ยาม้า หรือ ยาบ้า (Amphetamine) และยาในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือ พีโมลีน


ยาม้า หรือ ยาบ้า (Amphetamine) และยาในกลุ่มแอมเฟตามีน หรือ พีโมลีน

18 พฤษภาคม 2556

ลักษณะทางกายภาพ

ยาบ้ามีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตรความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆกัน เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลือง และสีเขียว เป็นต้นมีเครื่องหมายการค้า เป็นสัญลักษณ์หลายแบบ เช่น รูปหัวม้าและอักษร LONDON มีสัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ , ฬ99 , m , M , PG ,WY สัญลักษณ์รูปดาว , รูปพระจันทร์เสี้ยว ,99หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ดซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้านหรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้าน รูปร่างของยาบ้าอาจพบในลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆกลมแบน รูปเหลี่ยมรูปหัวใจ หรือแคปซูล(เป็นผงแคปซูล มักเป็นสีขาว)

ยาบ้าเป็นยากลุ่มแอมเฟทตามีน(Amphetamines)ซึ่งมีหลายตัว เช่น Dextroamphetamine, Methamphetamine เรียกกันแต่เดิมว่า “ยาม้า” ยานี้เคยใช้เป็นยารักษาโรคอยู่บ้างในอดีตสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคผลอยหลับโดยไม่รู้ตัว (Narcolepsy) เด็กที่ไม่ชอบอยู่นิ่งขาดความตั้งใจและสมาธิในการเรียน (Attention Deficit Disorder) และผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักปัจจุบันนิยมนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย

ในอดีตยาม้าชนิดที่แพร่หลายที่สุดเป็นยาที่มีสัญลักษณ์รูปหัวม้าและมีอักษรคำว่า LONDON ประทับอยู่บนเม็ดยาเป็นเครื่องหมายการค้าและก็คงจะเป็นเพราะสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้เอง ที่เป็นต้นกำเนิดของคำว่า “ยาม้า”


ประวัติ

ยาบ้ามีประวัติที่มายาวนานโดยสังเคราะห์ได้กว่าหนึ่งร้อยปีแล้วในสมัยสงครามโลกครั้งที่สองใช้กระตุ้นความกล้าหาญและความ อดทนของทหารทั้งสองฝ่ายโดยประมาณกันว่ามีการใช้ยาบ้ากว่า 72 ล้านเม็ดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหลังสงครามการใช้ยาบ้าจึงเริ่มแพร่ขยายออกไปสู่สังคม สาเหตุที่เคยเรียกว่า ยาม้าสันนิษฐานได้หลายแง่ บ้างว่าคงมาจากการที่เคยนำไปใช้กระตุ้นม้าแข่งให้วิ่งเร็วและอดทน บ้างว่าเนื่องจากทำให้ผู้ใช้ยาคึกคะนอง เหมือนม้า อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนมาเรียกเป็นยาบ้า ก็เพื่อจะเน้นความเป็นพิษของยา ซึ่งเมื่อใช้มากเกินขนาดหรือใช้ติดต่อกันนานๆจะทำ ให้ผู้ใช้ยามีลักษณะเหมือนคนบ้าและเนื่องจากกระบวนการสังเคราะห์สารนี้ไม่ซับซ้อน ปัจจุบันจึงมีการลักลอบสังเคราะห์ กันอยู่ในประเทศไทย
ยาบ้าในประเทศไทยกำเนิดมาจากนางกัลยาณี อร่ามเวชอนันต์ ที่ส่งลูกไปเรียนวิชาเคมีที่ประเทศไต้หวันเพื่อกลับมาผลิตยาบ้ารายแรกของเมืองไทย ปัจจุบันถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำลาดยาว เธอถูกจับพร้อมสามีและลูกชาย 2 คน ที่บ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ซึ่งครอบครัวของเธอเช่าไว้ผลิตยาบ้า เธอถูกจับในเดือนพฤศจิกายน 2530
 [1]

ยาบ้ามีสารประกอบหลักในกลุ่มแอมเฟตามีน (Amphetamine) ซึ่งเป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาในปี ค.ศ.1887 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ เอเดเลียโน (Edeleno) ในรูปของแอมเฟตามีนซัลเฟต(Amphetamine Sulfate) ต่อมาในปี ค.ศ.1888 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้รุนแรงกว่าแอมเฟตามีนและยาบ้าที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ก็มีสารประกอบหลักเป็นเมทแอมเฟตามีนนี้เอง

ปัจจุบัน สารตั้งต้นทำยาบ้ามาจาก ยาแก้ไอ อีเฟดรีน (Ephedrine)ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) สารทั้งสองตัวใช้ทำยาไอซ์และเป็นอนุพันธ์ของ แอมเฟตามีน (Amphetamine) หรือยาบ้า  สารทั้งสองผสมในยาแก้หวัดที่ละลายน้ำได้ (เป็นเกลือของ HCL)

สถานการณ์ยาเสพติด

ยาบ้าเป็นยาเสพติด สารสังเคราะห์มีแอมเฟตามีนเป็นส่วนประกอบ มีชื่อเรียก เช่น ยาขยันยาแก้ง่วง ยาโด๊ป นิยมเสพโดยรับประทานโดยตรงหรือผสมในอาหาร หรือเครื่องดื่มหรือเสพโดยนำยาบ้ามาบดแล้วนำไปลนไฟแล้วสูดดมเป็นไอระเหยเข้าสู่ร่างกายจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2441

ปี 2539 เป็นยุคผลิตยาบ้ามีโรงงานผลิตเฮโรอีน เปลี่ยนการผลิตเป็นยาบ้า โดยมีกลุ่มที่ผลิตอยู่ คือ คือ กลุ่มว้า กลุ่มโกกั้ง กลุ่มขุนส่า และกลุ่มจีนฮ่อการขนส่ง ทางรถยนต์จะมีการขนยาบ้าจากพม่าเข้าสู่ไทย จากทางภาคเหนือ มากับรถขนส่งสินค้า (ผัก) เข้าสู่ตลาดไท จ.ปทุมธานี  ทางอีสาน จากอ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์แต่เดิมเป็นกัญชาอัดแท่ง ต่อมาเปลี่ยนเป็นยาบ้า เพราะกำไรมากกว่า ภาคใต้กลุ่มประมง ภาคใต้ตอนบน เข้าสู่ภาคกลาง และ ภาคใต้ตอนล่าง [2]

ปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะ “ยาม้า” ได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลได้พยายามปราบปรามขบวนการผลิตและค้ายาม้าทุกรูปแบบแต่ปัญหาก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะยาม้าส่วนใหญ่มีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศสหภาพพม่า หรือ “เมียนมาร์” (Mynmar) ในปัจจุบัน  แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน (ไทยใหญ่) ติดพรมแดนมลฑลยูนนานของจีน  ซึ่งเป็นถิ่นฐานที่อยู่ของชาวโกกั้ง (พวกชนเชื้อสายไทยใหญ่ผสมชาวจีนฮ่อ) และชาวว้า (มักเรียกว่า "ว้าแดง" เนื่องจากฝักใฝ่ลัทธิคคอมมิวนิสต์) นอกจากนี้สารเคมีผลิตยาม้ายังมีต้นกำเนิดและแหล่งนำเข้ามาจากมลฑลยูนนานทำให้การปราบปรามและยับยั้งขบวนการยาเสพติดมีความยากลำบากยิ่งขึ้น ต่อมารัฐบาลไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขในสมัยของนายเสนาะ  เทียนทอง [3] ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(ปี 2539) ได้เปลี่ยนชื่อ “ยาม้า” เป็น “ยาบ้า”  เนื่องจากสื่อความหมาย และมีความหมายที่ตรงตามความเป็นจริงเนื่องจากแต่เดิม “ยาม้า”มีแต่สารแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียว  แต่ “ยาบ้า” มิได้เป็นยาเสพติดที่ผสมแต่เฉพาะแอมเฟตามีนเท่านั้นแต่ยังคงผสมสารอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงของการเสพติดมากยิ่งขึ้น เช่น เฮโรอีน (ผงขาว) ยานอนหลับ ยากล่อมประสาทสารคาเฟอีน ฯลฯ เป็นต้น เข้าไปด้วย

แอมเฟตามีน หรือที่บุคคลทั่วไปรู้จักคือ ยาขยัน ยาม้า ยาบ้ายาโด๊ป ยาเพิ่มพลัง ยาแก้ง่วง ยาลดความอ้วน จากสถิติของกรมการแพทย์ปี พ.ศ. 2541 มีผู้เสพยาบ้าเป็นจำนวน 56.98 % สูงเป็นอันดับหนึ่งเป็นยาประเภทกระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้สมองตื่นตัวเสมอเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518

สถานการณ์ยาเสพติดยาบ้าหรือยาม้า (เดิม) ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีแหล่งอาชญากรรมเถื่อน ๆ ทั้งหลาย เช่น การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในภาคเหนือตอนบน การลักลอบขนไม้เถื่อน หรือ สิ่งของผิดกฎหมายทั่วๆ ไป เพราะ บุคคลในขบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้มักจะเสพยาม้า (ยาบ้า) เพื่อให้ทำงานทน ไม่เกรงกลัวการจับกุม หรือ หากมีการจับกุมก็จะกล้าต่อสู้เจ้าหน้าที่ หรือหลบหนีด้วยวิธีการที่รุนแรง ทั้งฝ่ายขบวนการที่ผิดกฎหมายและฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐต้องแลกกันด้วยกฎตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งเป็นปัญหาว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปราบปรามส่วนหนึ่งที่ละเลยต่อหน้าที่ ด้วยการรับสินบน ส่วยรายเดือน เพื่อแลกกับการปล่อยปละละเลย ไม่จับกุมฯ เป็นปัญหาของฝ่ายปราบปรามมาก โดยเฉพาะในพื้นที่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในภาคเหนือตอนบน เช่น ในท้องที่จังหวัดแพร่ ปี พ.ศ. 2535-2537 

ในห้วงเวลาเดียวกันพื้นที่แถบชายแดนก็เช่นกัน การแพร่หลายของยาม้าหรือยาบ้า ยากที่จะห้ามปราม หรือปราบปรามให้สิ้นซาก เพราะราคาถูก เป็นที่นิยมของบรรดาวัยรุ่นทั่วไป เพราะหาง่าย ราคาถูก ซึ่งสร้างความร่ำรวยให้แก่ผู้ค้า เนื่องจากซื้อมาถูก แต่จำหน่ายแพง สถานการณ์นี้ดำเนินการมาหลายปี จนรัฐบาลได้ "ประกาศสงครามกับยาเสพติดในปี 2546" และ มีการใช้กฎเหล็กในการปราบปรามผู้ค้า โดยวิธีการเถื่อนๆ ผิดกฎหมาย มีผู้เสียชีวิตภายในปีเดียวจากสงครามยาเสพติดสองพันกว่าราย เรียกการ “ฆ่าตัดตอน” ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีจำนวนคดีเกี่ยวกับยาพุ่งสูงขึ้นนับแสนคดีต่อปี มีผู้ต้องหาจำนวนมากถูกลงโทษอย่างรุนแรง จนองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าประเทศไทยละเมิดสิทธิมนุษยชน จนในที่สุดปัญหารุนแรงยาเสพติดของประเทศไทยก็กลับสู่สถานการณ์ปกติ แต่ก็ยังคงมีการลักลอบค้ายาเสพติดอยู่

สารประเภทนี้แพร่ระบาดอยู่ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ

1. แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate)

2. เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) เป็นผลึกใส เรียก “Ice”

3. เมทแอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์ (Methamphetamine Hydrochloride) ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ยาบ้าปัจจุบันที่พบอยู่ในประเทศไทยมักพบว่าเกือบทั้งหมดมีเมทแอมเฟตามีน ไฮโดรคลอไรด์ผสมอยู่

ในระยะหลังผู้ลักลอบผลิตหันมาใช้สารที่มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทชนิดอื่นแทนเช่น ใช้สารคาเฟอีน หรือ ธีโอฟิลลิน รวมทั้งใช้สารแอมเฟตามีนผสมกับคาเฟอีนออกมาจำหน่าย และนอกจากนี้อาจมีสารอื่นผสมด้วย เช่น ผงขาว เป็นต้นทำให้ตัวยามีความรุนแรงและอันตรายมากยิ่งขึ้น

วิธีการเสพ

เสพได้หลายวิธี เช่น โดยการกิน หรือผสมอาหาร เครื่องดื่มครั้งละ ¼ ,1/2 หรือ 1 – 2 เม็ดหรือบางครั้งอาจใช้วิธีฉีดเข้าเส้น (แต่ไม่นิยม) วิธีที่นิยมมากที่สุดได้แก่วิธีสูบโดยใช้หลอดสูบเอาควันที่ได้จากการเผาไหม้เม็ดยาเข้าทางปากซึ่งเป็นวิธีที่มีอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่งเพราะตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อร่างกายอย่างรุนแรงและรวดเร็วกว่าวิธีการแบบอื่น

“ดองหรือยาดองหรือเทอร์โบ” หมายถึงการนำยาบ้ามาผสมกับเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อให้ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้นขณะเดียวกันก็เป็นการอำพรางเจ้าหน้าที่ในการขายด้วยซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่ามีการขายบริเวณปั๊มน้ำมัน หรือสถานีขนส่ง


อาการผู้เสพ

พีโมลีนเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการอ่อนเพลียภาวะเศร้าซึม และรักษาภาวะซนผิดปกติในเด็ก ผลข้างเคียงของพีโมลีน  ทำให้นอนไม่หลับเบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง ปวดศีรษะ เซื่องซึม การได้รับในปริมาณสูง ทำให้เกิดอาการทางประสาท หัวใจเต้นเร็ว

ทั้งแอมเฟตามีนและพีโมลีนล้วนกระตุ้นประสาทส่วนกลางทำให้เกิดประสาทหลอนถ้ากินร่วมกับเครื่องดื่มให้กำลังงานที่มีคาเฟอีนผสมอยู่ ยิ่งเป็นการเสริมฤทธิ์ของยาเหล่านี้ทำให้เกิดอาการทางประสาทเร็วขึ้น

แอมเฟตามีนเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายปริมาณ 10 – 30 มก.ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลาทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อนตามปกติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่นประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติประสาทล้าทำให้ตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานฤทธิ์ยาจะทำให้สมองเสื่อม ร่างกายอ่อนเพลียเกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้าหรือเป็นโรคจิตได้ง่าย อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก (Overdose) คือปริมาณตั้งแต่ 30 มก. ซึ่งจะทำให้เกิดอาการรุนแรงฤทธิ์ยาจะไปกดประสาท และระบบการหายใจ ทำให้หมดสติ และถึงแก่ความตายได้

ยาม้านิยมใช้กันมากอย่างแพร่หลายในหมู่คนขับรถบรรทุกเนื่องจากยาม้าทำให้สมองตื่นตัว ไม่ง่วงนอนสามารถขับรถได้ระยะทางไกล ๆในเวลากลางคืน เพราะเมื่อผู้ขับรถกินยาม้าจะทำให้เกิดการคึกคะนองมีจิตใจสับสนประสาทหลอนเหมือนคนครึ่งหลับครึ่งตื่นการตัดสินใจผิดพลาดเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้นับว่าเป็นการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ทั้งร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน

ยาเสพติดที่คล้ายยาบ้าอีกอย่างก็คือ “ยาลดความอ้วน” (Amfepramone) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท

ประเภทที่2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 เช่นเดียวกับยาบ้า

โทษทางกฎหมาย

ข้อหา

บทลงโทษ

ผลิต นำเข้า หรือส่งออก

ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หากเป็นการกระทำเพื่อ

จำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต ( กรณีคำนวณเป็น สารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ 20 กรัม ขึ้นไป ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อ จำหน่าย)

จำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิตและ

ปรับตั้งแต่ 5 หมื่นบาทถึง 5 แสนบาท หากมีสารบริสุทธิ์ ไม่เกิน 100 กรัมแต่ถ้าเกิน 100 กรัม ต้องระวางโทษจำคุก ตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต

ครอบครอง

คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม ต้องระวางโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปีและปรับ 1 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท (คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 20 กรัมขึ้นไปถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่าย)

เสพ

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับ

ตั้งแต่ 5 พันบาท ถึง 1 แสนบาท แต่ปัจจุบันนี้ ผู้เสพจะได้รับการบำบัดจาก โรงพยาบาลธัญญารักษ์ เป็นเวลา 3 เดือน

ใช้อุบาย หลอกลวง ขู่เข็ญใช้กำลังประทุษร้ายฯให้ผู้อื่นเสพ

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 2 แสนบาท และถ้าเป็นการกระทำต่อหญิงหรือบุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องระวางโทษประหารชีวิต ถ้ากระทำโดยมีอาวุธหรือร่วมกัน 2 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุก 4 ปี ถึง 30 ปี และปรับตั้งแต่ 4 หมื่นบาทถึง 3 แสนบาท

ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นเสพ

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 1 หมื่นบาท ถึง 5 หมื่นบาท

บทกำหนดโทษตามกฎหมาย หากมียาบ้าไว้ในครอบครองเกินกว่า 0.5 กรัมไม่ว่าจะมีไว้เพื่อการใดก็ตาม จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 - 20 ปี และ ปรับตั้งแต่ 1 - 4 แสนบาท


อ้างอิง

ยาบ้า, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, https://th.wikipedia.org/wiki/ยาบ้า

เสนาะ เทียนทอง, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, http://th.wikipedia.org/wiki/เสนาะ_เทียนทอง

หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน 27 ธันวาคม 2544 , 14 มกราคม 2545 , 5 เมษายน 2545 , 19 เมษายน 2545 , 9 พฤศจิกายน 2545 , 27 สิงหาคม 2546

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน 4 มกราคม 2545 , 11 เมษายน 2545 , 19 เมษายน 2545 , 11 พฤศจิกายน 2545 , 28 สิงหาคม 2546 , 2 กันยายน 2546

รายงานผลการพิจารณาสอบสวนและรับฟังความคิดเห็นประชาชน เรื่องปัญหาและผลกระทบของการดำเนินตามนโยบายประกาศสงครามขั้นแตกหักเพื่อเอาชนะยาเสพติด, โดย คณะกรรมาธิการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา, 2546, https://www.senate.go.th/document/Ext2174/2174477_0002.PDF


[1]https://th.wikipedia.org/wiki/ยาบ้า


[2]รายการตามล่าหาความจริง,ทีวีช่อง 7


[3]http://th.wikipedia.org/wiki/เสนาะ_เทียนทอง

หมายเลขบันทึก: 536350เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2020 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จริงๆแล้วมันมีวิธีแก้...แต่ด้วยมันเป็นทั้งคุณทั้งโทษ..มันก็เลยยังแพร่ระบาดในสังคมไทย..ไอ้คนผลิตมันค่อยเสพหรอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท