ผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทย


ผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทย

Outcomes of Thai language teaching


เฉลิมลาภ ทองอาจ

โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม

คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


  

                 ผลลัพธ์มีความสำคัญต่อการศึกษา เพราะเป็นสิ่งกำหนดเป้าหมายปลายทางของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน  หลักสูตรหรือการสอนใด ๆ ที่เอ่ยถึงผลลัพธ์ชัดเจนว่า ผู้เรียนจะเป็นอะไร  มีลักษณะอย่างไร และสามารถปฏิบัติอะไรได้ รวมทั้งแสดงให้เห็นกระบวนการในการนำผลลัพธ์นั้นไปสู่การเรียนการสอนและการวัดประเมินผลที่ชัดเจน หลักสูตรนั้นย่อมเป็นหลักสูตรตามระบบการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์เป็นฐาน  (outcomes based education: OBE)  อันเป็นระบบการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่า การตัดสินใจใด ๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนจะต้องมุ่งไปสู่ผลลัพธ์เป็นสำคัญ  ผลลัพธ์จึงเป็นศูนย์กลางของการจัดการเรียนการสอน ทั้งในด้านการกำหนดวัตถุประสงค์ เนื้อหา กิจกรรม และการวัดประเมินผล หากแต่ในการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ดูเสมือนหนึ่งว่า ผู้สอนส่วนใหญ่ ยังไม่ทราบว่า ผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทยคืออะไร จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนภาษาไทยแบบมุ่งผลลัพธ์ได้ 


                  แนวคิดเกี่ยวกับผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทยมีความแตกต่างกันไป แล้วแต่สิ่งที่ผู้สอนยึดถือ  ครูผู้สอนโดยทั่วไปมักจะยึดถือธรรมชาติของวิชาที่สอน ว่าต้องการให้ผู้เรียนมีลักษณะอย่างไร จากนั้นจึงกำหนดผลลัพธ์เบื้องต้นตามธรรมชาติที่ว่านั้น เช่น วิชาภาษาไทย  มักจะมีผู้กล่าวกันว่าเป็นวิชาทักษะ  ซึ่งประกอบด้วย การอ่าน การฟัง การพูดและการเขียน เพราะฉะนั้น ผลลัพธ์ของวิชาภาษาไทยก็น่าจะประกอบด้วย ความสามารถในการอ่าน ฟัง พูดและเขียน  การกำหนดผลลัพธ์ของวิชาภาษาไทย โดยใช้ธรรมชาติของวิชา ดังที่ได้กล่าวมานี้  ก็สามารถทำได้ และเป็นการสะดวกดีด้วย ที่สามารถนำทักษะ  การสื่อสารมากำหนดเป็นผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทยได้ทันที แต่หากพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปแล้ว  การสอนภาษาไทย หาได้มีขอบเขตแต่เฉพาะการสอนทักษะการสื่อสารแค่ 4 ทักษะดังกล่าวไม่ แต่ยังครอบคลุมไปถึงการให้ความรู้ในเชิงวิชาการ  การสร้างมโนทัศน์หรือความเข้าใจเกี่ยวกับภาษา  การคิด  และการนำความรู้ทางภาษาไปใช้ในชีวิตประจำวันด้วย ดังนั้น ผู้สอนจึงจำเป็นจะต้องพิจารณานำเป้าหมายอื่น ๆ เหล่านี้ มาพิจารณาด้วย เพื่อให้สามารถกำหนดผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทย ที่มีความชัดเจนและสอดคล้องกับขอบเขตที่กว้างขึ้นกว่าเดิม

   

                  คำถามที่ควรพิจารณาคือ แล้วผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทยควรประกอบด้วยอะไรบ้าง   เพื่อตอบคำถามนี้ จำเป็นที่จะต้องศึกษาตัวอย่างผลลัพธ์ของการสอนภาษาตามแนวคิดของสากล ซึ่งในที่นี้ได้นำแนวคิดผลลัพธ์ของการสอนภาษาจากกระทรวงศึกษาธิการ แห่งมลรัฐออนตาริโอ (Ministry of Education) ประเทศแคนาดามานำเสนอ  เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการกำหนดผลลัพทธ์ของการสอนภาษาไทยในลำดับต่อไป 


                  หลักสูตรการสอนภาษาของหน่วยงานข้างต้น ได้กำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ภาษาไว้ 4 ด้าน ประกอบด้วย  ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านความรู้และความเข้าใจ (knowledge and understanding)  ด้านการคิด (think)  ด้านการสื่อสาร  (communication)  และด้านการนำไปใช้  (complication)  ผลลัพธ์แต่ละด้าน เมื่อนำมาร่วมกับบริบทของการสอนภาษาไทยแล้ว  อาจกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของการสอนภาษาไทยได้ ดังนี้


                   1.  ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านความรู้และความเข้าใจ  ประกอบด้วยผลลัพธ์ย่อยสองด้าน คือ   ด้านเนื้อหา (content) และด้านความเข้าใจ (understanding) สำหรับด้านแรก ผู้เรียนจะต้องมีความรู้เชิงเนื้อหาอันเป็นรายละเอียดของข้อมูลหรือคำศัพท์สำคัญในวิชาภาษา  โดยทั่วไปมักเรียกผลลัพธ์ประเภท  นี้ว่า สาระการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น  สาระการเรียนรู้เรื่อง ความหมายของคำ ชนิดของคำ ประโยคสามัญ ประโยคซับซ้อน ฯลฯ ครูผู้สอนสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ประเภทนี้  ด้วยวิธีการบอกหรืออธิบายข้อมูลความรู้เหล่านี้โดยตรง หรือใช้การให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ แล้วสรุปความรู้ด้วยตนเองก็ได้  ส่วนผลลัพธ์ด้านความเข้าใจ หมายถึง  การที่ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ แล้วสามารถเชื่อมโยงเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญ เข้ากับความรู้หรือประสบการณ์ของตนเองได้ สิ่งที่ผู้เรียนจะต้องสร้างความเข้าใจประกอบด้วย มโนทัศน์ หลักการ แนวคิดและทฤษฎี  ซึ่งสามประการหลังนี้ เกิดจากความเข้าใจความสัมพันธ์  หรือความเชื่อมโยงระหว่าง  มโนทัศน์ของสิ่งต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการเขียนเรียงความ  หลักการสัมพันธ์ประโยค  แนวคิดหรือแก่นเรื่องของวรรณคดีและวรรณกรรม เป็นต้น  ในการเสริมสร้างความเข้าใจ ครูผู้สอนสามารถใช้วิธีการสร้างความเข้าใจมโนทัศน์ ด้วยการให้นักเรียนเปรียบเทียบและยกตัวอย่าง หรือการใช้การเรียนการสอนแบบอุปนัย ด้วยการให้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างเพียงพอ กระทั่งผู้เรียนสามารถสรุปความเข้าใจด้วยตนเอง 


                 2.  ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านการคิด  โดยทั่วไป แม้นิยามของความคิดจะมีขอบเขตกว้างมาก   แต่โดยทั่วไปการคิดย่อมมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูล และการนำข้อมูลมาผ่านกระบวนการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แยกแยะความสัมพันธ์ หาความเชื่อโยง เป็นต้น  การพัฒนาการคิดจึงสัมพันธ์กับการเพิ่มพูนความสามารถในเชิงข้อมูล ผลลัพธ์ด้านการเรียนรู้ด้านการคิด  จึงประกอบด้วย ทักษะการวางแผน (planning skills) ได้แก่การเก็บรวบรวมและจัดการข้อมูล แล้วสร้างเป็นแนวความคิดเบื้องต้น  ทักษะการประมวลผลข้อมูล  (processing skills)  ได้แก่ การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์  ตีความ ประเมิน และอุปมาน (making inferences) เพื่อสร้างข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง และการใช้กระบวนการคิด (thinking process) ผ่านกระบวนการอ่าน การเขียน การวิจัย และการใช้อภิปัญญา (metacognition) การจัด  การเรียนการสอนภาษาไทย ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ด้านนี้ สามารถดำเนินการได้ ด้วยการให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย  แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตีความด้วยตนเอง  ผ่านการอ่านและการเขียนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ครูให้นักเรียนเขียนรายงานการศึกษาค้นคว้า เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องที่ตนเองกำลังศึกษา  ซึ่งในการเขียนรายงานดังกล่าว ครูจะต้องให้ผู้เรียนวางแผนการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ เก็บข้อมูล แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อสรุปข้อค้นพบแล้วเขียนเป็นรายงานตามรูปแบบที่กำหนด เป็นต้น 


                   3. ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านการสื่อสาร  การสื่อสาร หมายถึง การสื่อหรือแสดงความหมายผ่านช่องทางอย่างใดอย่างหนึ่งไปสู่ผู้รับ  ผู้เรียนจะต้องได้รับการส่งเสริมให้แสดงออกซึ่งความคิดของตนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การพูด  เขียน  หรือจัดทำสื่ออย่างใดอย่างหนึ่งอย่างมีคุณภาพ คือ สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจน และเป็นอยู่ในรูปแบบที่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งยังจะต้องสามารถสื่อได้สอดคล้องกับความแตกต่างของผู้รับ  และวัตถุประสงค์ของการสื่อ  ตัวอย่างเช่น ในการเขียน ผู้เรียนจะต้องพิจารณาเลือกรูปแบบการเขียนที่เหมาะสม  รู้จักที่จะเลือกใช้สำนวน ถ้อยคำหรือน้ำเสียงของการเขียนที่เหมาะสม เป็นต้น  การจัดการเรียนการสอนภาษาไทย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดผลลัพธ์ด้านการสื่อสาร สามารถดำเนินการได้ด้วยการให้ความรู้ และการฝึกหัด เพื่อให้เกิดความชำนาญ เนื่องจากเมื่อกล่าวถึงการสื่อสารแล้ว  ย่อมหมายถึงการแสดงออกความคิดผ่านรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทักษะที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ การพูด และการเขียน ดังนั้น กิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทย จะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการพูดและการเขียน ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไป เช่น ให้ผู้เรียนสนทนาแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม จากนั้นในมานำเสนอหน้าชั้นเรียน หรือการให้เขียนงานส่วนบุคคล แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันอ่าน แล้วนำความคิดเห็นของเพื่อนไปปรับปรุงผลงานการเขียนของตนเอง  เป็นต้น 


                  4.  ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านการนำไปใช้  ผู้เรียนจะเกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านการนำไปใช้ ก็ต่อเมื่อได้นำความรู้ ความเข้าใจต่าง ๆ ที่ได้ศึกษาประยุกต์ในสถานการณ์จริง  ดังนั้น การจัดสถานการณ์ให้ผู้เรียนได้แสดงออกซึ่งความรู้ที่ได้เรียนไป จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่ง  ในทางทฤษฎี ผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านการนำไปใช้ มุ่งเน้นไปที่การถ่ายโยงการเรียนรู้และทักษะ (transfer of knowledge and skills) กล่าวคือ ผู้เรียนจะต้องสามารถนำความรู้หรือทักษะภาษาที่มี ไปใช้ในบริบทอื่น ๆ ที่แตกต่างไปจากบริบทเดิม  ตัวอย่างเช่น  เมื่อผู้เรียนเรียนรู้มโนทัศน์เรื่อง ประโยค และเรียนหลักการการเชื่อมประโยคไปแล้ว  ผู้เรียนจะต้องสามารถประพันธ์ประโยคใหม่  ที่กระชับ ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ และสามารถเรียบเรียงประโยคเช่นนั้น ในการเขียนงานรูปแบบต่าง ๆ หรือในรายวิชาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทย เป็นต้น  อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น ในการเรียนการสอนวรรณคดีและวรรณกรรม  หลังจากที่ผู้เรียนได้ศึกษาและสร้างความเข้าใจแนวคิดสำคัญ (theme) ของเรื่องที่อ่านแล้ว  ผู้เรียนก็ควรที่จะได้เขียนเชื่อมโยงว่า แนวคิดที่ปรากฏในวรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้น สามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจ หรือแก้ปัญหาสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตจริง ที่ตนเองประสบพบอย่างไรได้บ้าง  จากที่กล่าวมา  ในการที่ครูภาษาไทยจะออกแบบการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นผลลัพธ์  จึงต้องคำนึงถึงกิจกรรมการเรียนการสอนภาษาไทยที่ส่งเสริมการประยุกต์ความรู้สู่บริบทจริงด้วย  เนื่องจากเป็นเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดเสียไม่ได้


                 แนวคิดเรื่องผลลัพธ์ของการสอนภาษาไทย สามารถนำไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายของหลักสูตรในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่หลักสูตรฉบับเขียน กระทั่งถึงหลักสูตรฉบับนำไปใช้หรือฉบับสอน อันได้แก่ ประมวลการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้รายหน่วย และแผนการจัดการเรียนรู้รายชั่วโมง ซึ่งครูภาษาไทยจำเป็นจะต้องจัดให้หลักสูตรในระดับต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา มุ่งไปสู่ผลลัพธ์เดียวกันอย่างสอดคล้อง 

_____________________________________


หมายเลขบันทึก: 536969เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2013 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท