รำพึงรำพันเรื่อง ความหมายของ ICT Literacy


เราอยู่ในยุคของมายา ที่ทางแห่งความชั่ว กับทางแห่งความดี อยู่ในที่เดียวกัน ลูกหลานของเราต้องเรียนรู้ ที่จะอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง โดยไม่ถูกพิษร้ายของ ไอซีที/ทุนนิยม สมัยใหม่ โดยระบบการศึกษา และระบบคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้าไปจัดการเชิงระบบ และพ่อแม่/ครู ต้องมีวิธีคุ้มครองเด็ก และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก


          ระหว่างอ่านหนังสือ Why School? How Education Must Change When Learning and Information Are Everywhereที่ระเบียงหน้าบ้านอย่างสบายอารมณ์  ในช่วงเช้าวันที่ ๑๐ เม.ย. ๕๖ ซึ่งเป็นช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัดต้อกระจกที่ตาขวาของผม  ในท่ามกลางเสียงกบเขียด (ที่จริงคางคก) ร้องระงมก่อนฝนตก  ผมปิ๊งแว้บว่า เราต้องช่วยกันนิยาม คำว่า media literacy ใหม่  เพื่อให้ลูกหลานของเราได้รับประโยชน์จาก ICT มากกว่าโทษ หลายๆ เท่า

          การศึกษา/เรียนรู้ ในปัจจุบัน ต้องใช้พลัง ไอซีที  เพราะมันมีพลังสูงมาก ในการนำเราสู่ข้อมูลความรู้   โดยเราต้องมีวิธีใช้เฉพาะพลังด้านบวกของมัน  ป้องกันพลังด้านลบไม่ให้เข้าถึงตัวลูกหลานของเราได้ 

          รวมทั้งต้อง “ติดอาวุธ” หรือ “สร้างภูมิคุ้มกัน” ในตัวลูกหลานของเรา ไม่ให้ไปข้องแวะกับด้านลบของ ไอซีที  ลูกหลานของเราต้องรู้ทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อ 

          เราอยู่ในยุคของมายา ที่ทางแห่งความชั่ว กับทางแห่งความดี อยู่ในที่เดียวกัน  ลูกหลานของเราต้องเรียนรู้ ที่จะอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง โดยไม่ถูกพิษร้ายของ ไอซีที/ทุนนิยม สมัยใหม่  โดยระบบการศึกษา และระบบคุ้มครองผู้บริโภคต้องเข้าไปจัดการเชิงระบบ  และพ่อแม่/ครู ต้องมีวิธีคุ้มครองเด็ก  และสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเด็ก

          นี่คือส่วนหนึ่งของ การศึกษา/การเรียนรู้ แห่งยุคสมัย 

          ไอซีที อำนวยความสะดวก ให้เราเข้าถึงความรู้ได้  โดยที่ความรู้นั้นมีทั้งความรู้ที่ถูกต้อง - ความรู้ที่ผิด หรือล้าสมัย  ความรู้ที่หวังดี - ความรู้ที่หลอกลวง ล่อให้เราไปติดกับ  ความรู้ที่ให้ปัญญา - ความรู้ที่มอมเมา  ฯลฯ

          media หรือ  ICT Literacy จึงมีความหมายสำคัญคือ รู้จักเลือกใช้ media/ICT ที่ให้คุณ  และรู้จักหลีกเลี่ยง media/ICT ที่ให้โทษ  ความยากคือ ในส่วนที่ให้คุณก็มีให้โทษ  ในส่วนให้โทษก็มีให้คุณ  ส่วนที่ให้โทษนั้นมันให้คุณในแง่ช่วยให้เรารู้เท่าทัน  แต่จะให้โทษเมื่อเราเข้าไปเสพแบบลุ่มหลงเสพติด และตกเป็นเหยื่อ 

          ICT/Media Literacy ช่วยให้เยาวชนของเราไม่ตกเป็นเหยื่อ  การศึกษาในระบบ และการเลี้ยงดูของพ่อแม่จะดำเนินการอย่างไร  เป็นความท้าทาย

          หลักการคือ ICT/Media Literacy ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยการสั่งสอน หรือสอน  แต่จะต้องเกิดขึ้นโดยเด็กสร้างขึ้นเองในตัวตนของเขา  จากการที่เขาลงมือทำกิจกรรมบางอย่าง  แล้วไตร่ตรองทบทวนข้อเรียนรู้ของตน  พ่อแม่/ครู ต้องช่วย facilitate ให้เด็กเกิด literacy นี้ โดยกระบวนการดังกล่าว ผ่านการชักชวนเด็กให้ทำกิจกรรมที่เขาสนใจ สนุก และได้เรียนรู้ ICT/Media Literacy

          ย้ำว่า ICT/Media Literacy ไม่ใช่แค่ใช้เทคโนโลยีเป็น และเข้าถึงสาระของ media  แต่ต้องรู้เท่าทันมัน  มีภูมิคุ้มกันไม่โดนพิษร้ายจากมัน



วิจารณ์ พานิช

๑๐ เม.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 537636เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2013 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เห็นด้วยมากเลยค่ะอาจารย์ ภูมิคุ้มกันนี้ต้องมีทั้งในเยาวชน ครู และผู้ปกครองค่ะ การนำเอาเทคโนโลยีมาสู่สถานศึกษาโดยขาดแนวทางการนำไปใช้รวมทั้งขาด applications ต่างๆ ในขณะที่เทคโนโลยีมาถึงมือแล้วนั้นต้องระวังอย่างมากค่ะ 

การสอนสื่อศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากค่ะ

ชอบครับ Ict/Media Literacy ไม่สามารถเกิดจากการสั่งหรือสอน แต่ต้องให้เด็กสร้างขึ้นเองในตัวเขา  มันยากตรงนี้แหละครับกับบทบาทหน้าที่ของพวกเรา

"วิจารณญาณ" สร้างยากจริง ๆ ครับ ;)...

สิ่งที่อาจารย์คิดนั้นมีทางเป็นไปได้ครับ แต่สำหรับบ้านเราไม่แน่ใจว่าจะเกิดเร็วๆนี้หรือไม่

ในทางเทคโนโลยสารสนเทศมีศาสตร์ด้าน semantic technology ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ 

และยังต้องใช้ร่วมกับศาสตรอื่นๆอีกมากมาย ศาสตร์เหล่านี้พัฒนาความเข้าใจระหว่างคอมพิวเตอร์และมนุษย์

ให้คอมพิวเตอร์เข้าใจว่าสวย คืออะไร หล่อคืออะไร อะไรดีกต่อผู้ใช้วัยรุ่น และอะไรดีต่อผู้ใช้วัยทำงาน 

หากเครื่องมือนี้สมบูร์แบบ เราคงมีผู้ช่วยตัดสินใจในเรื่องต่างๆเหมือนกับโทนี่ ที่มีจาวิสเป็นคู่คิดอีกคน

เรายังมีหวังเสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท