สิรภัทร
สิรภัทร จิตตะมาลา ลิ่มไพบูลย์

“โครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ” จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาค 4 สานเรื่องราวสู่ผู้บริหารสถาบันการศึกษา)


             วันนี้ 22 พฤษภาคม 2556 สุประสานงานนัดหมายผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและคณะพบกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพื่อขอคำปรึกษาจากท่านในฐานะที่ปรึกษาโครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ และรายงานผลการดำเนินงานรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา ในเวลา 14.00 น. ของวันนี้

             โครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ   เป็นโครงการริเริ่มจากนายอำเภอท่าศาลา(นายถาวรวัฒน์ คงแก้ว) เพื่อให้ผลลัพธ์(Out come) เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จึงมีความพยายามกระชับพื้นที่ทำงานภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชนและภาคองค์กรสาธารณประโยชน์  โครงการนี้มีความสอดคล้องกับจุดยืนทางยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2557-2559 ในการเป็นอุทยานการศึกษาแห่งการสร้างโอกาส โดยผลลัพธ์ของโครงการและผลลัพธ์ของมหาวิทยาลัยเป็นผลลัพธ์เดียวกัน ดังนี้

                      1)เกิดการสร้างเสริมสังคมเข้มแข็ง กล่าวคือทางโครงการได้มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคีต่างๆจนนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์เชิงยุทธศาสตร์ 4 พันธกิจของมหาวิทยาลัย แม้ว่าจุดเริ่มต้นคือ บริการวิชาการและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แต่ได้เกิดพันธกิจการเรียนการสอนและพันธกิจการวิจัยตามมาอย่างกลมกลืน มีการสร้างพันธมิตรที่มีพื้นฐานความคาดหวังในบทบาทของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะความร่วมมือในโครงการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

                       2)เกิดการสร้างเสริมแหล่งพัฒนาความรู้ตามที่มหาวิทยาลัยแสวงหาภาคีการพัฒนาอุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติเพื่อการบ่มเพาะนักศึกษา เนื่องจากทางโครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการได้ร่วมสร้างชุมชนต้นแบบกับทางอำเภอท่าศาลามากกว่า 5 ชุมชน (เป้าหมายมหาวิทยาลัยอยู่ที่ 5 ชุมชน)

                       3)เกิดการสร้างสังคมสุขภาพเนื่องจากทางโครงการฯมีความทุ่มเทในการรณรงค์ให้ประชาชนผลิตและบริโภคสินค้าปลอดพิษ ยึดหลัก “อำเภอท่าศาลาก้าวสู่เมืองอินทรีย์”และรณรงค์ให้ภูมิปัญญาบรรพชนถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

                        4)เกิดการสร้างเสริมความสามารถสากลเนื่องจากทางโครงการฯ มีความพยายามสอดแทรกเนื้อหาเชิงเล่าเรื่องวิถีชีวิตทั้งในมิติเศรษฐกิจ มิติสังคม มิติการศึกษา มิติการท่องเที่ยว มิติสิ่งแวดล้อม ผ่านความเป็นพหุวัฒนธรรม 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษายาวี

              ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีกิจกรรมจากทางมหาวิทยาลัย โดยมีการปรับกิจกรรมตามความเหมาะสม อาทิ

                        1)การถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น  พื้นที่ชุมชนบ้านโมคลาน

                           และพื้นที่ชุมชนชุมชนบ้านในไร่

                        2)การวิจัยและบริการวิชาการแปรรูปกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่(หม้อแกง/แป้งกล้วย)พื้นที่ชุมชนบ้านแขก

                         3)การวิจัยและบริการวิชาการเลี้ยงปลาน้ำจืดในระบบน้ำหมุนเวียน พื้นที่ชุมชนบ้านชลธาราม

                         4)การให้คำปรึกษาเศรษฐกิจเกษตรเชิงสร้างสรรค์ พื้นที่ชุมชนบ้านชลธาราม

                         5)การให้คำปรึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่โครงการฯ

                         6)การวิจัยสมุนไพรพื้นบ้านต้นกะเม็งตัวผู้ พื้นที่ชุมชนในหัน

                         7)การวิจัยสมุนไพรพื้นบ้านต้นสำมลีงา พื้นที่ชุมชนท่าศาลา

                         8)การถ่ายทอดเทคโนโลยีดินเยื่อสำหรับงานหัตถกรรมพื้นบ้าน พื้นที่บ้านมะยิง

                         9)การให้คำปรึกษาการปลูกพืชHydroponics  พื้นที่ชุมชนบ้านในไร่

                       10)การให้คำปรึกษาการเพาะเลี้ยงเนิ้อเยื่อมะละกอฮอแลนด์  พื้นที่ชุมชนประดู่หอม

                       11)การให้คำปรึกษาการพัฒนาเครือข่ายชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดพัทลุง

                       12)การให้คำปรึกษาด้านภาษาอังกฤษ

                      13)การให้คำปรึกษาด้านภาษายาวี

                      14)การให้คำปรึกษาระบบSoftware เพื่อการบริหารจัดการ

                      15)การให้คำปรึกษาและส่งนักศึกษามาทำช่วยสื่อสารโครงการ


              วันนี้จึงเป็นวันสำคัญมากวันหนึ่งที่หน่วยงานภาครัฐ(สถาบันอุดมศึกษา)ระดับนโยบายจะแสดงบทบาทที่ปรึกษาโครงการฯ ในการเพิ่มพูนสานต่อการสร้างสังคมแห่งปัญญาบนแผ่นดินภาคใต้ตอนบนและขยับสู่วงกว้างต่อไป นับเป็นประเด็นท้าทายมากๆในบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการสร้างทุนทางปัญญาแก่สังคม(University Community Engagement) ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติทุนทางปัญญาของพี่น้องไทยตามที่เคยกล่าวใน http://www.gotoknow.org/posts/536349    เพื่อยกระดับขีดความสามารถของคน(ทั้งที่เป็นนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจใฝ่รู้ตลอดชีวิต) และในการยกระดับขีดความสามารถ/คุณภาพสินค้าชุมชน       สุเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยคอยฟังคำตอบว่าจะ “Yes” or “No” ทุกอย่างพร้อมแบกรับแบกสู้ค่ะ 

  


หมายเลขบันทึก: 536716เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 16:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท