ตอนเช้านั่งดูรายการทีวีรายการ หนึ่ง ทางช่องไทยพีบีเอส เป็นเรื่อง การจัดงาน "ปล่อยหนังสือ" เป็นเรื่องที่น่าสนใจ ดูรายการจนจบ และไปค้นข้อมูล รายละเอียดต่อ ได้มาดังนี้ :
โครงการเล็กๆ ของคนรักหนังสือนี้มีมาแล้ว 3 ครั้ง และจัดครั้งที่ 4 ในวันนี้ อย่างไร้ทุนจากภาครัฐ ไร้การโปรโมตแบบโหมกระหน่ำ ทว่ากลายเป็นงานที่คนรักหนังสือรอคอย
รอคอยที่จะนำหนังสือของตัวมาพบกับเจ้าของใหม่ และนำหนังสือของคนอื่นไปเป็นหนังสือเล่มใหม่ในบ้าน ตามคอนเซ็ปต์ของโครงการที่ว่า "หนังสือเก่าของท่าน คือหนังสือใหม่ของเรา" "วงจรหนังสือมันพิการ หนังสือเล่มหนึ่งค่าแรงขั้นต่ำไม่พอซื้อ คนซื้อก็น่าสงสาร คนทำคนขายก็มีแต่จะขาดทุน จึงต้องตัดวงจรด้วยการปล่อย หรือความหมายจริงๆ คือการให้ เพราะทั้งผู้ให้ผู้รับมีความสุข ส่วนคนทั่วไปก็สามารถเอาหนังสือที่อ่านแล้วมาทำบุญได้" "พลพิศิษฎ์ คงธนญาณ" เจ้าของร้านหนังสือ "จุดประกาย" และตัวแทนจากเครือข่ายเพื่อนหนังสือ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของคนรักหนังสือ ทั้งคนทำสำนักพิมพ์ นักอ่าน นักเขียน คนขายหนังสือ อธิบายถึงจุดเริ่มต้น "พวกเรามองเห็นปัญหาที่คนไม่อ่านหนังสือ หนังสือราคาแพง ห้องสมุดตอบสนองสังคมไม่ได้ เพราะระบบยืมคืนยุ่งยาก ทั้งเวลาปิด-เปิดก็ไม่ตอบสนองสังคมที่เร่งรีบ ก็คุยกันว่าในต่างประเทศ เขาแก้ปัญหาด้วยการปล่อยหนังสือ อย่างที่จีน ที่ยุโรป เราเลยทำบ้างดีกว่า ซึ่งเรารับหนังสือทุกประเภทนะครับ ขอแค่ไม่ใช่หนังสือโป๊ก็พอ" จากจำนวนผู้ปล่อยครั้งแรก 37 ราย กับหนังสือ 1,200 เล่ม ผู้ร่วมงาน 200 คน งานปล่อยครั้งที่ 3 มีผู้ร่วมปล่อยถึง 85 ราย และหนังสือมากกว่า 5,000 เล่ม ขณะผู้ร่วมงานก็เกินกว่า 500 คน ที่รวมตัวอยู่ที่ชั้น 4 หอศิลป์ช่วงบ่ายวันอาทิตย์ ระหว่างบ่ายสองถึงห้าโมงเย็น ภาพที่ปรากฏต่อสายตาคือการพูดคุยถึงหนังสือเล่มนั้น เล่มโน้น มือที่ค่อยๆ เปิดหนังสืออ่านทีละหน้า พร้อมชี้ให้คนแปลกหน้าที่ยืนอยู่ข้างๆ ดูหนังสือที่ตัวเองหยิบมาจากตู้หนังสือเพื่อร่วมปล่อย เป็นภาพที่สัมผัสได้ถึงความสุข ความสบายใจของคนรักหนังสือ "การปล่อยหนังสือคือการให้ไปเลย แต่จะรณรงค์ให้ผู้อ่านได้รู้สึกมีส่วนร่วม โดยนำหนังสือที่อ่านแล้วมาร่วมบริจาค ปล่อยให้ผู้อื่นต่อไป รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกให้ไม่ครอบครอง จึงเป็นการให้แบบไม่มีเงื่อนไข เพราะเราอยากให้หนังสืออยู่ในมือคนอ่านจริงๆ เพราะงั้นชอบเล่มไหน เอากลับบ้านได้เลย" พลพิศิษฎ์มองสิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการปล่อยหนังสือนี้ เป็นกระจกสะท้อนอย่างดีถึงคำพูดที่ว่า คนไทยไม่อ่านหนังสือนั้น ไม่เป็นความจริง "ต้องพูดว่า คนไทยขาดโอกาสในการอ่านมากกว่า เขาไม่เคยพบหนังสือดีๆ ไม่มีโอกาสอ่านเพราะหนังสือแพง เหมือนเวลาบอกว่า เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ เด็กไทยก็เหมือนทั่วโลกนั่นล่ะ หนังสือมีแรงจูงใจน้อยกว่าไอโฟน การกระตุ้นการอ่านที่ไม่หลากหลาย ไม่มีวิธีแปลกๆ ดีๆ อย่าไปโทษเด็กเลย ผลิตผลอย่างเด็กที่ไม่อ่านหนังสือมาจากผู้ใหญ่สร้างไว้ไม่ใช่เหรอครับ ค่อยๆ เปลี่ยนปรับกันดีกว่า" ทั้งนี้ งานปล่อยหนังสือไม่ได้เป็นเพียงการเอาหนังสือมาแลกกัน หรือเลือกหยิบเล่มที่อยากอ่านกลับบ้านเท่านั้น ทว่า มีกิจกรรมที่ทางเครือข่ายเพื่อนหนังสือชวนเพื่อนๆ มาร่วมทำด้วย อาทิ อ่านบทกวี เสวนา การแสดง ละครใบ้ หุ่นกระบอก ศิลปะการแสดงสด เพื่อสร้างสีสันและเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้ให้สนุกกว่าเดิม ดังนั้น ในวันนี้จึงจะได้พบกับเสียงดนตรีจาก "ติ๊ก ชิโร่, วง ที ลอซู, วงกำแพง" บทกวีจากนักเขียนดาวรุ่ง "อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ" และโชว์หุ่นกระบอกจาก "มานพ นิลงาม" ท่ามกลางหนังสือกองโต "ตอนนี้ที่คุยกันไว้คือจะทำปล่อยหนังสือสัญจร คือเรามี facebook เครือข่ายเพื่อนหนังสือ ใครขนหนังสือมาปล่อยไม่ไหว บอกใน facebook ได้เลย มีแผนกขนส่งให้ โดยตั้งใจว่าในหนึ่งเดือนเราจะทำให้มีสัปดาห์แห่งการอวด สัปดาห์แห่งการแลก สัปดาห์แห่งการปล่อย สัปดาห์แห่งการยืมกัน" "ค่อยๆ ทำไปครับ เพราะเราเป็นกองทัพมด" "กองทัพมดที่พยายามสร้าง "การให้แบบไม่รู้จบ" ต่อสังคมไทย" ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1348373922&grpid=03&catid=03
|