Risk Map จุดตายการเข้าถึงความเสี่ยงก่อนเริ่มการจัดการความเสี่ยง


อาจารย์ จิรพร  สุเมธีประสิทธิ์

[email protected]

แม้ว่าทุกกิจการจะประกาศว่ามีกระบวนการบริหารความเสี่ยงอยู่ภายในกิจการ แต่หลายกิจการไม่อาจยืนยันได้เต็มปากว่า ผลงานการบริหารความเสี่ยงสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเพิ่มคุณค่าแก่กิจการ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะกิจการไม่อยากจะชี้แจงความท้าทายที่เผชิญหน้าอยู่ได้ว่า

ประเด็นที่ 1

กิจการรู้ได้อย่างไรว่าทะเบียนข้อมูลความเสี่ยงที่จัดทำขึ้นมาถูกต้อง (Risk Register)

ประเด็นที่ 2

กิจการรู้ได้อย่างไรว่า แบบจำลองความเสี่ยงที่ออกแบบและใช้ในกิจการสอดคล้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของกิจการ (Risk Model)

ประเด็นที่ 3 

กิจการรู้ได้อย่างไรว่า แผนบริหารความเสี่ยงที่ใช้เหมาะสมดีแล้ว (Risk Plan)

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า แม้แต่ในกิจการที่รูปแบบการดำเนินธุรกิจไม่ซับซ้อน หรือโครงการง่าย ๆ ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาทะเบียนข้อมูลความเสี่ยง เพราะการค้นหาและระบุความเสี่ยง การวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงแต่ละเรื่องจะต้องอาศัยการพิจารณาและกระบวนการอย่างรอบคอบระมัดระวัง การรับรู้ความเสี่ยงที่เพียงพอ

แต่ในความเป็นจริง การดำเนินธุรกิจของกิจการส่วนใหญ่และโครงการต่าง ๆ เต็มไปด้วยความซับซ้อน การจัดทำทะเบียนข้อมูลความเสี่ยง จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและความความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ (Expert) หรืออาศัยคำแนะนำของนักวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ยึดแนวพึงปฏิบัติที่ดี

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจจะมีกิจการมากมายที่จะบอกได้ว่ากิจการมีทะเบียนข้อมูลความเสี่ยงเอาไว้ในกระบวนการออกแบบในด้านแบบจำลองการบริหารความเสี่ยง แต่ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า ข้อมูลความเสี่ยงที่จัดทำนั้นถูกต้อง ครบถ้วนแล้ว เพราะลักษณะของข้อมูลความเสี่ยงในทะเบียนข้อมูลเป็นข้อมูลที่เป็นเรื่อง ๆ แต่ละเรื่องเป็นอิสระต่อกัน

ซึ่งการที่กิจการไม่อาจพิสูจน์ หรือสอบทานข้อมูลในทะเบียนความเสี่ยงได้ ก็หมายความว่าการกำหนดกระบวนการบริหารความเสี่ยงเป็นไปโดยปราศจากความเชื่อมั่นอย่างเพียงพอ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีองค์กรใดที่ออกประกาศมาตรฐานหรือกรอบแนวทางที่จะบอกได้ว่า กิจการจะหาทางตอบโต้ต่อความท้าทายทั้ง 3 ประเด็นที่กล่าวมาแล้วอย่างไร เพื่อปรับปรุงกระบวนการดำเนินการในเรื่องนี้

ปัจจุบันองค์กร ISO ได้พยายามที่จะลดชิ่งว่างและจุดอ่อนในส่วนนี้ ด้วยการยกร่างมาตรฐานใหม่ ซึ่งคงมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการในอนาคต

ในระหว่างนี้ สิ่งที่อาจจะช่วยกิจการในการสอบทานข้อมูลความเสี่ยงก่อนที่จะนำไปออกแบบการบริหารความเสี่ยงและแบบจำลองการบริหารความเสี่ยงก็คือ แผนที่ความเสี่ยง (Risk Map)

ความสำคัญและประโยชน์ของ Risk Map

การพัฒนากระบวนการในการจัดทำ Risk Map จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการอย่างน้อยในประเด็นต่อไปนี้

ประการที่ 1

ทำให้กิจกรรมที่จะเพิ่มเติมความเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยง และการรับรู้ความเสี่ยงเพิ่มเติม รวมไปถึงการเคลื่อนที่ของความเสี่ยง (Risk Profile) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสร้างการสื่อสารความเสี่ยงได้ชัดเจนขึ้น รวมทั้งสามารถปรับปรุงแก้ไขข้อมูลความเสี่ยงในทะเบียนข้อมูลความเสี่ยง(Risk Register) ได้ดีขึ้น

ประการที่ 2

ทำให้เกิดกิจกรรมการทบทวนข้อมูลความเสี่ยง ด้วยการยกเอาผลกระทบของเหตุการณ์ความเสี่ยงต่อการไม่บรรลุผลสำเร็จของการดำเนินงานของกิจการขึ้นมาเป็นตัวตั้ง ซึ่งหากผลกระทบเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในระดับองค์กร
ก็จะทำให้การรับรู้ความเสี่ยงมีโอกาสปรับใหม่ให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ประการที่ 3

ทำให้มีโอกาสปรับปรุงแบบจำลองการประเมินความเสี่ยงให้ดีขึ้น เพราะในการทำ Risk Map กิจการต้องค้นหาและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างทะเบียนข้อมูลความเสี่ยงกับตัวแปรในแบบจำลองการประเมินความเสี่ยงให้ชัดเจนขึ้น  ความเสี่ยงที่เรียงกันอย่างเป็นอิสระอยู่จะต้องนำมารวมกลุ่มและจัดลำดับเป็น Set of Risk เพื่อจะได้ทำการประเมินความเสี่ยงในลักษณะของชุดความเสี่ยงแทน

ผลลัพธ์ที่ได้จากการทำ Risk Map จะทำให้การประเมินความเสี่ยงเพื่อเรียงลำดับความเสี่ยงตามความสำคัญของการไม่บรรลุผลสำเร็จของการดำเนินงานมีความแม่นยำมากขึ้น และทำให้กิจการสามารถพัฒนาแบบจำลองความเสี่ยงได้เหมาะสมมากขึ้น

แบบจำลองความเสี่ยง (Risk Model) ในที่นี้หมายถึง แบบจำลองที่จะต่อยอด Risk Map เพราะในขณะที่ Risk Map เป็นการประเมินความเสี่ยงด้วยคุณสมบัติและข้อมูลในเชิงคุณภาพ Risk Model จะใช้ประเมินความเสี่ยงด้วยการใช้ข้อมูลในเชิงปริมาณ หรืการตีค่าข้อมูลเชิงคุณภาพออกมาเป็นคะแนนที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นจำนวนนับในเชิงปริมาณ

ผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินกระบวนการสร้าง Risk Map และ Risk Model ในส่วนที่เป็นไปได้ จะช่วยให้กิจการดำเนินกระบวนการในขั้นตอนต่อไป ซึ่งเป็นการตัดสินใจกำหนดแนวทางของการบริหารจัดการกับความเสี่ยงสำคัญ

ขณะเดียวกันการสร้าง Risk Map แล้วกิจการจะได้ข้อมูลความเสี่ยงชุดปรับปรุงที่บรรจุความเสี่ยงเป็น Set of
Risk แทนที่จะเป็นประเด็นที่เป็นอิสระต่อกัน

ประเด็นที่กิจการจะต้องให้ความระมัดระวังและรอบคอบอย่างามากในระหว่างการสร้าง Risk Map มีอยู่ด้วยกันหลายประการ ได้แก่

ประการที่ 1

ต้องพัฒนาแผนที่ความเสี่ยงหรือ Risk Map ในลักษณะที่แสดงภาพเป็นองค์รวม หรือ Profile Views of  Risk ซึ่ง

(1)  แสดงข้อมูลความเสี่ยงทั่งที่เป็นโอกาสทางธุรกิจและเป็นอุปสรรค หรือภัยคุกคาม

(2)  แสดงข้อมูลความเสี่ยงทั่งที่มีการรับรู้และคาดคะเนล่วงหน้าได้ และที่ยังไม่รับรู้เป็นความไม่แน่นอนที่ไม่อาจคาดคะเนล่วงหน้าได้

(3)  แสดงทั้งส่วนธุรกิจที่กิจการต้องเร่งขยายตัว หรือต้องการการเติบโตอย่างรวดเร็วและส่วนที่ต้องระมัดระวังและเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

(4)  แสดงความเสี่ยงส่วนที่มีสถานะความเสี่ยงต่ำและส่วนที่มรสถานะความเสี่ยงสูงในปัจจุบัน

(5)  แสดงทั้งความเสี่ยงที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ทรงตัวในอนาคตและมีแนวโน้มลดความรุนแรงลงในอนาคต

(6)  แสดงทั้งความเสี่ยงทางธุรกิจ(Business Risk) ความเสี่ยงทางการเงิน และความเสี่ยงจากอุบัติการณ์และพิบัติภัย

(7)  แสดงทั้งความเสี่ยงในภาวะปกติ ภาวะที่มีความผันผวนสูง และภาวะวิกฤติ หรือมหันตภัย

ประการที่ 2

Risk Mapที่ทำขึ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์และใช้ได้ภายในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อนานกว่านั้นก็ต้องทบทวนใหม่ตามการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์

ประการที่ 3

ระหว่างการพัฒนา Risk Map กิจการจะต้องเติมเต็มเกณฑ์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite/Tolerance) เพิ่มเติมให้ครบถ้วน เพื่อจะได้ใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการเรียงลำดับความเสี่ยงตามลำดับความสำคัญ และแยกข้อมูลความเสี่ยงที่ยังมีสถานะเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ออกได้อย่างชัดเจน

ประการที่ 4

การเรียงลำดับความเสี่ยงว่าสำคัญสูง ปานกลาง หรือต่ำ จะต้องเป้นกระบวนการที่เป็นทางการและดำเนินการตัดสินใจจากผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น ไม่ใช่บุคลากรระดับปฏิบัติการ

ประการที่ 5

ผลที่ได้จากRisk Mapและผ่านการเห็นชอบแล้วจะต้องนำเป็นข้อมูลในการสื่อสารชี้แจง และหล่อหลอมให้เป็นวัฒนธรรมความเสี่ยงขององค์กร มิใช่เก็บไว้เป็นข้อมูลที่มีผู้รับรู้กันเพียงไม่กี่คน

ประการที่ 6

แม้ว่าจะสร้าง Risk Map แล้ว แต่ควรมีกระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับปรุงในส่วนของข้อมูลที่เป็นเชิงปริมาณ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้และการยอมรับได้ง่ายกว่าข้อมูลเชิงคุณภาพ และอาจจะทำให้กิจการสามารถประมาณการมูลค่าของความเสียหายหรือความสูญเสียจากผลของความเสี่ยงต่อการดำเนินงานได้ดีขึ้น

ประการที่ 7

วงของการพัฒนาRisk Map มีแนวโน้มที่จะขยายออกไปจากการพิจารณาที่ใช้เพียงเป้าประสงค์ภายในกิจการเป็นหลัก สู่การบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดกับห่วงโซ่แห่งคุณค่า (Value Chain) มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 537177เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท