก่อให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา จะอะไรก็ชั่ง ( สิทธิบัตร , ลิขสิทธิ์และสิทธิเกี่ยวเนื่อง , เครื่องหมายการค้า , การออกแบบผลิตภัณฑ์ , การออกแบบผังภูมิ , และการคุ้มครองข้อสนเทศที่ไปดเผย อ้างตาม "มาตรฐานเกี่ยวกับการมี ขอบเขต และการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา" ตามความตกลง TIRPs ไว้ค่อยบอกอีกทีว่ามันคืออะไร ว่าจะตั้งเป็น CoP) มันเป็นเรื่องของทุนนิยม

แล้วจะแจ้งจดยังงัย ?

ง่ายมาก ตอนนี้หน่วยบริหารงานวิจัยเตรียมเอกสาร แบบฟอร์มไว้ให้แล้ว มีขั้นตอนให้ด้วย ดูที่ website ของหน่วยบริหารงานวิจัย จิ้มที่ "การจดสิทธิบัตร"

Step 6th ก้อตีพิมพ์
มันงานถนัดของพวกเราชาวรามาธิบดีอยู่แล้ว หากแต่มีข้อสังเกตนิดนึง ตรงที่การตีพิมพ์ ก้อเปรียบได้กับช่างเจียรไนพลอย จากก้อน พลอย (corrundum) หรือผลงานวิจัยของท่าน ถ้าได้ผ่านช่างเจียรไน หรือ editor ที่เก่งพอก้อไม่ต้องขายพลอยแถวสำเพ็ง แต่สามารถส่งออกไปทางยุโรป อเมริกาได้ ฉันใดก้อฉันนั้น

ค่าตีพิมพ์ กับค่า reprint แพง ไม่มีตังค์ทำงัย ?

หน่วยบริหารงานวิจัย มีขั้นตอนการสนับสนุนค่าตีพิมพ์อยู่แล้วอ่านระเบียบดูว่าคณะฯ สนับสนุนอย่างไร

นอกจากนี้เรายังมีเงินรางวัลให้กับผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสานวิชาการระดับสากล อีกด้วย ดูใน web หน่วยบริหารงานวิจัย นะ

ถึงขั้นตอนสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด เพราะ 7 - Steps to Excellence เป็นวงรอบ (Loop) ที่สามารถเริ่มได้ที่ 1st step ได้ต่อ ตามแต่ฉันทะของแต่ละคน

Step 7th การบันทึกเป็น Knowledge asset เค้า (มหาวิทยาลัย)ว่างั้น

แล้วมันคืออะไร ?

ตอบง่ายๆ ภาษา BPR ก้อคือ การเป็น excellence ระดับมหาวิทยาลัยงัย อีกอย่างมันจะช่วยสนองความเป็นประทีปส่องทางด้านสาธารณสุขของประเทศด้วย

พิจารณาดีๆ แล้ว 7 - Steps นอกจาก to excellence ยัง reply Ramathibodi vision ด้วย

จะเห็นว่าความเป็นเลิศเริ่มปรากฏตั้งแต่ Step 4th เลี้ยวซ้าย แล้ว และอีกใน Step 5th , Step 6th และ Step 7th

ด้วยความรัก และห่วงใย
ตอนนี้คณะทำงาน BPR ได้ริเริ่ม Step 0 คือเป็น "เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ - ค้นฟ้าคว้าดาว" ( ชื่อยังกะหนังกำลังภายใน ซึ่งถูกต้องเพราะเป็นเรื่องของกำลังภายในคณะฯ เรา)

มีไปทำไม ?

ก้อเพื่อกระตุ้นให้เกิด Step 1st ครับ


หมายเลขบันทึก: 538063เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 12:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โมเดลนี้เอาไปใช้ในองค์กร หรือครอบครัวท่านได้ แม้ไม่ทั้งหมด 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท