การกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือ..ลดคลื่นไส้ อาเจียนได้


Acupressure and acupressure wrist bands

ศึกษาประสิทธิผลการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

The efficacy of Acupressure and acupressure wrist bands for relief ofchemotherapy-induced nausea and vomiting

อุบล จ๋วงพานิช  จันทราพร ลุนุลด   อาทิตยา  ประนัดสุดจ่า  ทิพวรรณ  ขรรศร 

หอผู้ป่วยเคมีบำบัด 5จ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 

บทคัดย่อ

ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดมีคลื่นไส้อาเจียน ร้อยละ 80  และอาเจียนระดับรุนแรงร้อยละ30 การศึกษาพบว่าการให้ยาป้องกันคลื่นไส้อาเจียนได้ร้อยละ 60  การกดจุดที่ Pericardium 6(P6) จะเกิดพลังการไหลผ่านเส้นลมปราณอย่างสม่ำเสมอ  ทำให้ผ่อนคลาย ลดความตึงของร่างกายการไหลเวียนของเลือดดีและเกิดความสมดุลระหว่างพลังงานบวกและลบ (หยินหยาง) อาการคลื่นไส้ จึงถูกควบคุม ถ้ากดถูกจุดจะรู้สึกชาจากจุดที่กดไปยังตำแหน่งที่ไกลออกไปบริเวณตำแหน่งนิ้วกลางข้างที่มีการกดจุด  หอผู้ป่วยได้พัฒนาแนวทางการป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนโดยการกดจุดด้วยตนเองในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ในปี2554 ผู้ป่วยต้องกดจุดก่อนอาหาร  นาน 5 นาที  3 ครั้งต่อวัน โดยเริ่มทำก่อนให้ยาเคมีบำบัด 1 วัน  ทำทุกวันที่ให้ยาเคมีบำบัด พบว่า สามารถป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ร้อยละ 83.33แต่อย่างไรก็ตามการกดจุดด้วยตนเองผู้ป่วยต้องใช้แรงมือกดจุดเองระหว่างให้ยาเคมีบำบัด ทำมีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ผู้วิจัยได้ทบทวนงานวิจัยพบว่า การกดจุดด้วยตนเองในระยะแรกและใช้สายรัดข้อมือ (acupressure wrist  band) ที่มีปุ่มกดบริเวณ P 6  สามารถลดคลื่นไส้อาเจียนได้ดียิ่งขึ้น ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาประสิทธิผลการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือเพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด

วัตถุประสงค์

เพื่อเปรียบเทียบระดับของอาการคลื่นไส้ อาเจียนและจำนวนครั้งระหว่างกลุ่มที่ได้รับการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือและกลุ่มควบคุม

ระเบียบวิธีวิจัย

วิจัยกึ่งทดลอง ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดที่มีฤทธิ์กระตุ้นการอาเจียนระดับกลางและสูง 60 คน โดยการสุ่มเข้ากลุ่มแบบ match- paired study ตามชนิดของยาเคมีบำบัดที่มีผลต่อคลื่นไส้อาเจียน  ช่วงมกราคม – ธันวาคม 2555 ในกลุ่มทดลองประเมินคลื่นไส้ อาเจียนโดยใช้แบบประเมินอาการคลื่นไส้อาเจียนชนิดใช้สเกลคะแนน 0 ถึง 7 ก่อนได้รับยา 30 นาที จากนั้นให้ข้อมูลเรื่องการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนโดยการกดจุดและใช้สายรัดข้อมือและให้คู่มือไว้อ่าน  สอนผู้ป่วยให้หาตำแหน่ง P6 อยู่เหนือรอยพับด้านบนของฝ่ามือด้านนอก ห่างจากข้อมือ 3 นิ้วมือของผู้ป่วยวางทาบและทำเครื่องหมายไว้ ก่อนให้ยา 5 นาที ให้ผู้ป่วยกดจุดด้วยตนเอง 5นาที แล้วใช้สายรัดข้อมือที่แขนสองข้าง ให้ปุ่มกดบริเวณ P 6พอดี ทุก 2 ชั่วโมง นาน 5 นาที  ประเมินคลื่นไส้อาเจียน 30 นาที ก่อนให้ยาในวันแรกและเมื่อยาหมดให้ถอดสายรัดข้อมือออก 5 นาที จึงประเมินคลื่นไส้อาเจียนอีกครั้ง และประเมินทุกวันที่ได้รับยาเคมีบำบัดและติดตามประเมินทางโทรศัพท์ที่บ้านสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวม 4 ครั้ง  กลุ่มควบคุมให้การพยาบาลตามปกติ ประเมินคลื่นไส้อาเจียนและจำนวนครั้งเหมือนกลุ่มทดลอง วิเคราะห์ข้อมูล โดยเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนของอาการคลื่นไส้ อาเจียน โดยใช้สถิติ GEE (generalized estimating equation)และเปรียบเทียบความแตกต่างของจำนวนครั้งของการคลื่นไส้อาเจียน ในกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้สถิติ Repeat measures analysis of variance


ผลการดำเนินงาน

 ผลศึกษาพบว่า คะแนนคลื่นไส้ อาเจียน ของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เฉลี่ย 1.19 คะแนนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P<0.001) โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 อยู่ระหว่าง 0.71 ถึง 1.68 คะแนน  นั่นคือผู้ป่วยกลุ่มทดลองคะแนนคลื่นไส้ อาเจียนลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  จำนวนครั้งของการคลื่นไส้ อาเจียนของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม เฉลี่ย 2.3 ครั้ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  (P<0.001) โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 อยู่ระหว่าง 1.56 ถึง 3.04 ครั้ง  นั่นคือกลุ่มทดลองจำนวนครั้งของการคลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05  ตามสมมติฐาน ทั้งนี้อธิบายได้ว่าการกดจุดด้วยตนเองและใช้สายรัดข้อมือที่มีปุ่มสำหรับกดบริเวณ P 6 พอดี สามารถลดคลื่นไส้อาเจียนได้โดยจุด P6 ที่ข้อมือด้านขวาเป็นจุดที่พลังงานลบจากหัวใจวิ่งออกนอกร่างกาย ส่วนจุด P6 ที่ข้อมือซ้าย เป็นจุดพลังงานบวกจากภายนอกวิ่งเข้าในร่างกาย เนื่องจากอยู่ใกล้หัวใจมากกว่า เมื่อเกิดความสมดุลระหว่างพลังงานบวกและลบ (หยินหยาง) อาการคลื่นไส้จึงถูกควบคุมและการใช้สายรัดข้อมือ ง่ายในการใช้งานและสะดวก


การนำใช้ประโยชน์

  ได้นำผลวิจัยไปใช้ในการลดคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยบอกว่าทำให้ลดความทุกข์ทรมานจากการได้รับยาเคมีบำบัดและมีความสุขจากการมารับยาเคมีบำบัดมากขึ้นเพราะอาการคลื่นไส้อาเจียนลดลง และมีการเผยแพร่ทาง website ทำให้มีพยาบาลในโรงพยาบาลสามารถนำไปใช้


บทเรียนที่ได้รับ

การกดจุดด้วยตนเองร่วมกับใช้สายรัดข้อมือสามารถป้องกันและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้และเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดเสริมการรักษา สามารถเรียนรู้ได้ง่าย คุ้มค่าใช้จ่ายจากการซื้อสายรัดข้อมือประมาณ 150 บาท ปฏิบัติได้และเห็นผลจริง ทำให้ลดความทุกข์ทรมาน และเพิ่มคุณภาพชีวิตระหว่างมารับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดได้

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ

พยาบาลสามารถใช้วิธีการกดจุดมาใช้กับผู้ป่วยได้จริง เป็นบทบาทอิสระของพยาบาล เป็นวิธีการไม่ยุ่งยากหรือซับซ้อน และผู้ป่วยให้ความร่วมมือที่จะใช้วิธีการกดจุดโดยใช้สายรัดข้อมือทุกคนเนื่องจากสามารถป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนได้และผู้ป่วยสามารถใช้วิธีกดจุดด้วยตนเองซึ่งง่ายต่อการปฏิบัติ  สามารถกลับไปทำต่อที่บ้านได้

การสนับสนุน

ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (R2R) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

การนำเสนอ ประชุมวิชาการ 14th HA National Forum 15 มีนาคม 2556  ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค กรุงเทพฯ


หมายเลขบันทึก: 537931เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 06:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2013 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

น่าสนใจมากค่ะพี่แก้ว.. ขอนำไปแนะนำคนไข้นะคะ

ได้ค่ะ  การกดจุดด้วยตนเองไม่ยากค่ะ

เวลากด ผู้ถูกกด จะรู้สึกชาไปที่นิ้วกลาง

กดนานๆ บางทีจะเรออกมาด้วย

ใช้ได้ผลดี



วันที่ 27 มิถุนายน 2556

น้องจันทราพร นำเสนอผลงานที่ฝ่ายการพยาบาลจัด

ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัย 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท