nobita
นาย ชัยพร รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สมุดพกประจำตัว


ในแต่ละวัน งานที่ต้องปฏิบัติกว่าครึ่งจะเป็นเรื่องการตอบคำถามหรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการขอมีหรือขอเลื่อนวิทยฐานะของคุณครู กทม.  งานเหล่านี้อาจดูเผิน ๆ แล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องยากอะไร เพราะทุกคำถามสามารถตอบได้ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการที่ได้กำหนดไว้แล้ว...

แต่ความเป็นจริง การตอบคำถามหรือการให้คำแนะนำคุณครูแต่ละครั้ง เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยุ่งยาก  สาเหตุเนื่องมาจาก การจะตอบคำถามหรือให้คำแนะนำแต่ละคำถามแต่ละครั้ง คุณครูต้องบอกเล่าข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนของตนเองให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย  ซึ่งนั้นก็หมายความว่า หากคุณครูสามารถบอกข้อมูลส่วนตัวของตนเองได้ละเอียดและถูกต้อง ครบถ้วนเท่าใด  เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถตอบคำถามหรือให้คำแนะนำข้อมูล และแนวทางการดำเนินการตามที่คุณครูสอบถามหรือข้องใจได้ถูกต้องรวดเร็วเช่นกัน

ตัวอย่างที่ประสบพบเจอ ก็เช่น คุณครูมาถามว่า "อยากทราบความก้าวหน้าของผลงานที่เสนอขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ว่าไปถึงไหน ขั้นตอนใด หรือผลออกมาเป็นประการใดแล้ว"   ซึ่งตรงนี้ ตัวคุณครูเองจะต้องมีข้อมูลส่วนตัวเพื่อบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า  ได้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใด  ปกติ  ให้โอกาส  หรือ พลว.  และได้ยื่นขอในรอบระยะเวลาใด (เดือน พ.ค.  หรือ เดือน พ.ย.)  และที่สำคัญ ตัวคุณครูเองต้องจำให้ได้ว่าได้นำผลงานไปส่งถึงสำนักงาน ก.ก.เมื่อวันที่เท่าไร  ผลงานที่ส่งเป็นผลงานที่ส่งใหม่  หรือเป็นผลงานที่ได้รับการแก้ไขครั้งที่เท่าไร  ฯ   ตรงนี้แหละครับถ้าคุณครูแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ เขาก็จะดำเนินการตรวจสอบสิ่งที่คุณครูอยากรู้ได้อย่างรวดเร็ว

หรือบ่อยครั้งที่คุณครูสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการสมัครเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คุณครูได้มีโอกาสก้าวหน้าทางวิทยฐานะ  ไม่ว่าจะเป็นโครงการให้โอกาสฯ  หรือโครงการ พลว. ก็ตาม  คุณครูต้องมีข้อมูลประวัติเกี่ยกวับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะทุกครั้งที่ผ่านมาให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพราะในแต่ละโครงการหรือแต่ละกิจกรรมคุณสมบัติในการเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมต่างกัน แต่ถ้าตัวคุณครูไม่ทราบข้อมูลของตัวเองแล้ว จะรอหวังพึ่งแต่เจ้าหน้าที่ก็จะทำให้เกิดความล่าช้า หรืออาจจะหาข้อมูลไม่เจอได้ เกิดผลเสียกันทั้ง ๒ ฝ่าย

หลายครั้งที่คุณครูโทรศัพท์มาสอบถามเรื่องเกี่ยวกับการประเมินต่าง ๆ ของตนเอง แล้วเจ้าหน้าที่มีการสอบถามเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแต่คุณครูไม่สามารถตอบได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า จำไม่ได้ ลืมไปแล้ว ไม่แน่ใจว่าอย่างนั้น อย่างนี้ และสุดท้ายจึงพาลโมโหเจ้าหน้าที่ และตำหนิเจ้าหน้าที่ว่า "เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ทำไมจะหาข้อมูลไม่ได้ นี่เป็นหน้าที่นะ และ....."  

ข้อเท็จจริงก็คือ เจ้าหน้าที่นี้ต้องดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะให้กับคุณครูร้อยแปดพันเก้าคน และก็มีกิจกรรมที่จะต้องดำเนินการอีกมากมาย  ครั้นจะให้จดจำข้อมุลทั้งหมดคงเป็นไปได้ยาก หรือจะหาข้อมูลของคุณครูท่านใดสักคนก็ต้องใช้เวลาค้นหานานมาก  แต่.. ถ้าคุณครูสามารถจดจำข้อมูลเฉพาะของตนเองให้ครบถ้วนและถูกต้องก็จะทำให้เกิดความสะดวกแก่ทุกฝ่าย การค้นหาข้อมูลก็จะง่ายและรวดเร็วขึ้นส่งผลไปถึงขึ้นตอนการปฏิบัติงานก็จะรวดเร็วทันใจกันเลยทีเดียว

เมื่อมาถึงจุดแห่งปัญหาที่เกิด ทางเจ้าหน้าที่กำลังใช้ความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหลายทั้งสิ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ แต่ก็ต้องใช้เวลาและการพัฒนาต่อไปเพื่อจะสร้างการบริการที่มีประสิทธิภาพแก่คุณครู   ในส่วนของคุณครูก็เช่นเดียวกัน น่าจะมีการจดบันทึกข้อมูลของตนเองไว้ด้วยในลักษณะของ สมุดพกประจำตัว...

สมุดพกประจำตัว  อาจะจะมีส่วนประกอบของข้อมูล ดังเช่น

ประวัติส่วนตัว ---->  วัน เดือน ปีเกิด  วันครบกำหนดเกษียณอายุราชการ  ประวัติหรือคุณวุฒิการศึกษา  วันที่ขอมีใบประกอบวิชาชีพ และวันหมดอายุของใบประกอบวิชาชีพ ฯ

ประวัติการรับราชการ ------>  วันเริ่มต้นบรรจุเข้ารับการ  วันที่แต่ตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ดำรงตำแหน่งครู  ตำแหน่งรอง ผอ.  ตำแหน่ง ผอ.  ตำแหน่งศึกษานิเทศ ฯ

ประวัติการเสนอขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ  ------->  ขอมีวิทยฐานะครั้งแรกเมื่อไร  ได้รับการแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะแต่ะวิทยฐานะเมื่อไร ฯ  โดยส่วนนี้ค่อนข้างจะสำคัญ ต้องมีการบันทึกอย่างละเอียดว่า ได้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใด  เมื่อไร  ส่งหนังสือหรือผลงานถึงหน่วยงานใด วันใด และได้รับหนังสือหรือสำเนาหนังสือตอบกลับมาว่าอย่างไรบ้าง ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าคุณครูควรจะบันทึกเป็นสมุดพกไว้ประจำตัวเองเลย เพราะอย่างน้อยจะเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนเราให้ทราบถึงข้อมูลของตัวเอง  และเมื่อจะติดต่อสอบถามเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็จะสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตอบคำถามได้เป็นอย่างดีทีเดียว  

หลาย ๆ คนอาจจะลืมคำพูดที่ว่า  "ให้จำเรื่องราวต่าง ๆ ไว้  แต่ถ้าจำไม่หมด ก็จดไว้ดีกว่า เพราะอย่างไรเมื่อลืมก็จะเปิดอ่านสิ่งที่จดไว้ได้"  

ผมไม่อยากให้ใครโดนตำหนิว่า แค่เรื่องของตัวเองยังไม่รู้ จำไม่ได้เลย แล้วจะไปรู้ไปจำงานใหญ่ ๆ ได้อย่างไร และเมื่อเรื่องส่วนตัวของตัวเองไม่รู้แล้ว จะให้ใครหน้าไหนมารู้เรื่องของตัวได้ล่ะ...

และนี่คงเป็นเรื่องที่เกิดจากประสบการณ์ ที่อยากแบ่งปัน โดยเฉพาะหากมีการจัดทำสมุดพกประจำตัวของแต่ละคนได้ ก็จะเป็นผลดีต่อตัวคุณครูเอง โดยจะสามารถวาแผนการพัฒนาตัวเอง และวางแผนการขอเลื่อนวิทยฐานะได้อย่างง่ายดายและสบายทีเดียว

หมายเลขบันทึก: 537462เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมใช้การจดไว้เหมือนกันครับ เพราะบางทีจำได้ไม่หมดครับเช่นเลขที่ประจำตำแแหน่ง วันเดือนปีที่บรรจุ

ขอบคุณครับ คุณครู ขจิต ครับ


เห็นด้วยค่ะ การจดบันทึกช่วยได้อีกหนึ่งทาง

นอกจากจดในสมุดแล้ว kunrapee ยังเก็บไว้ในโทรศัพท์ทุกหมายเลขเลยค่ะ (จะได้หาง่ายๆ) ทั้งหมายเลขสภาพยาบาล, สมาคมพยาบาล-ห้องผ่าตัด-วิสัญญีพยาบาล, ออมทรัพย์, ฌกส. เยอะแยะไปหมดจำไไหวจริงๆ

ยินดีที่ได้รู้จัก และชื่นชมกระบวนการของสมุดพกครับผม

คุณมะเดื่อก็จดนะ ( แต่บางทีก็จำไม่ได้ว่าจดไว้ที่สมุดเล่มไหนนี่แหละ อิ อิ )

ขอบคุณที่แวะไปทักทายกันจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท