สิรภัทร
สิรภัทร จิตตะมาลา ลิ่มไพบูลย์

“โครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ” จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาค 12 ช่วงเช้า : ผลิตภัณฑ์(ใหม่)แชมพู ครีมนวดผม บ้านชลธาราม ช่วงบ่าย: ข้าวเกรียบปลาบ้านบ่อนนท์)


            วันนี้วันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2556 รศ.ถนอมจิต สุภาวิตาและสุลงพื้นที่มาบริการให้คำปรึกษาการผลิตน้ำยาล้างจานให้กับคุณยายหลวย แสงมณี โดยท่านอาจารย์ถนอมจิตให้คำแนะนำการปรับสูตรด้านความคงที่ของรูปลักษณ์และคุณลักษณะของสินค้า และการลดต้นทุนการผลิตจากการบริหารจัดการคลังวัตถุดิบ

            ในเวทีเรียนรู้ครั้งนี้มีคำถาม-คำตอบเรื่องการผลิตสบู่เหลวขมิ้น  สบู่เหลวมะขาม  การผลิตแชมพู-ครีมนวดมะกรูด ว่านหางจระเข้ ตลอดจนถึงสมุนไพรเพื่อชะลอหงอกอีกด้วย  ในการพบกันครั้งต่อไป  ท่านอาจารย์จะนำตัวอย่างบรรจุภัณฑ์มาให้เลือกใช้และจะนำความรู้เรื่องสารสกัดมาร่วมแลกเปลี่ยนในเวที

                              

            จากนั้นทั้งคณะฯพากันเดินสัมผัสบรรยากาศอันน่าภิรมย์ของศูนย์เรียนรู้สมุนไพรบ้านชลธาราม และพากันหอบต้นกล้านานาพันธุ์ อาทิ รางจืด หนุมานประสานกาย ว่านสาวหลง ย่านนาง ฟ้าทะลายโจร กลับมายังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนต่อไป

                            

                            

            ช่วงบ่าย ส่งท่านอาจารย์ถนอมจิตกลับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่วนสุมีนัดกับกลุ่มแม่บ้านบ่อนนท์ ต่อเพื่อไปพูดคุยเรื่อง TACS (Thasala Associated Community Superstore)  กลุ่มนี้มีผลิตภัณฑ์1)เด่นที่สุดคือ ข้าวเกรียบปลาทู ข้าวเกรียบปลาฝักถั่ว ข้าวเกรียบปลาอินทรีย์ (ตามฤดูกาล) 2)ปลาแคลเซี่ยมตากแห้งทั้งแบบทอด/ไม่ทอด เนื่องจากภูมิศาสตร์ติดทะเล(ปลา/กุ้ง ฯลฯ ขึ้นทะเลแล้วแปรรูปเลย)ทำให้สินค้าเหล่านี้เลื่องชื่อลือชาด้านความอร่อยอย่างที่สุดด้วยความหอมหวานจากความสดในเนื้อแท้ของวัตถุดิบ ทุกขั้นตอนพิถีพิถัน สะอาดมากๆ เช่น การควักไส้พุง ตัดหัวหางออกอย่างดี ไม่หมักเกลือมากจนเสียรสชาติ มีการประกาศจากประธานจุรีย์ หนูคง ชัดเจนว่า“การขายของที่นี่ไม่ยึดคำว่าธุรกิจ วัสดุที่นี่หามาเอง จึงไม่คิดว่าอะไรขาด ของไม่ดีจะไม่ขาย เพราะเรากิน เขาก็กิน” 3)ไข่เค็มดินปลวก 4)ขนมปุยฝ้าย 5)แปรรูปงานหัตถกรรมหางอวน :ที่รองจานรองแก้ว กระเป๋าใหญ่เล็ก หมวก ชุดสตรี กล่องบรรจุภัณฑ์

                       

                       

                        


                         

             สุถามถึงกะปิบ่อนนท์ที่อร่อยมากๆสุยังติดใจในรสชาติไม่เคยลืมเลือน บัดนี้หายไปไหน คำตอบคือ “กะปิบ่อนนท์หายไปกว่า 2 ปีแล้ว หายไปพร้อมๆกับกะปิปากพนัง เพราะธรรมชาติไม่เป็นไปตามฤดูกาลเฉกเช่นอดีต กล่าวคือในอดีต พอย่างเข้าเดือน 4 เดือน 5 ลมพัดลง หัวรุ่งอากาศเย็น ชาวบ้านตื่นนอนตั้งแต่ย่ำรุ่งยิ้มรับวันใหม่และรู้เลยว่า "วันนี้กุ้งเคยมาแล้ว"  แต่ปัจจุบันไม่มีกุ้งเคยในธรรมชาติ จึงไม่มีกะปิกุ้งเคยบ่อนนท์ รวมถึงไม่มีกะปิกุ้งเคยปากพนังกะปิ  ตามท้องตลาดทุกวันนี้เป็นเพียงกะปิระนองที่พ่อค้าหัวใสไปซื้อมาผสมขายจ๊ะ

             อ่านถึงตอนนี้จึงขอวอนทุกท่านได้โปรดช่วยกันปกป้องผืนแผ่นดินให้มีความสมดุลทางนิเวศวิทยา สิ่งดีๆเริ่มที่ตนเอง อย่าตกเป็นทาสอวิชา(ราคะ ตัณหา โทสะ โมหะ) (The man who cannot give orders to himself will always remain a slave. เพราะฉะนั้นควรต้องเตือนตน-นับถือตนในการที่ได้เกิดมาเป็นคนนะคะ) 

              พบกันใหม่ค่ะ

.....................................................................................

              ป.ล. ภาพชุดราตรีนี้กลับบ้านไปคิด 1 คืน เพราะเขินเรื่องไขมันส่วนเกินของนางแบบมาก  เช้าวันใหม่วันนี้จึงกล้านำเสนอชุดราตรีงานหัตถกรรม Mixed material หางอวนกับผ้ามัดย้อมซึ่งเป็นเอกลักษณ์อย่างลงตัวของภาคใต้ (กรุณาอย่าสนใจนางแบบ)  

               นางแบบอุทาน " ว้าว! ไม่รู้สึกว่าการสวมใส่ชุดราตรีครั้งนี้ระคายเคืองผิว แต่กลับตรงข้ามเพราะมันนุ่มเนียน เบาสบาย เดินไปเดินมาพักใหญ่ก็ไม่มีอาการอับร้อนตามร่างกาย"  หล่อนเปิดดูรายละเอียดของเนื้องานพบว่า มีการตี/เก็บตะเข็บ 3 ชั้นเรียบร้อยมาก มีการใช้ผ้าซับรอง-อัดผ้ากาว-ตามด้วยซับใน โอ้โฮ!เสน่ห์ Handmade

               เรื่องราคาไม่คิดจะถามไถ่เพราะโดยส่วนตัวไม่เคยคิดตีค่าอารมณ์ความรู้สึก คุณค่าผลงานลักษณะนี้เป็นเงินทอง แต่กลุ่มแม่บ้านตัดพ้อนิดหน่อยว่าจากประสบการณ์การนำเสนอผลงานหัตถกรรมออกสู่สังคมไทย พบว่าคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าและความสำคัญของศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน อาจเกิดจากการมองและเข้าไม่ถึงธรรมชาติ รวมถึงจิตวิญญาณของช่างฝีมือผู้สร้างสรรค์ผลงานหรือไม่? กลุ่มแม่บ้านกล่าวว่า"มีลูกค้าจำนวนมากมักนำงานหัตถกรรมไปเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไปราคาไม่กี่สิบบาท 

                สุไม่คิดตัดสินไปในทางใด เพราะรสนิยมมันชักชวนกันยาก แต่หากลองย้อนคิดถึงบรรพบุรุษของพวกเราในอดีตที่อุตส่าห์รู้จักนำเส้นใยมาถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไม้สอย ค่อยๆเรียนรู้ลองผิดลองถูกกับเทคนิคที่แตกต่างกันออกไป จนผูกพันเป็นวิถีชีวิตที่หลงเหลือมาให้พวกเราได้พบเห็นอยู่บ้าง จึงอยากเชิญชวนทุกท่านอุดหนุนผลิตภัณฑ์ศิลปกรรมพื้นบ้านของไทย  มองผู้สร้างสรรค์ผลงานว่าคือครูภูมิปัญญาของชุมชน ครูเหล่านี้เป็นขุมความรู้ ขุมปัญญา ผู้รักษามรดกทางวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น


                                         

                 โปรดอุดหนุนสินค้าชุมชน เพื่อขยับงานกองนิธิและสวัสดิการชุมชนภายใต้ยี่ห้อ TACS (Thasala Associated Community Superstore) ในงานสัปดาห์อัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ 8-14 สิงหาคม 2556 ณ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช (โปรดติดตามเค้าโครงงานเพื่อผลักดันพลังชุมชนท้องถิ่น ในโอกาสต่อไป)

หมายเลขบันทึก: 538002เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 19:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท