ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๑๔. เล่าความหลัง อาคารเย็นศิระ


แนวความคิดให้มีอาคารที่พักผู้ป่วยและญาติบ้านไกล....................................................................................................................


           เย็นวันที่ ๒๔ มี.ค. ๕๖ นั่งรถผ่านอาคารเย็นศิระ (, ) ที่วัดโคกนาว หน้าโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ประกอบกับเมื่อเช้าวันเดียวกัน ท่านคณบดี รศ. นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ แห่งคณะแพทยศาสตร์  ม. สงขลานครินทร์ ถามจุดเริ่มต้นหรือที่มาของอาคารเย็นศิระ  ทำให้รำลึกถึงความหลังที่ภูมิใจ  และคิดว่าเป็นบุญกุศลมาก  เพราะได้ทำประโยชน์แก่ผู้ป่วยผู้ยากไร้ จำนวนมากมาย

          อาคารนี้ริเริ่มขึ้นโดยทีมบริหารคณะแพทยศาสตร์ สมัยที่ผมเป็นคณบดี และกำลังจะเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ตอนต้นปี ๒๕๒๕  ร่วมกับทีมผู้บริหารของสโมสรโรตารีสงขลา  โดยที่สโมสรโรตารีสงขลาต้องการมีส่วนช่วยโรงพยาบาลในการทำคุณประโยชน์แก่สังคม  ผมจึงเสนอให้หาเงินสร้างอาคารที่พักผู้ป่วยและญาติ ที่มารักษาที่ รพ. สงขลานครินทร์ แต่ผู้ป่วยไม่หนัก ไม่จำเป็นต้องรับไว้ในโรงพยาบาล แต่ต้องการที่พักเพื่อรับการรักษาหลายวันติดต่อกัน เช่นฉายแสง หรือให้ยาอย่างอื่น  หรือผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล ญาติไม่มีที่พัก และไม่มีเงินไปค้างโรงแรม ก็ให้พักที่อาคารที่พักได้ 

          โชคดีที่สำนักสงฆ์โคกนาว อยู่ตรงข้ามคนละฟากถนนกาญจนวนิชย์ กับ รพ. สงขลานครินทร์  เราจึงไปขอใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งสร้างอาคารที่พักผู้ป่วยดังกล่าว โดยสโมสรโรตารีสงขลาทำหน้าที่หาเงิน  สร้างอาคารนี้  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว พักได้ ๔๘คน  เป็นฝั่งหญิงชาย ข้างละ ๒๔คน  จำได้ว่าค่าก่อสร้าง ๓ แสนบาท

          อาคารนี้มีผู้มาพักแน่นอย่างรวดเร็ว  ตามประวัติในเว็บไซต์ของอาคารระบุว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดอาคารโรงพยาบาลสงขลานครินทร์  ทรงทราบเรื่องอาคารนี้ จึงพระราชทานเงิน ๓ แสนบาท ให้ขยายอาคาร  และพระราชทานนามว่า “อาคารเย็นศิระ”  ความตอนนี้ผมจำไม่ได้ ความจำของผมแย่มาก 

          ส่วนประวัติที่หลวงพ่อเล่าให้คุณชำนาญ ณ อันดามัน นั้น  ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง  เราไปขอสร้างอาคารที่พักผู้ป่วยและญาติหลังแรกตอนที่วัดยังเป็นสำนักสงฆ์  และยังไม่มีผู้ป่วยมาพักที่สำนักสงฆ์โคกนาว ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส 

          ต่อมามีการรับบริจาคเงินขยายอาคารอีกหลายครั้ง แต่ผมไม่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว  วันนี้นั่งรถผ่านแว่บๆ เห็นอาคารสูงหลายชั้น  มีคนมาพักมากมาย

          แนวความคิดให้มีอาคารที่พักผู้ป่วยและญาติบ้านไกลเช่นนี้ ผมได้แนวความคิดมาจากโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี  ที่ผมเดินทางไปเยี่ยมชมกิจการโครงการร่วมมือผลิตแพทย์เพื่อชนบท ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และที่ รพ. พระปกเกล้ามีคนยากจนมารับการรักษา แล้วญาติไม่มีที่พัก จึงไปขอใช้ศาลาแห่งหนึ่ง ดัดแปลงเป็นที่พักชั่วคราวให้

          ผมคิดว่า รพ. สงขลานครินทร์อยู่ต่างจังหวัด  และเชื่อว่าจะมีคนยากจนจากไกลๆ มารับบริการ และญาติหรือผู้ป่วยไม่มีเงินจ่ายค่าโรงแรม   จำเป็นต้องมีที่พักไว้สงเคราะห์คนเหล่านี้

          เวลาผ่านมา ๓๑ ปี การริเริ่มนี้เป็นประโยชน์ต่อผู้คนมากมาย  และได้เกิดระบบการจัดการอาคารเย็นศิระเปลี่ยนแปลงมาหลายสมัย  ที่ดีมากคือ มีคนมุสลิมมาใช้บริการมากมาย  ให้ผู้คนเห็นว่า ต่างศาสนา ก็พึ่งพาเกื้อกูลกันได้  



วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

ห้องพักรับรอง บี ๒๐๑  อาคารประสานใจ  

คณะแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



หมายเลขบันทึก: 536710เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2013 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บุญกุศลนี้ใหญ่หลวงค่ะอาจารย์ เกือบทุกครั้งเมื่อขับรถเข้าไปในวัดโคกนาวจะเห็นญาติผู้ป่วยจำนวนนับสิบนั่งพักใต้ร่มไม้ใหญ่ที่อยู่หน้าอาคารเย็นศิระกันค่ะอาจารย์ 

ขอบพระคุณมากค่ะท่านอาจารย์

ที่รพ.มะเร็งชลบุรี รพ.มะเร็งในภาคอื่นๆ หรือรพ.ใหญ่ๆของรัฐฯ ยังมีปัญหาเช่นนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง และทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกๆวัน ในทุกๆโรค พวกเราทุกคนได้แต่คิด เห็นใจ แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ..

ขอบพระคุณที่ได้อ่านบทความของท่านอาจารย์ จะเป็นกระบอกเสียงเล็กให้คนไข้ที่ยากไร้ กระจายข่าวและขอความร่วมมือให้มีการช่วยเหลือผู่ป่วยต่อไป ขอกราบขอบพระคุณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท